The Prachakorn

พัฒนาชาติเพื่อการมีลูก


ภูเบศร์ สมุทรจักร

23 เมษายน 2561
290



การประกาศนโยบาย “สาวแก้มแดง” พร้อมกับการแจกวิตามินเสริมธาตุเหล็กและโฟลิค ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการมีลูกอย่างมีคุณภาพของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พ่วงกับชื่อนโยบายสุดแรงระดับเรียกแขกอย่าง “มีลูกเพื่อชาติ” สร้างวาทกรรมในสังคมไทยอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นการมีลูกเพื่อแก้ปัญหาภาวะอัตราเกิดที่มีแนวโน้มลดลงตั้งแต่เมื่อเกือบ 50 ปีที่แล้ว เลยไปถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร และการที่ประเทศไทยจะมีแรงงานไม่เพียงพอต่อการค้ำจุนเศรษฐกิจไทยในอนาคต นับว่ากระทรวงฯ เรียกแขกสำเร็จสมเจตนารมณ์ แม้จะต้องทนรับแรงเสียดสีค่อนแคะว่าเป็นนโยบายชวนหัวก็ตาม

เมื่อได้มีโอกาสสนทนากับท่านผู้เสนอม้อตโต้เด็ด “มีลูกเพื่อชาติ” และบอกท่านว่าวลีสื่อความหมายฉาบฉวยเกินจะรับไหว และยิ่งเมื่อสื่อมวลชนเติมรสชาติด้วยการใช้คำว่า “ปั๊มลูกเพื่อชาติ” ก็ยิ่งส่อไปในทำนองทะลึ่ง ทั้งๆ ที่การให้กำเนิดและการเลี้ยงลูกสมัยนี้มีความซีเรียสถึงขั้นคิดแล้วคิดอีก วางแผนแล้ววางแผนอีก จนที่สุดหนุ่มสาววัยเจริญพันธุ์จำนวนไม่น้อยตัดสินใจไม่มีเสียเลยเป็นหมดเรื่องกัน...มีแม่ที่ไหนพอได้เห็นหน้าลูกเมื่อแรกคลอดแล้ว พลันน้ำตาไหลตื้นตันใจว่าตัวเองได้ทำหน้าที่เพื่อชาติแล้ว!!

แต่ท่านก็ให้ข้อคิดว่า ให้ตกเป็นกระแสวาทกรรมรายวันอย่างนี้ดีแล้ว สังคมไทยจะได้พูดคุยเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง และช่วยกันหาทางออกอย่างเป็นระบบเสียที เพราะการเปลี่ยนโครงสร้างประชากรต้องใช้เวลายาวนาน และต้องมียุทธศาสตร์ที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เมื่อมองในแง่นั้นแล้วก็พลอยเห็นคล้อยไปด้วย เพียงแต่หวังว่าการพูดคุยและการดำเนินการจะไม่วอดวับดับไปเหมือนไฟไหม้ฟาง และหวังว่าจะขยายวงให้กว้างขวางไปถึงทุกภาคส่วนของสังคม เพราะทุกวันนี้การจะมีหรือไม่มีลูก และจะมีกี่คน ไม่ใช่เรื่องของกระทรวงสาธารณสุขเพียงกระทรวงเดียว

วิตามินสำหรับสาวแก้มแดง ไม่ได้หวังที่จะให้สาวๆ ในวัยเจริญพันธุ์มีลูกกันมากขึ้น แต่หวังผลสำหรับคนที่ตั้งใจจะมีลูกจะมีสุขภาพครรภ์ที่ดี ให้กำเนิดบุตรอย่างปลอดภัยต่อทั้งตัวแม่และตัวลูก แม้นโยบายนี้จะแก้ปัญหาปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้สังคมไทยไม่เอื้ออำนวยต่อการมีลูกและการเลี้ยงลูกได้ทั้งหมด แต่ก็นับว่ากระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มทำหน้าที่ให้ขอบเขตความรับผิดชอบของตัวเองแล้ว

เงื่อนไขของการมีลูกในปัจจุบัน ไม่ได้ขึ้นอยู่แต่เพียงความสมบูรณ์ทางกายภาพของแม่เท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยสำคัญอื่นๆ ที่สามีภรรยา ต้องคิดหนัก ทั้งปัจจัยที่เป็นตัวเงิน และที่ไม่เป็นตัวเงิน เริ่มตั้งแต่ท่าทีของสามีที่จะช่วยเหลือภรรยาอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้ภาระการเลี้ยงดูลูกตกหนักแก่ภรรยาแต่เพียงฝ่ายเดียว รวมไปถึงปฏิกริยาของเจ้านาย และเพื่อนร่วมงาน เมื่อทราบว่าสมาชิกผู้ร่วมงานตั้งครรภ์ และจะรับภาระงานได้น้อยลงในเวลาอีกไม่นานเพื่อเตรียมการคลอด และเมื่อคลอดแล้วคุณแม่ต้องหายไปจากที่ทำงานอย่างน้อย 2-3 เดือนแล้วแต่ข้อตกลง และเงื่อนไขทางสวัสดิการของที่ทำงานแห่งนั้น ในแง่นี้ที่นายจ้างทั้งภาครัฐและเอกชน และเพื่อนร่วมงาน จะช่วยทำให้เกิดบรรยากาศแห่งความเอื้อเฟื้อแก่คนที่ตั้งใจอยากเป็นคุณแม่ได้อย่างไร

เมื่อคลอดแล้ว การหาคนช่วยเลี้ยงโดยเฉพาะหลังจากที่เวลาการลาคลอดสิ้นสุดลงเป็นความยุ่งยากไม่ใช่น้อย สำหรับสภาพเศรษฐกิจและสังคมไทยที่ไม่เอื้อต่อการเป็นคุณแม่เต็มเวลาเหมือนสมัยก่อน แม้จะมีตัวช่วยเป็นคนรับจ้างเลี้ยงลูกบ้าง สถานรับเลี้ยงเด็กบ้าง แต่ก็มีค่าใช้จ่ายไม่น้อย โดยเฉพาะที่มีคุณภาพดีและไว้ใจได้ ส่วนการจะหวังพึ่งปู่ย่าตายาย ก็มักจะอยู่ห่างไกลอันเป็นผลมาจากการย้ายถิ่นเพื่อการศึกษาและโอกาสในการทำงาน อีกทั้งคุณแม่ยุคนี้ต้องช่วยทำงานนอกบ้านเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัวที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย และโดยเฉพาะเมื่อมีเจ้าตัวน้อยที่ลืมตาขึ้นมาพบกับสังคมที่การแข่งขันทวีความรุนแรงขึ้นทุกที การเตรียมการให้ลูกพร้อมสำหรับการแข่งขัน การอยู่รอด และโดดเด่นในสังคมปัจจุบัน เป็นค่าใช้จ่ายที่นับจะแพงขึ้นทุกวันในสภาวะที่การศึกษาไทยตกอยู่ในกลไกตลาดเกือบสมบูรณ์แบบ พ่อแม่ชนชั้นกลางทุ่มเทและทุ่มทุนเพื่อความก้าวหน้าของลูกด้วยเงิน “บาทสุดท้าย” ในประเด็นนี้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงศึกษาธิการ น่าจะมีส่วนช่วยได้ไม่น้อย

นอกจากนี้ ยังมีหนุ่มสาวอีกจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกไม่ไว้วางใจสภาพสังคมที่เป็นอยู่ นับวันสังคมไทยไม่น่าไว้วางใจ และเป็นอันตรายมากขึ้นทุกวัน จนกระทั่งพ่อแม่ต้องไปรับไปส่ง ติดตามดูแลทุกฝีก้าว นั่งเฝ้าอยู่หน้าที่เรียนพิเศษและรอรับกลับ เพราะเป็นวิตกทุกครั้งที่ลูกคลาดไปจากสายตา สังคมไทยไม่เหมือนในอดีตที่เด็กๆ วิ่งเล่นหัวบ้านท้ายบ้านได้โดยไม่น่ากังวลนัก การมีลูกในวันนี้จึงเป็นภารกิจที่หนักหน่วงสำหรับพ่อแม่ยุคใหม่ในสังคมไทยที่แสนซับซ้อน สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยนับวันจะเอื้อต่อการมีลูกน้อยลงไปทุกที

 

ที่มา vectorpage.com

จะว่าไปแล้ว นโยบาย “พัฒนาชาติเพื่อการมีลูก” น่าจะเป็นสิ่งที่พ่อแม่ยุคนี้ปรารถนาที่จะเห็นมากที่สุด และคงต้องยกให้เป็นวาระแห่งชาติที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต้องลงแรงช่วยกันอย่างจริงจัง


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th