The Prachakorn

ภัยธรรมชาติแลกด้วยชีวิตที่ตุรกีและซีเรีย


อมรา สุนทรธาดา

06 เมษายน 2566
362



เหตุการณ์แผ่นดินไหวบริเวณภาคใต้และภาคกลาง ประเทศตุรกีและทางตอนเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศซีเรีย เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่มีแรงสั่นสะเทือน 7.8 ริคเตอร์ สร้างความสูญเสียมหาศาลทั้งชีวิตผู้เคราะห์ร้าย อาคารที่อยู่อาศัยโรงเรียน โรงพยาบาล ที่ประเมินค่าไม่ได้ มีผู้เสียชีวิตในตุรกีและซีเรีย มากกว่า 50,000 คน UNDP คาดประมาณความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวที่ตุรกีมากเป็น 10 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับเหตุการณ์แผ่นดินไหว ปี 2542

ซีเรียถูกโดดเดี่ยวด้านความช่วยเหลือจากนานาประเทศเพราะปัญหาทางการเมืองภายในประเทศเนื่องจากตลอดเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมา มีการสู้รบระหว่างกองกำลังติดอาวุธที่ยืนข้างประชาชนที่เบื่อหน่ายการปกครองแบบเผด็จการนำโดยประธานาธิบดี Bashar Al-Assad อย่างไรก็ตามองค์กรนานาชาติพยายามทุกวิถีทางเพื่อส่งความช่วยเหลือให้ถึงผู้ประสบภัยความช่วยเหลือที่เร่งด่วนที่สุดคือการส่งอาหารให้ผู้ประสบภัยในซีเรีย แต่เป็นไปได้ยากเพราะติดขัดกับการประสานงานกับรัฐบาลซีเรียที่ไม่ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาสาธารณภัยที่อยู่นอกเขตประจำการของรัฐบาล เพราะผู้นำประเทศไม่ต้องการให้การช่วยเหลือไปถึงพื้นที่ในความดูแลของกองกำลังติดอาวุธที่ต่อต้านรัฐบาล The World Food Programme จำเป็นต้องระดมความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดงบประมาณมากถึง 450 ล้านดอลลาร์ นอกจากการช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยชั่วคราวในฤดูหนาวแล้ว การช่วยเหลือด้านการส่งผู้ลี้ภัยไปประเทศที่พร้อมรับเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ประชาคมโลกให้ความร่วมมือเพื่อมนุษยธรรม แม้ว่าจะติดขัดขั้นตอนต่างๆ ตามกระบวนการรับคนเข้าเมือง ตัวอย่างเช่น สหพันธ์สาธารณรัฐ เยอรมนีมีประชากรเชื้อสายตุรกีมากกว่า 3 ล้านคน ที่ได้สถานะเป็นพลเมืองถาวร จึงไม่น่าแปลกใจที่มีผู้ประสบภัยธรรมชาติจำนวนมหาศาลต้องการลี้ภัยไปอยู่กับญาติ ขั้นตอนการรับผู้เข้าเมืองจากตุรกีสำหรับผู้ทีมีหนังสือเดินทางราชการอยู่แล้วให้ยื่นคำร้องขอได้ อย่างไรก็ตามเอกสารต่างๆ สูญหายในช่วงภัยพิบัติดังกล่าวทำให้การยื่นคำร้องต้องใช้เวลา ไม่ทันกับการแก้ปัญหาเร่งด่วนที่มีผู้พลัดถิ่นจำนวนมากจากเหตุแผ่นดินไหว

ซีเรียมีปัญหาติดขัดมากกว่าเมื่อเทียบกับกรณีของตุรกีเพราะในกรณีของซีเรียบริเวณแผ่นดินไหวเป็นพื้นที่อาศัยชั่วคราวสำหรับผู้อพยพจากการสู้รบระหว่างกองกำลังติดอาวุธและทหารฝ่ายรัฐบาล ประชาชนในพื้นที่มีความเสี่ยงมากกว่าในตุรกี สภาพที่อยู่อาศัยที่สร้างขึ้นแบบชั่วคราว ชีวิตความเป็นอยู่มีความเสี่ยงจากโรคติดต่อ เช่น โรคท้องร่วงรุนแรง เพราะขาดแคลนน้ำสะอาดเพื่อการบริโภค การติดเชื้อจากยุงลายในฤดูร้อน ความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศ รวมทั้งการขอลี้ภัยไปประเทศอื่นๆ ทำได้ยากกว่าตุรกีเพราะประเทศฝ่ายโลกเสรีต่อต้านปัญหาการเมืองและการปกครองแบบเผด็จการภายใต้ประธานาธิบดี Bashar Al-Assad ในช่วงแรกๆที่เกิดปัญหาจากแผ่นดินไหว มีการอพยพไปประเทศใกล้เคียงที่มีชายแดนติดต่อกัน แต่ผู้อพยพต้องกลับเข้าประเทศเพราะประเทศปลายทางไม่พร้อมรับจำนวนผู้พลัดถิ่น นอกจากนี้ซีเรียยังมีปัญหาการขาดแคลนสาธารณูปโภคด้านสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน เช่น มีโรงพยาบาลเพียงร้อยละ 59 ของพื้นที่ทั้งประเทศ มีศูนย์สาธารณสุข ร้อยละ 57ศูนย์บริการสาธารณสุขเฉพาะทาง ร้อยละ 63 หลังจากเหตุแผ่นดินไหว สถานที่ดังกล่าวถูกทำลายจนไม่สามารถให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

รูป: สภาพความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวระดับความรุนแรง 7.8 ริคเตอร์
ที่มา: https://www.dw.com/en/turkey-syria-earthquakes/t-19122148. สืบค้นเมื่อ 9 มีนาคม 2566

องค์กรนานาชาติหลายแห่งพยายามถึงที่สุดที่จะช่วยเหลือผู้ประสบภัยในซีเรีย เช่น การเจรจาขอเปิดพื้นที่ชายแดนเป็นการเฉพาะกิจ ระหว่างตุรกีและภาคตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรียเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ในระยะเวลา 3 เดือน เพื่อส่งอาหารและเวชภัณฑ์ นับว่าได้ผลเกินคาดเพราะมีหน่วยช่วยเหลือพร้อมรถบรรทุกอาหารและสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีพ จำนวน 583 คันเข้าไปถึงพื้นที่ โชคไม่เข้าข้างผู้ประสบภัยในซีเรียอีกระลอกเมื่อวันที่ 7 มีนาคม ที่ผ่านมา เพราะมีฝูงบินขับไล่ทะยานจากสนามบิน Aleppo เขตเมืองหลวงของประเทศเพื่อบินสกัดเครื่องบินจากองค์กรนานาชาติที่ต้องเปลี่ยนเส้นทางบินเพื่อสามารถลำเลียงสิ่งของช่วยเหลือประชาชนในเมืองต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว

ความช่วยเหลือจากประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศออสเตรีย มอบงบประมาณ US $ 3.2 ล้าน ประเทศอังกฤษส่งผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 76 คน เพื่อค้นหาผู้รอดชีวิตที่ติดอยู่ในเศษซากอาคาร รวมทั้งประเทศไทยที่ส่งสิ่งของต่างๆ ผ่านสถานทูตตุรกีประจำในประเทศไทย

ความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมควรอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมืองเพื่อให้โลกใบนี้หมุนต่อไป

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th