The Prachakorn

องค์กร 4Gs บ้านเนื้อหอมหลังที่สอง ที่คนต่าง Gen อยากร่วมงานด้วย


กุลวีณ์ ศิริรัตน์มงคล

11 เมษายน 2566
355



องค์กรทำงานในปัจจุบันประกอบไปด้วยคนทำงานหลายกลุ่มวัย ทั้งคนทำงานที่อยู่เหนียวแน่นกับองค์กรมาเป็นเวลาหลายสิบปีอย่างคนใน Gen BB (เกิดพ.ศ. 2489-2507) Gen X (เกิดพ.ศ. 2508-2522) และคนทำงานที่จะเป็นผู้วางรากฐานอนาคตให้กับองค์กรต่อไปอย่าง Gen Y (เกิดพ.ศ. 2523–2540) รวมถึงรุ่นน้อง Gen Z (เกิดพ.ศ. 2540-2555)1 ที่กำลังก้าวเข้าสู่ภาคการทำงานอย่างเต็มตัว ก็เริ่มมีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวจักรขับเคลื่อนองค์กรให้เจริญเติบโตก้าวหน้า ดังนั้นองค์กรจึงมีคนทำงานทั้ง 4 Generations หรือเรียกว่าองค์กร 4Gs ที่สะท้อนภาพองค์กรหลายรุ่นประชากร (multi-generational workplace) ได้

ที่มา: https://www.freepik.com/free-vector/urban-building-skyline-panoramic-illustration_7588727.htm?query. สืบค้นเมื่อ 8 มีนาคม 2566

ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ผันเปลี่ยน คนเก่งได้กลายเป็นทรัพยากรสำคัญขององค์กร ที่จะช่วยกำกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงขององค์กรให้สามารถอยู่รอด และคนเก่งที่องค์กรต้องการนี้ ก็มีสิทธิ์เลือกที่จะทำงานให้องค์กรที่เขาต้องการ ผลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มคนเก่งใน 4 รุ่นประชากร จำนวน 30 คน ในปี 2565 ภายใต้โครงการ 4G มีสุข พบว่า ภาพองค์กรแบบเดิมๆ ที่เต็มไปด้วยภาระงานมากมาย ความกดดันจากการทำ.งานเพื่อสนองเป้าหมายรายวัน การแบกรับความเครียด และเพื่อนร่วมงานที่ขาดแคลนรอยยิ้ม ไม่ใช่เป้าหมายองค์กรที่เขาเหล่านี้ใฝ่ฝันที่จะร่วมงาน แต่คนเก่งต้องการทำงานทุ่มเทให้กับองค์กรที่มีสภาพสิ่งแวดล้อมการทำงานที่สนุก มีระบบงานที่เปิดให้ได้รับรู้ธรรมชาติของคนต่างรุ่น เปิดรับความแตกต่างในการแสดงออกถึงทัศนคติ ความคิด และพฤติกรรมที่หลากหลาย ความต้องการเหล่านี้ แม้จะมองเสมือนมุมโลกสวยที่ออกจะเพ้อฝัน แต่ปัจจุบันองค์กรจำนวนมาก รับรู้ได้ถึงความหลากหลายรุ่นของคนทำงาน องค์กร 4Gs เหล่านี้ ได้ให้ความสนใจและผนวกแนวคิดการสร้างสุข การสร้างสมดุลชีวิตในการทำงาน และความผูกพันของคนทำงานในองค์กร เข้าไปเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการบริหารจัดการองค์กร ด้วยการผลักดันการสร้างความสุขในทุกมิติของคนทำงานต่าง Gen ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม สนับสนุนให้คนทำงานต่าง Gen ได้ร่วมกันคิดสร้างสรรค์และพัฒนาการทำงาน และอยู่ร่วมกันได้โดยไม่มีความขัดแย้ง มีสมดุลชีวิตในการทำงาน และมีความรู้สึกผูกพันต่อองค์กรในที่สุด

องค์กรใดที่ปรับตัวเข้าหาการทำงานแบบสุขสนุกได้ก่อน ก็จะกลายเป็นองค์กรเนื้อหอมที่ดึงดูดคนเก่งได้ทันที และย่อมเป็นที่หมายปองของคนทำงานทุก Gen ถึงเวลานี้ใครจะเลือกใคร ระหว่างคนทำงานเลือกองค์กร หรือองค์กรเลือกคนทำงาน?  องค์กร 4Gs ที่เน้นการทำงานแบบสุขสนุก สามารถสลัดภาพของการทำงานแบบเดิมๆ ที่มักมีแต่ภาระ ความเครียด และความกดดันต่างๆ ให้กลายเป็นองค์กรที่ทำงานแล้วมีความสุข มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้การทำงานเป็นเรื่องที่น่าสนุก และปั้นคนทำงานคนต่าง Gen ให้เรียนรู้ถึงตัวตนของเพื่อนร่วมงานและเรียนรู้ตัวตนของตนเอง    

เมื่อองค์กร 4Gs สะท้อนภาพความเป็นองค์กรหลายรุ่นประชากรเสมือนเป็นจุดขายให้คนเลือกองค์กรที่เขาคิดว่านี่คือองค์กรในฝันที่อยากร่วมงานด้วย เป็นที่ที่ทำงานแล้วมีความสุข แม้ว่าเงินเดือนหรือสวัสดิการอาจไม่สูงมากนัก แต่สิ่งที่ได้รับคือความคาดหวัง ความก้าวหน้าในการทำงานองค์กร องค์กรก็จะได้คนดีและคนเก่งเข้ามาร่วมงาน การพบกันระหว่างรุ่นพี่คนเดิมที่เปิดรับการเปลี่ยนแปลง กับน้องคนใหม่ที่พร้อมจะปรับตัว จึงเป็นภาพการทำงานที่เต็มไปด้วยความหมาย รอยยิ้ม และพร้อมที่จะก้าวไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

องค์กร 4Gs บ้านเนื้อหอมหลังที่สอง จะหอมอบอวลไปแสนไกล เมื่อบ้านดีมีชื่อเสียง ย่อมมีคนดีคนเก่งที่พร้อมจะเข้ามาทำงาน และร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรอย่างมีศักยภาพและมีความสุขสิ่งเหล่านี้ล้วนตอบโจทย์ความสุขทั้งองค์กรและคนในระยะยาวแบบได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายหรือ Win-Win Situation นั่นเอง


อ้างอิง

  1. ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง. (2561). เจนเนอร์เรชั่นไหน? เกิดระหว่างปีใด?. จาก https://www.tcijthai.com/news/2018/06/watch/6529 สืบค้นเมื่อ 10 มกราคม 2566

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th