The Prachakorn

ส่องเทรนโลก เทรนไทย “ตลาดและคุณภาพอาหารแปรรูปสูง”


ณัฐจีรา ทองเจริญชูพงศ์,สิรินทร์ยา พูลเกิด

18 เมษายน 2566
463



ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อาหารแปรรูปสูง (ultra-processed food) เช่น น้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบ ลูกอม คุกกี้ ไอศกรีม เค้ก และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป1 ได้รับความสนใจในเวทีนานาชาติมากขึ้นจากกลุ่มขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาพของประชากรโลก ด้วยมีหลักฐานงานวิจัยในต่างประเทศที่พบความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคอาหารกลุ่มนี้กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการมีภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคมะเร็งบางชนิด และภาวะซึมเศร้า1 และบางการศึกษาพบความเชื่อมโยงระหว่างการผลิตและบริโภคอาหารกลุ่มนี้กับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในห่วงโซ่อุปทานอาหาร2

ตลาดอาหารแปรรูปพิเศษเติบโตต่อเนื่องในทุกภูมิภาคโลก3 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้ ที่พบร้อยละปริมาณการขายกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปสูง (ultra-processed food product: UPF) และกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแปรรูปสูง (ultra-processed beverage product: UPB) เพิ่มขึ้นสูงกว่าภูมิภาคอื่นอย่างเห็นได้ชัด โดยในปี 2562 ปริมาณการขาย UPF และ UPB ในภูมิภาคนี้ เพิ่มขึ้นจากปี 2549 ถึงร้อยละ 125 และ 142.9 ตามลำดับ ขณะที่ในภูมิภาคออสตราเลเซียและอเมริกาเหนือ และภูมิภาคยุโรปเหนือมีร้อยละปริมาณการขาย UPF เพิ่มขึ้นเล็กน้อย (ร้อยละ 3.7 และ 4.7 ตามลำดับ) และมีร้อยละปริมาณการขาย UPB ลดลงในภูมิภาคออสตราเลเซียและอเมริกาเหนือ (ร้อยละ -1.3) และไม่เพิ่มขึ้นเลยในภูมิภาคยุโรปเหนือ (ร้อยละ 0.0)

เมื่อวิเคราะห์ถึงส่วนประกอบที่ใช้ผลิต UPF และ UPB (ได้แก่ สารทดแทนความหวาน ไขมัน โซเดียม และสารเติมแต่งผลิตภัณฑ์) ภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้ เป็นภูมิภาคที่มีร้อยละการใช้ส่วนประกอบเหล่านี้เพิ่มขึ้นสูงสุด เมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่นของโลก โดยในปี 2562 ประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้ใช้ส่วนประกอบเหล่านี้ในการผลิต UPF และ UPB เพิ่มขึ้นจากปี 2549 ถึงร้อยละ 100 และ 40 ตามลำดับ ซึ่งการบริโภคส่วนประกอบดังกล่าวมากเกินไป สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคได้

ตลาด UPF และ UPB ในประเทศไทย เติบโตต่อเนื่องเช่นกัน4 โดยในปี 2564 เครื่องดื่มปรุงแต่งรสชาติและที่เติมสารอาหารลงไป ที่มีร้อยละปริมาณการขายเพิ่มขึ้นจากปี 2555 มากที่สุด (ร้อยละ 154.68) รองลงมา คือ อาหารแบบมื้อพร้อมทาน ขนมอบ ซีเรียลอาหารเช้า และเครื่องดื่มชูกำลังและสปอร์ตดริงค์ ตามลำดับ (แผนภูมิ) อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2569 เครื่องดื่มพวกชากาแฟ น้ำอัดลม และกลุ่มอาหารพวกลูกกวาด ขนมหวาน และแยมรสหวาน จะมีการเติบโตเพิ่มสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาอย่างมาก

ข้อมูลข้างต้นได้สะท้อนให้เห็นการเติบโตของภาคธุรกิจอาหารแปรรูปพิเศษที่อาจส่งผลดีในแง่ส่งเสริมเศรษฐกิจประเทศ แต่ในทางกลับกันเพิ่มความท้าทายในการจัดการสภาพแวดล้อมทางอาหาร ด้วยประชากรมีโอกาสการเข้าถึงอาหารกลุ่มนี้ได้มากขึ้นเพิ่มโอกาสการบริโภคมากขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงต่อการได้รับสารอาหารและสารเติมแต่ง ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพตามมาได้ ดังนั้นการบริหารจัดการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เกิดความสมดุลทั้งการส่งเสริมเศรษฐกิจ สุขภาพ และสภาพแวดล้อม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

แผนภูมิ: ร้อยละการเปลี่ยนแปลงปริมาณการขาย UPF (กิโลกรัม) และ UPB (ลิตร) ในประเทศไทย ปี 2555-2564


อ้างอิง

  1. Monteiro CA, Cannon G, Lawrence M, et al. (2019). Ultra-processed foods, diet quality, and health using the NOVA classification system. Rome: FAO.
  2. Anastasiou K, Baker P, Hadjikakou M, et al. A conceptual framework for understanding the environmental impacts of ultra-processed foods and implications for sustainable food systems. Journal of Cleaner Production 2022;368:133155.
  3. Baker P, Machado P, Santos T, et al. Ultra-processed foods and the nutrition transition: global, regional and national trends, food systems transformations and political economy drivers. Obesity Reviews 2020;21(12):e13126.
  4. สิรินทร์ยา พูลเกิด และคณะ. (2565). โครงการประเมินประสิทธิผลการใช้เกณฑ์จำแนกอาหารในรูปแบบต่างๆ เพื่อส่งเสริมการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพของคนไทย. นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.

 


Tags :

CONTRIBUTORS

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th