The Prachakorn

Too much a long life: สังคมในวันที่ประชากรมีอายุเกือบไม่สิ้นสุด


สุพัตรา ฌานประภัสร์

15 มีนาคม 2566
393



“วิทยาศาสตร์ก้าวหน้าทุกครั้งที่มีการจัดงานศพ” คำพูดของ Max plank ซึ่งถูกเขียนเอาไว้ในโฮโมดีอุส หนังสือที่ว่าด้วยโลกแห่งอนาคตของมนุษย์1

อายุเฉลี่ยของประชากรในศตวรรษที่ 21 แตกต่างจากประชากรในยุคที่วิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ยังไม่ก้าวหน้า อัตราการตายของทารกหลังคลอดสูง ไวรัส เชื้อโรค ได้ฆ่าชีวิตประชากรในช่วงอายุยังน้อย แต่เมื่อโลกพัฒนาองค์ความรู้ดังกล่าว อายุเฉลี่ยของประชากรจึงเพิ่มสูงขึ้น ด้วยวิธีการป้องกัน รักษา ชะลอความตายให้ไกลออกไป ไม่ใช่เพราะการวิวัฒน์ของเรา แต่เพราะเรามีตัวช่วยให้อวัยวะ/ร่างกายถูกทำลายได้ช้าลง

ข้อมูลล่าสุดพบว่าประชากรไทยมีอายุเฉลี่ยราว 77 ปี นับเป็นค่าเฉลี่ยอายุขัยที่ยืนยาวเมื่อเทียบกับประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ดี เรามีความพยายามที่จะวิวัฒน์ตัวเองด้วยการยืดอายุให้ไกลออกไปด้วยการชะลอวัย ย้อนวัย หรือเป็นอมตะ (Immortal) เพราะจากการศึกษาในหนูทดลองเรื่องการย้อนวัยด้วยการฉีดสารชนิดหนึ่ง พบว่า สามารถทำให้หนูย้อนวัยไปได้ 10 – 15  ปี2  และนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้น

ถ้าการทดลองนี้ประสบความสำเร็จในมนุษย์ พีระมิดประชากร สังคมและสถานการณ์ชีวิตคนจะต่างจากเดิมอย่างไร อาจไม่ต้องถึงขั้นเป็นอมตะ เพียงแค่มีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 150+ ปี สถานการณ์ใดที่อาจเกิดขึ้นได้บ้าง ลองพิจารณาตามตัวอย่าง 3 มิติ

การทำงาน: จากเดิมวัยแรงงานเกษียณอายุราว 60 – 65 ปี ปัจจุบันโลกเข้าสู่สังคมสูงวัย ประชากรกลุ่มนี้ถูกปรับให้กลายเป็นหนึ่งในวัยแรงงานเพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจ และลดภาวะการพึ่งพิง ถ้ามนุษย์สามารถยืดอายุให้อยู่ได้ถึง 150 ปี ข้อดีคือเราจะได้ประชากรวัยแรงงานเพิ่มมากขึ้น ส่งผลเชิงบวกในระบบเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันแรงงานต้องมีช่วงชีวิตการทำงานยาวนานขึ้น ปรากฏการณ์ Job Hopper (กลุ่มคนที่เปลี่ยนงานบ่อย) อาจกลายเป็นเรื่องสามัญ  

ครอบครัว: จำนวนรุ่นในแต่ละครอบครัวจจากปกติมีเพียง 3 -  4 รุ่น ถ้ามันจะเพิ่มขึ้นเป็น 6 -7 รุ่นคงไม่เกินจริง เราจะได้ใช้ชีวิตร่วมกับปู่หรือทวดของพ่อ การรู้จักบรรพบุรุษจะเปลี่ยนจากในกรอบรูปมาเป็นพบเจอกันตัวเป็น ๆ แล้วลักษณะครอบครัวจะเปลี่ยนไปเป็นอย่างไร ครอบครัวเดี่ยวจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ หรือจะกลับสู่ยุคครอบครัวขยายอีกครั้ง

สิทธิในการมีชีวิต: สถานการณ์ร่วมสมัย การุณยฆาต (Euthanasia) เป็นหนึ่งในตัวเลือกให้เรามีสิทธิในการตัดสินใจต่อชีวิตตนเอง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่รักษาไม่หาย แต่มีเพียงไม่กี่ประเทศหรือบางรัฐในบางประเทศเท่านั้นที่อนุญาต สมมติว่าอายุขัยเฉลี่ยประชากรต้องยืดยาวไปอีกร่วม 80 ปี การุณยฆาตยังจำเป็นอยู่ไหม เมื่อเราต้องการมีชีวิตที่เพิ่มขึ้น (อย่างน้อยก็มาจากการตัดสินใจร่วมกันของคนยุคหนึ่ง ซึ่งส่งผลต่อคนยุคถัดไป) หรือมันจะเป็นที่ต้องการมากกว่าเดิมในเมื่อชีวิตนี้มันยาวนานเกินไป

แล้วในภาพรวมของสังคมจะเป็นอย่างไร เมื่อช่วงอายุประชากรถูกขยายกว้าง จำนวนปีวัยแรงงานเพิ่มขึ้น เมื่ออัตราการตายด้วยการสิ้นอายุขัยของประชากรช้าลง ความคิด ทัศคติ ความเชื่อที่อยู่ในแต่ละช่วงวัยก็จะถูกเผยแพร่ได้นานกว่าเดิม ในกลุ่มประชากรที่มีอิทธิพลต่อความเป็นไปทางสังคมสามารถอยู่ในตำแหน่งนานกว่าเดิม ประชากรรุ่นหลังใช้เวลาเดินทางช้ามาก กว่าจะขึ้นไปสู่ส่วนกลางของพีระมิด และกลายเป็นผู้กำหนดตัดสินใจเชิงมหภาคอย่างเป็นทางการได้ช้าลง ย้อนกลับไปที่ “วิทยาศาสตร์ก้าวหน้าทุกครั้งที่มีการจัดงานศพ” ถ้าอายุขัยของประชากรถูกยืดออกไปให้นานกว่าเดิมแล้ว สังคมที่มีประชากรอายุเฉลี่ยอย่างน้อย 150 ปี การพัฒนา การขับเคลื่อนของนวัตกรรมอาจจะถูกยืดให้เกิดขึ้นช้าขึ้นกว่าเดิมหรือเปล่า


อ้างอิง

  1. ยูวัล โนอาห์ แฮรารี, โฮโมดีอุส ประวัติย่อของวันพรุ่งนี้, บรรณาธิการโดยคณาวุฒิ เกนุ้ย, แปลโดย นำชัย ชีววิวรรธน์ และ ธิดา จงนิรามัยสถิต (กรุงเทพฯ: ยิปซี, 2562), 45.
  2. The standard podcast, “อัปเดตงานวิจัยล่าสุด ชี้ว่าอนาคตมนุษย์อาจเป็นอมตะ”, ยูทูป, 25 กุมภาพันธ์ 2566, https://www.youtube.com/watch?v=hbewH0zurG0

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th