The Prachakorn

การสร้างวัฒนธรรมองค์กรในสไตล์ Game of Thrones


นนทวัชร์ แสงลออ

02 กุมภาพันธ์ 2566
1,346



วัฒนธรรมองค์กรเป็นผลมาจากการแสดงออกของพนักงานในองค์กร บ่อยครั้งจำเป็นต้องดำเนินการผ่านการระดมความคิดเห็นของสมาชิกในองค์กรเพื่อให้ได้ค่านิยมร่วม แต่อาจหยิบยืมข้อคิดจากสิ่งรอบตัว เช่น ภาพยนตร์หรือบทประพันธ์มาใช้ได้

วัฒนธรรมองค์กร (organization culture) เป็นความเชื่อหรือรากฐานทางปรัชญาเพื่อกำหนดทิศทางขององค์กร เป็นเครื่องกระตุ้น โน้มน้าวให้บุคลากรเกิดความกระตือรือร้นในการปฏิบัติงาน ตลอดจนสะท้อนให้เห็นถึงบุคลิกภาพและเป้าหมายขององค์กร นำไปสู่การกำหนดบรรทัดฐานทางสังคมนั้น ๆ มีส่วนเกี่ยวข้องกับค่านิยมขององค์กร (core value) หรือการสร้างค่านิยมร่วม (shared value) ซึ่งเป็นสิ่งที่สมาชิกในองค์กรหรือสังคมใดสังคมหนึ่งกำหนดขึ้นเพื่อให้สมาชิกในสังคมนั้นยึดถือจนกลายเป็นรากฐานของวิธีคิด การทำงาน การบริหารงาน ตลอดจนระบบบริหารงานของสมาชิกภายในองค์กรหรือกลุ่มองค์กรนั้น เมื่อค่านิยมและความเชื่อได้ถูกยอมรับทั่วทั้งองค์กรและบุคลากรยินดีกระทำตามค่านิยมนั้น องค์กรก็จะมีวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง เกิดความร่วมมือและเกิดพลังขององค์กร1,2

รูป : หนังสือชุด A Song of Ice and Fire
ที่มา : ผู้เขียน

แนวทางการสร้างวัฒนธรรมองค์กร (organization culture)

วัฒนธรรมองค์กร หมายถึง ความรู้ ความคิด ความเชื่อ ข้อสมมติพื้นฐาน (basic assumption) และค่านิยมที่มีอยู่ร่วมกันภายในจิตใจของคนจำนวนหนึ่งหรือส่วนใหญ่ขององค์กร ซึ่งคนกลุ่มดังกล่าวใช้ระบบความรู้ ความคิดนี้เป็นแนวทางในการคิด ตัดสินใจ และทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมภายในองค์กร ดังนั้น วัฒนธรรมองค์กรจึงเป็นส่วนหนึ่งของคุณค่าร่วม ซึ่งคุณค่าร่วมจะเป็นสิ่งที่ควบคุมการแสดงออกของสมาชิกในสังคม2

การสร้างวัฒนธรรมองค์กร จำเป็นต้องมีการวางแผนในการพัฒนาให้เกิดขึ้น โดยมีวิธีการสร้างวัฒนธรรมองค์กรได้3 ดังนี้

  1. การสร้างการรับรู้ถึงความสำเร็จของพนักงาน ผ่านการตระหนักรู้ถึงการมีตัวตนของพนักงาน ถ้าหากรับรู้ถึงความสำเร็จในการทำงานของพนักงานแต่ละคนนั้น ๆ ก็จะยิ่งส่งผลดีในวงกว้าง ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ สร้างความกระตือรือร้น และกระตุ้นให้พนักงานพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ
  2. การรับฟังเสียงทุกคนในองค์กรอย่างแท้จริง โดยสามารถรับฟังในรูปแบบการสอบถาม แบบสอบถาม การสังเกต หรือวิธีการอื่น ๆ ที่สะท้อนความคิดเห็นได้อย่างแท้จริงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
  3. ผู้นำต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับสมาชิก การสร้างวัฒนธรรมองค์กรจำเป็นต้องมี role model ส่วนใหญ่มักเป็นผู้บริหารหรือหัวหน้าทีม จึงมีส่วนสำคัญในการเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกทีม
  4. ดำเนินการตามค่านิยมขององค์กร แม้วิสัยทัศน์ (vision statement) ที่เป็นตัวกำหนดพันธกิจ (mission statement) จะเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดภารกิจให้พนักงาน แต่ค่านิยมขององค์กร (core value) ซึ่งเป็นสิ่งที่ปฏิบัติต่อ ๆ กันมาของพนักงานในองค์กร สามารถสร้างค่านิยมร่วมขึ้นมาใหม่ได้ในภายหลังเมื่อมีการทบทวนวิสัยทัศน์และปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ขององค์กร
  5. สร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกต่างทีมอย่างทั่วถึง พยายามสร้างความสัมพันธ์ให้กับพนักงานระหว่างทีมหรือระหว่างแผนก เพื่อสร้างความสนิทสนมรู้ใจกันให้มากขึ้น อันจะเสริมสร้างให้แต่ละฝ่ายทำงานร่วมกันได้อย่างสะดวกใจขึ้น ส่งผลต่อประสิทธิภาพในท้ายที่สุด
  6. เน้นการเรียนรู้และการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ในองค์กรส่งผลต่อประสิทธิภาพขององค์กร เนื่องจากพนักงานจะต้องให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง
  7. ให้ทุกคนในองค์กรแสดงออกวัฒนธรรมจนเป็นนิสัย องค์กรจำเป็นต้องสร้างความตระหนักรู้ถึงวัฒนธรรมที่อยากสร้างให้พนักงานรับรู้อยู่เสมอผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อตอกย้ำให้พนักงานรักษาวัฒนธรรมนั้น
  8. ปรับวัฒนธรรมแต่งให้เข้ากับประสบการณ์แต่ละคน เนื่องจากความต้องการของแต่ละคนไม่เหมือนกัน การยืดหยุ่นจึงเป็นทางออกที่ดีกว่าการบังคับ การสำรวจพนักงานอยู่เสมอ นับเป็นความเอาใจใส่ที่จะจูงใจให้เขาปฏิบัติตามวัฒนธรรม

อย่างไรก็ตาม การสร้างวัฒนธรรมองค์กร จำเป็นต้องสร้างการมีส่วนร่วมของสมาชิกในองค์กรเพื่อกำหนดค่านิยมร่วม (shared value) ที่สะท้อนความเชื่อที่คล้ายคลึงกัน สามารถคำนึงถึงได้เสมอในขณะที่ต้องตัดสินใจหรือกระทำการบางอย่างที่จะส่งผลต่อองค์กรหรือสังคมที่เป็นสมาชิกอยู่ต่อไป

ที่มาและตระกูลสำคัญของซีรีย์ Game of Thrones

Game of Thrones หรือมหาศึกชิงบัลลังก์ เป็นซีรีย์ที่ดัดแปลงมาจากมหากาพย์นวนิยายแฟนตาซีชื่อ A Song of Ice and Fire ประพันธ์โดย George R.R. Martin มีจำนวนซีรีย์ทั้งหมด 73 ตอน ออกอากาศระหว่างค.ศ. 2011 – 2019 ผู้ประพันธ์ได้รับแรงบันดาลใจมาจากประวัติศาสตร์อังกฤษในช่วงสงครามดอกกุหลาบ (war of the roses) ซึ่งเป็นการแย่งชิงราชบัลลังก์ระหว่างราชวงศ์แลงคาสเตอร์ (House of Lancaster) กับราชวงศ์ยอร์ก (House of York) ระหว่างค.ศ. 1455-1485 ในระหว่างออกอากาศเคยเป็นซีรีย์ที่ได้รับความนิยมสูงเป็นอันดับ 1 จาก The Internet Movie Database (IMDb) ซึ่งเป็นเว็บไซต์ฐานข้อมูลเกี่ยวกับภาพยนตร์ทั่วโลก บางตอนสามารถทำคะแนนได้สูงถึง 9.9 คะแนนจาก 10 คะแนน สร้างปรากฏการณ์ต่าง ๆ มากมายทั้งรางวัล Primetime Emmy สร้างนักแสดงหน้าใหม่ การตั้งชื่อทารกเกิดใหม่ตามชื่อตัวละคร ตลอดจนการร่วมมือกันระหว่างองค์กรธุรกิจ (collaboration) ที่ผลิตสินค้าต่างชนิดกัน5

แนวคิดหลักของเรื่อง คือ การแย่งชิงบัลลังก์เพื่อเป็นผู้ปกครองสูงสุดในอาณาจักรต่าง ๆ ของทวีปเวสเทอรอส (Westeros) มีตระกูลต่าง ๆ ที่วางแผนเพื่อสะสมกำลัง ทรัพยากร ผ่านการโจมตี ยึดครอง หักหลัง สร้างเรื่องเท็จ ฆ่ากรรม และสร้างพันธมิตรผ่านทางการเมืองและการทหาร โดยมีตระกูลใหญ่ที่เป็นผู้เล่นเกมชิงบัลลังก์หลัก 9 ตระกูลคือ ทาร์แกเรียน (House of Targaryen) บาร์ราเธียน (House of Baratheon) สตาร์ค (House of Stark) แลนนิสเตอร์ (House of Lannister) ทัลลี (House of Tully) แอร์รีน (House of Arryn) ไทเรล (House of Tyrell) มาร์แทล (House of Martell) และเกรย์จอย (House of Greyjoy)

ตระกูลต่าง ๆ ใน Game of Thornes สร้างวัฒนธรรมองค์กรอย่างไร?

จากการสร้างวัฒนธรรมองค์กรหรือค่านิยมร่วมขององค์กรที่นิยมสร้างจากคำศัพท์หรือประโยคที่สะท้อนความเชื่อร่วมกันของสมาชิกภายในองค์กรหรือสังคมหนึ่งข้างต้น นิยมกำหนดจากคำศัพท์ภาษาอังกฤษเป็นคำ ๆ ที่อาจมีการเรียงร้อยเชื่อมโยงกัน George R.R. Martin ได้เขียนบทประพันธ์ให้แต่ละตระกูลมีกระบวนการในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรผ่านคำขวัญของแต่ละตระกูล โดยสร้างเงื่อนไขให้แต่ละตระกูลมีการยึดถือค่านิยมร่วมดังกล่าวจนนำไปสู่วัฒนธรรมองค์กรอย่างแข็งขัน ตลอดจนมีการสอนสมาชิกในตระกูลให้รู้จักและเรียนรู้วัฒนธรรมองค์กรของตระกูลอื่นผ่านคำขวัญของแต่ละตระกูลด้วย ทำให้พฤติกรรมและวิธีคิดหลัก ๆ ของตัวละครแต่ละตระกูลมีทิศทางสอดคล้องกับคำขวัญดังกล่าว ขอยกตัวอย่างคำขวัญและพฤติกรรมหรือวิธีคิดที่เด่นชัดของตระกูลใหญ่ ๆ ข้างต้น ดังนี้

  • ตระกูลทาร์แกเรียน คำขวัญ fire and blood หรือไฟและโลหิต สัญลักษณ์มังกรแดงสามหัวบนพื้นสีดำ ด้วยเป็นตระกูลแรกที่เข้ายึดครองอาณาจักร ประกอบกับมีความสามารถในการควบคุมอาวุธสังหารที่ยากต่อการต้านทาน คือ มังกร การเติบโตของตระกูลจึงมาจากไฟของมังกร และเลือดของเหยื่อ พฤติกรรมหรือวิธีคิดของคนในตระกูลส่วนใหญ่จะหยิ่งทะนงตน แข็งกร้าว พร้อมท้าตีท้าต่อยอยู่เสมอ
  • ตระกูลบาร์ราเธียน คำขวัญ ours is the fury หรือเราคือความเดือดดาล สัญลักษณ์กวางสวมมงกุฎ ด้วยตระกูลตั้งรกรากอยู่บริเวณปากอ่าว ทำให้มีลมพายุรุนแรงอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้สมาชิกในตระกูลส่วนใหญ่มีพฤติกรรมหรือวิธีคิดที่ดื้อรั้น หุนหันพลันแล่น ขาดความรอบคอบ แต่มีความเป็นผู้นำสูง
  • ตระกูลสตาร์ค คำขวัญ winter is coming หรือฤดูหนาวกำลังมา สัญลักษณ์หมาป่าสีเทา แต่ในความหมายดังกล่าว แท้จริงแฝงด้วยแนวคิดที่ว่า จงเตรียมพร้อมเถอะ ด้วยตระกูลตั้งรกรากอยู่ทางเหนือของทวีป มีอากาศหนาวเย็น ผลผลิตทางการเกษตรไม่ดีนัก ประชาชนต้องเก็บเสบียงไว้เพื่อรอคอยช่วงฤดูหนาว ไม่ค่อยสนใจเรื่องราวทางการเมืองมากนัก มุ่งเน้นการเอาตัวรอดเป็นหลัก ทำให้สมาชิกของตระกูลส่วนใหญ่มีลักษณะตรงไปตรงมา มุ่งมั่น ไม่ทันคน ยึดถือสัจจะ
  • ตระกูลแลนนิสเตอร์ คำขวัญ hear me roar หรือจงฟังฉันคำราม สัญลักษณ์สิงโตสีทองบนพื้นแดง (หรือสิงโตแดง) ตระกูลนี้เป็นตระกูลที่มั่งคั่งจนมีฉายาว่า Lannister always pays his debts สมาชิกส่วนใหญ่ของตระกูลนี้จะเย่อหยิ่ง รสนิยมสูง เฉลียวฉลาด เจ้าเล่ห์
  • ตระกูลทัลลี คำขวัญ Family, Duty, Honor หรือครอบครัว หน้าที่ เกียรติยศ สัญลักษณ์ปลาเทราต์สีเงินกระโจน ตระกูลนี้ได้ชื่อว่าดินแดนลุ่มน้ำ มีความอุดมสมบูรณ์ ทำให้มีความมั่นคงทางอาหาร พฤติกรรมหรือวิธีคิดของสมาชิกในตระกูลส่วนใหญ่จะถือเกียรติ รักศักดิ์ศรี พยายามไม่ให้ตระกูลมีมลทินมัวหมอง ให้ความสำคัญกับครอบครัวเป็นหลัก
  • ตระกูลแอร์รีน คำขวัญ as high as honor หรือสูงดั่งเกียรติยศ สัญลักษณ์เหยี่ยวฟ้าบินอยู่กับดวงจันทร์สีขาวบนท้องฟ้าสีฟ้า ตระกูลนี้มีที่ตั้งรายล้อมด้วยภูเขาสูง จึงนำลักษณะของภูมิประเทศมาใช้เป็นคำขวัญ สมาชิกส่วนใหญ่ของตระกูลนี้มีพฤติกรรมหรือวิธีคิดเด่นคือความหยิ่งทะนง
  • ตระกูลไทเรล คำขวัญ growing strong หรือเติบโตอย่างเข้มแข็ง สัญลักษณ์ดอกไม้สีทอง บนพื้นเขียว ตระกูลนี้มีที่ตั้งอยู่บริเวณที่ราบตอนใต้ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มั่งคั่ง และอยู่ไม่ไกลจากเมืองหลวงมากนัก ทำให้สมาชิกส่วนใหญ่ของตระกูลนี้มีความฉลาดจากการถ่ายทอดส่งต่อประสบการณ์จากรุ่นสู่รุ่น เจ้าเล่ห์ แต่คำนึงถึงประชาชนเป็นส่วนใหญ่
  • ตระกูลมาร์แทล คำขวัญ unbowed, unbent, unbroken หรือมิศิโรราบ มิอ่อนข้อ มิอาจทำลาย สัญลักษณ์หอกแทงทะลุพระอาทิตย์ ตระกูลนี้ตั้งรกรากอยู่ใต้สุดของทวีป พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย สมาชิกส่วนใหญ่ของตระกูลมีพฤติกรรมหรือวิธีคิดที่มุ่งมั่น เด็ดขาด เอาจริงเอาจัง
  • ตระกูลเกรย์จอย คำขวัญ we do not sow หรือพวกเราไม่หว่านเมล็ด ด้วยที่ตั้งของตระกูลอยู่บนเกาะกลางทะเล การเพาะปลูกพืชไม่ดีมากนัก เน้นการปล้มสะดมแย่งชิงผลผลิตเป็นหลัก สัญลักษณ์คราเคนสีทองบนพื้นดำตระกูลนี้เป็นชาวหมู่เกาะ สมาชิกส่วนใหญ่มีลักษณะเหมือนโจรสลัด ไม่ยึดถือคำพูด เน้นการฉกฉวยปล้นสะดม

ถึงแม้ว่า เงื่อนไขของบทประพันธ์จะปูพื้นให้ตัวละครแต่ละตัวซึมซับค่านิยมร่วมของแต่ละครอบครัว แต่หากมีการแต่งงานก็จะรับค่านิยมร่วมของครอบครัวฝ่ายชายไปบ้าง ตลอดจนการชิงไหวชิงพริบในการชิงบัลลังก์ที่บีบคั้นตระกูลต่าง ๆ จนถึงระดับชาวบ้านทั่วไปอย่างรุนแรง ทำให้ตัวละครบางตัวมีพฤติกรรมหรือวิธีคิดต่างจากเดิมหรือแปลกแยกจากสมาชิกในครอบครัวเดิมไปบ้างตามบริบทที่เปลี่ยนไป

ดังนั้น แม้จะกลั่นกรองค่านิยมร่วมเป็นอย่างดีแล้ว สมาชิกในองค์กรก็อาจแสดงออกยังไม่เป็นไปตามวัฒนธรรมองค์กรที่พึงประสงค์มากนัก แต่เมื่อใดก็ตามที่วิสัยทัศน์ขององค์กรหรือกลุ่มสังคมเปลี่ยนไป อาจจำเป็นต้องทบทวนค่านิยมร่วมให้สอดคล้องกับบริบทเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่พึงประสงค์ใหม่ต่อไปด้วย                                          


อ้างอิง

  1. อำนาจ วัดจินดา. (2560). ประเมินองค์การด้วย McKinsey 7s. สืบค้นเมื่อ 19 มกราคม 2566, เข้าถึงได้จาก https://www.hrcenter.co.th/file/columns/hr_f_20170512_102402.pdf
  2. ระพีพร ศรีจำปา. (ม.ป.ป.). การสร้างค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กรเพื่อการบริหาร. สืบค้นเมื่อ 19 มกราคม 2566, เข้าถึงได้จาก https://www.excise.go.th/cs/groups/public/documents/document/dwnt/mjg3/~edisp/uatucm287070.pdf
  3. วิทยาธร ก่อแก้ว. (2565). การสร้างวัฒนธรรมองค์กร. สืบค้นเมื่อ 19 มกราคม 2566, เข้าถึงได้จาก https://commarts.stou.ac.th/wp-content/uploads/2022/04/การสร้างวัฒนธรรมองค์กร.pdf
  4. พิพัฒน์ ยอดพฤติการ. (2562). การตราคุณค่าร่วม (shared value proposition) ด้วยเครื่องมือ SVOI. สืบค้นเมื่อ 19 มกราคม 2566, เข้าถึงได้จาก https://mbamagazine.net/index.php/intelligent/esg-chapter/item/163-shared-value-proposition-svoi
  5. IMDb. (2023). Game of Thrones. Retrieved January 2023, 20, from https://www.imdb.com/title/tt0944947/
  6. ร้านหนังสือเปเปอร์ ยาร์ด. (2560). 12 ตระกูลที่ควรรู้จักใน Game of Thrones. สืบค้นเมื่อ 19 มกราคม 2566, เข้าถึงได้จาก https://www.paperyard.co/single-post/12-house-must-know-in-games-of-throne

ที่มาภาพปก จาก https://www.gamblingsites.org/blog/game-of-thrones-betting-updated-odds-iron-throne/ สืบค้น 1 กุมภาพันธ์ 2566

 

 

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th