ภูฏาน (Bhutan) เป็นประเทศเล็กๆ ที่หลายคนอยากไปเยือน ตั้งอยู่ในแนวเทือกเขาหิมาลัย ทิศเหนือติดทิเบต ทิศใต้ติดอินเดีย ภูมิประเทศส่วนใหญ่จึงเป็นภูเขาอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล ประมาณ 1,500 เมตรขึ้นไป
ทิวทัศน์สนามบินแห่งชาติพาโร สนามบินที่ถือว่าอันตรายที่สุดในโลกเพราะตั้งอยู่กลางหุบเขาแคบ
ภาพโดย ผู้เขียน
เราเดินทางไปภูฏานด้วยสายการบินแห่งชาติดรุกแอร์ (Drukair) ใช้เวลาบินราว 4 ชั่วโมงก็ถึง มีโอกาสไปเยือนมาแค่ 3 เมือง ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันตกของประเทศ คือ พาโร (Paro) ทิมพู (Thimphu) และพูนาคา (Punakha) ประเทศภูฏานจำกัดนักท่องเที่ยวไม่ให้เกิน 20,000 คนต่อปี ช่วงโควิดระบาดหนักก็ปิดประเทศ ธุรกิจท่องเที่ยวและไกด์ได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาลตลอดสองปี ภูฏานเพิ่งเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งเมื่อต้นปี 2566 นี้เอง ใครจะไปเที่ยวภูฏาน นอกจากต้องเตรียมร่างกายให้ฟิตและเฟิมร์แล้ว ก็ต้องเตรียมค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายผ่านบริษัททัวร์ของภูฏานไม่ต่ำกว่า 250 ดอลล่าห์สหรัฐต่อวัน นับว่าสูงทีเดียว (ก่อนโควิด 200 ดอลล่าห์สหรัฐ/วัน) ด้วยเหตุผลความแพง ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะวัยละอ่อนเข้าไปเที่ยวไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นคนวัยหลังเกษียณและวัยกลางคน
วิหารหลวงพาโรซองที่เมืองพาโร ในอดีตเคยเป็นป้อมปราการ
ภาพโดย ผู้เขียน
ประเทศภูฏานมีแผนพัฒนาประเทศครั้งแรกปีเดียวกับประเทศไทย คือ เมื่อ พ.ศ. 2504 ไม่น่าจะเกิน 20 ปีมานี้ ที่เริ่มมีการสร้างถนนเลียบหน้าผาไต่ภูเขาลดเลี้ยวลัดเลาะเชื่อมหมู่บ้านและเมืองในหุบเขา นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางในภูฏานได้สะดวกขึ้น แต่ถนนก็ยังแคบ ๆ และดูอันตรายเพราะต้องไต่ภุเขาเลียบหน้าผา ทั้งประเทศมีประชากรไม่ถึงแปดแสนคน เมืองขนาดใหญ่อย่างทิมพูซึ่งเป็นเมืองหลวงปัจจุบัน มีคนอยู่หนาแน่นหน่อย มีอพาร์ตเม้นท์สร้างใหม่ และที่กำลังก่อสร้าง ผุดขึ้นตามที่ราบไหล่เขาจำนวนพอสมควร ไกด์บอกว่าอพาร์ตเม้นท์เหล่านั้นสร้างขึ้นเพื่อรองรับคนหนุ่มสาวที่ย้ายเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ พวกเขามักมาเช่าและแชร์ค่าเช่ากันหลายๆ คน ราคาค่าเช่าห้องตกเดือนละประมาณ 3,000-4,000 บาท อาคารบ้านเรือนทุกแห่งที่สร้างขึ้นใหม่ กฎหมายบังคับให้คงเอกลักษณ์กรอบประตูและหน้าต่างที่มีลวดลายไม้แกะสลักและสีสันแบบดั้งเดิมไว้ ซึ่งมีความเป็นทิเบตัน (Tibetan) ผสมอินเดียน (Indian) แต่ก็มีความเป็นภูฏานนิส (Bhutanese) อยู่ในตัว สมัยก่อนแต่ละหมู่บ้านอยู่กันโดดเดี่ยวไม่มีถนนเชื่อมถึงกัน จะติดต่อกับโลกภายนอกที ก็ต้องเดินข้ามเขาหลายลูกข้ามวันข้ามคืนกันเลยทีเดียว หากมีสัมภาระก็รบกวนให้จามรี (Yak) แบกลงเขาให้ ใครเจ็บป่วยหนักจะพาลงเขามาโรงพยาบาลก็แสนยาก จึงต้องเกิด แก่ เจ็บป่วย และตายด้วยการดูแลกันเอง
ทิวทัศน์เมืองทิมพูในยามค่ำคืน ตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขา
ภาพโดย ผู้เขียน
ตัวเมืองพาโร และย่านขายสินค้าให้นักท่องเที่ยว มี Mountain Café ไว้บริการนักท่องเที่ยวที่ติดบรรยากาศร้านกาแฟแบบตะวันตก
ภาพโดย ผู้เขียน
ประเทศนี้ มี 4 ฤดูกาล เหมือนประเทศเมืองหนาวทั่วไป คือ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง ฤดูหนาว และฤดูใบไม้ผลิ คนภูฏานตั้งหมู่บ้านอยู่ตามที่ราบไหล่เขาแคบ ๆ ดูแล้วน่าจะเจอกับภัยพิบัติประเภทแลนด์สไลด์ (landslide) ง่ายหากมีฝนตกหนัก แต่ไกด์บอกว่าไม่ค่อยเกิดเพราะดินเกาะติดกันแน่นและแข็ง ตรงไหนมีที่ราบไหล่เขากว้างหน่อย นอกจากสร้างบ้านแล้ว จะถูกกันไว้ทำแปลงนาหรือฟาร์มขั้นบันไดลดหลั่นสูงต่ำ เพื่อปลูกพืชตามฤดูกาล เช่น ผักเมืองหนาวชนิดต่าง ๆ แตงโม แอปเปิ้ล มันฝรั่ง สำหรับข้าวที่ปลูกมีทั้งข้าวโพด ข้าวเจ้า และข้าวสาลี แปลงนาข้าวที่เราเห็นมีขนาดเล็กกว่าแปลงนาข้าวในประเทศไทยราวครึ่งหนึ่งหรือเล็กกว่า 3 เท่า ประชาชนที่ไม่มีที่ดินปลูกบ้านและไม่มีที่ดินทำฟาร์ม จะได้รับพระราชทานที่ดินจากกษัตริย์ โดยไม่สามารถขายที่ดินผืนนั้นได้ ส่วนครอบครัวที่รับที่ดินตกทอดจากบรรพบุรุษสามารถขายที่ดินได้ แต่เขาก็ไม่นิยมขายที่ดินกัน รัฐบาลอนุญาตให้ชาวบ้านตัดต้นไม้ในป่ามาสร้างบ้านได้ เวลาใครสร้างบ้านชาวบ้านทั้งหมู่บ้านจะมาลงแรงช่วยกัน (ไกด์เล่าให้เราฟัง)
ทิวทัศน์หน้าป้อมปราการพูนาคา เป็นจุดบรรจบของแม่น้ำ Pho chu และ Mo chu
ภาพโดย ผู้เขียน
การทำฟาร์มเกษตรที่นี่เป็นออร์แกนนิคทั้งหมด (ไกด์ยืนยัน) ภูฏานได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ จริงหรือไม่ก็ต้องไปพิสูจน์ไปดมกันเอาเอง ริมถนนถ้าพอมีที่ราบอยู่ มีการตั้งร้านขายผัก ผลไม้ เนยแห้งที่ร้อยเชือกเป็นพวงไว้ เนยสด เป็นต้น ชาวภูฏาน เลี้ยงวัวไว้รีดนมทำเนย และให้ช่วยไถพรวนดิน เลี้ยงไก่ไว้กินไข่ ประเทศนี้ไม่มีโรงฆ่าสัตว์ มีกฎหมายห้ามตกปลา ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธที่ถือศีลข้อ 1 ปาณาติปาตา เวรมณี สิกฺขาปทํสมาทิยามิ (ละเว้นจากฆ่าสัตว์ และการเบียดเบียนชีวิตผู้อื่น) ค่อนข้างเคร่ง อาหารการกินเน้นกินมีผักเป็นอาหารหลัก แต่เขาก็ไม่ได้เป็นมังสวิรัติกันทั้งประเทศนะ มีคนกินเนื้อ กินหมู กินปลา กินไก่อยู่ ซึ่งต้องนำเข้ามาจากแคว้นอัสสัมและปัญจาบของอินเดีย ไม่ใช่เฉพาะอาหารโปรตีนจากสัตว์ที่นำเข้าจากอินเดีย มีสินค้าอีกหลายอย่าง รวมทั้งแรงงานและช่างสร้างบ้านที่มีฝีมือด้วย ถ้าหากนักท่องเที่ยวอยากได้ของที่ระลึกเป็นภูฏานแท้ ก็ต้องเลือกดูให้ดี ที่เมืองสำคัญอย่างพาโร มีร้านขายกาแฟชื่อ Mountain Cafe ไว้ให้นักท่องเที่ยวไปนั่งดื่มกาแฟอุ่นๆ กับเค้กหวานๆ ด้วย ร้านกาแฟเป็นอะไรที่ค่อนข้างใหม่สำหรับคนที่นี่ แต่ชาวภูฏานไม่นิยมดื่มกาแฟ ชอบดื่มชาอุ่นใส่นมหรือเนยและน้ำตาล ที่นี่มีร้านสะดวกซื้อคล้าย 7-Eleven แบบบ้านเรา แต่มีชื่อว่า 24-Seven
เรามีโอกาสไปเยี่ยมชมการปฏิบัติงานบริการสุขภาพที่โรงพยาบาล จิกมี่ ดอจิ วังชุก (Jigme Dorji Wangchuk National Referral Hospital) ตั้งอยู่ที่เมืองทิมพู โรงพยาบาลนี้น่าจะเป็นโรงพยาบาลใหญ่ที่สุดของประเทศ ขนาดเกือบ 400 เตียง และยังเป็นเครือข่ายกับมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์แห่งภูฏาน พยาบาลซึ่งเป็นศิษย์เก่าของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้รับทุนจากกระทรวงต่างประเทศของไทย (ไทก้า) มาเรียนปริญญาโทสาขาการพยาบาล ราวสิบกว่าคนมาให้การต้อนรับคณะของพวกเราซึ่งมีอยู่ 3 คน สิ่งที่น่าประทับใจคือโรงพยาบาลแห่งนี้ แม้พื้นที่ดูแออัด แต่ยังอุตส่าห์ปรับพื้นที่ดาดฟ้าของตึก สร้างเป็นห้องรวมเพื่อให้ญาติผู้ป่วยได้พักนอน ซักผ้า อาบน้ำ และเปลี่ยนเสื้อผ้า ญาติคนไข้ส่วนใหญ่อยู่ห่างไกลในหุบเขาและยากจน ไม่มีเงินเสียค่าเช่าที่พักหรือไม่มีญาติพี่น้องในเมืองไว้พักพิง หันมาดูเมืองไทย เรามีโรงพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลประจำจังหวัด หรือ โรงพยาบาลศูนย์ สักกี่แห่งที่จัดบริการลักษณะนี้ไว้ให้ประชาชนยากจน โดยที่ญาติผู้ป่วยไม่ต้องมานอนใต้เตียงผู้ป่วยหรือนอนนั่งตามระเบียงทางเดิน
อีกเรื่องที่น่าทึ่ง คือ เมื่อเราเข้าเยี่ยมชมการเรียนการสอนระดับปริญญาตรีในสาขาพยาบาลศาสตร์ที่นั่น สังเกตว่าในชั้นเรียนมีจำนวนนักศึกษาหญิงและนักศึกษาชาย 50/50 สอบถามก็ได้ความว่าการเข้าเรียนสาขาพยาบาลเป็นที่นิยมของทั้งเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง สะท้อนว่างานดูแลผู้ป่วย (caregiving) ที่นี่ เป็นงานที่มิติเพศค่อนข้างจะเป็นกลาง (gender neutral) มากกว่าบ้านเรา กล่าวคือ ไม่ได้มองว่างานการพยาบาลดูแลผู้ป่วยเป็นงานของผู้หญิงเท่านั้น เราสนทนาถามไถ่กับพยาบาลเรื่องโรคภัยไข้เจ็บที่นี่ เขาบอกว่าชาวภูฏานมีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีปัญหายาเสพติดระบาดในวัยรุ่นโดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนที่ติดกับอินเดีย ปัญหาการติดสุราเรื้อรังก็เป็นปัญหาใหญ่ พระภิกษุก็ติดสุรากันมาก ไกด์เล่าให้เราฟังว่าลูกพี่ลูกน้องของเขาที่บวชมาตั้งแต่เป็นเด็กก็เพิ่งเสียชีวิตไปเพราะโรคพิษสุราเรื้อรัง ทั้ง ๆ ที่มีอายุแค่ 34 ปี อ่อ ลืมบอกไปว่าพระที่ภูฏานเขาดื่มเหล้าได้นะ บางคนดื่มเฉพาะเทศกาล แต่บางคนดื่มเป็นประจำจนเป็นโรค แต่ทุกคนที่เราสอบถามเกี่ยวกับอาชีพการค้าบริการทางเพศ ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าที่นี่ไม่มีอาชีพค้าประเวณี
คนภูฏานนับถือศาสนาพุทธแบบวัชรยาน (Vajrayana) ที่เผยแพร่มาจากทิเบตราวช่วงศตวรรษที่ 17 นิกายที่โดดเด่นถึงปัจจุบัน คือ ดรุกปะกัคยุ พุทธศาสนาเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์การรวมชาติพันธุ์หลากหลายในหุบเขา และตั้งเป็นประเทศได้ ราชวงศ์วังชุกก็สืบเชื้อสายมาจากพระลามะที่รวมประเทศได้สำเร็จ คนภูฏานไม่มีนามสกุลใช้ ยกเว้นครอบครัวของกษัตริย์เท่านั้นที่มีนามสกุล นอกจากเชื่อในเรื่องการมีอยู่ของนรกและสวรรค์แล้ว ชาวพุทธที่นี่มีความเชื่อเรื่องปีศาจ สิ่งชั่วร้าย และอภินิหารของผู้นำที่เป็นพระสงฆ์หรือลามะที่เข้ามาเผยแผ่พุทธศาสนา
คณะของเราเดินขึ้นไปเที่ยวชมวัดชื่อชิมิลาคัง (Chimi Lhakhang) หรือ fertility temple อายุกว่ากึ่งศตวรรษ ตั้งอยู่ที่เมืองพูนาคา สร้างขึ้นราวปี 1499 ในอดีตเป็นวัดเล็กๆ ในหมู่บ้าน แต่มีชื่อเสียงขึ้นมาและกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเพราะร่ำลือกันว่ามีรูปปั้นลามะศักดิ์สิทธิ์ที่ให้พรคนมีลูกยาก หากไปอธิษฐานขอลูกก็มักจะได้สมใจ ไกด์เล่าประวัติวัดเสียยืดยาว สรุปความสั้นๆ ได้ว่า รูปปั้นลามะที่คนไปอธิษฐานขอบุตรนั้น เมื่อยังมีชีวิต มีพฤติกรรมแปลก ชอบการร่ำสุราและหาความรื่นรมย์ทางเพศกับสตรีในหมู่บ้าน เชื่อกันว่าสตรีที่ได้เสพสังวาสกับพระลามะองค์นี้จะได้บุญ สามารถบรรลุฌานขั้นสูงได้ และเมื่อเสียชีวิตแล้วก็จะได้ไปเกิดบนสวรรค์หรือเกิดในภพภูมิที่ดี รอบโบสถ์ของวัดนี้มีวงล้อที่เรียกว่า prayer wheel ให้คนเดินหมุนสวดมนต์ ไกด์บอกว่าให้หมุนวงล้อแบบทักษิณานุปทาน (หมุนวนขวา) ชาติหน้าจะได้ไปสวรรค์ ถ้าหมุนวนซ้ายจะไปนรก
เราไปชมวิหารหลวงชื่อ พาโรซอง ตั้งอยู่ที่เมืองพาโร ภายในวิหารมีภาพเขียนพุทธประวัติ และภาพเขียนเล่าเรื่องภพภูมิต่างๆ ได้แก่ นรก สวรรค์ โลกก้ำกึ่งระหว่างสวรรค์และโลกมนุษย์ โลกมนุษย์ และโลกของสัตว์เดรัจฉาน มีภาพเขียนที่สอนเรื่องวัฏสงสาร การสอนเรื่อง นรก/สวรรค์ = ทำชั่ว/ทำดี ตามคติพุทธศาสนาแบบชาวบ้าน คล้ายคลึงกับคำสอนในไตรภูมิพระร่วงของบ้านเรา แต่ความเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตายและการเกิดใหม่ของชาวพุทธในภูฏานยังแข็งแรงกว่าในบ้านเรามาก หากสมาชิกในครอบครัวเสียชีวิตลง จะมีพิธีทำบุญให้คนตายถึง 21 วัน ส่วนวันเผาศพจะใช้การดูวันทางโหราศาสตร์ที่สมพงศ์ตรงกับดวงชะตาของผู้ตาย ทั้งนี้เพื่อให้คนตายได้ไปสวรรค์หรือไปเกิดในภพภูมิใหม่ที่ดี อีกทั้งมีการปักธงสีขาวบนยอดเสาจำนวน 108 ต้น เพื่อส่งดวงวิญาณผู้ตาย เราจะพบธงขาวเหล่านั้นตามเนินเขาหรือที่โล่งกลางทุ่งนา เมื่อธงขาวขาดแหว่งวิ่นเพราะแรงลมที่ปะทะทุกวันเมื่อไหร่ เขาก็เชื่อกันว่าคนตายได้ไปเกิดใหม่ในภพภูมิที่ดีแล้ว ส่วนถนนบนภูเขาจะพบเห็นธงผืนเล็กหลากสีที่มีเวทย์มนต์หรือคำสวดเขียนไว้บนผืนผ้า ไกด์บอกว่าการแขวนธงเหล่านั้นมีความหมายเพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย ให้ผู้สัญจรผ่านมาเดินทางปลอดภัย และเชื่อว่าสายลมจะช่วยพัดพาเวทย์มนต์ศักดิ์สิทธิ์ ไปคุ้มครองสรรพสัตว์ ประชาชนชาวภูฏาน และชาวโลกให้ปลอดภัย
ป้อมปราการพูนาคา เมืองพูนาคา เมืองหลวงในอดีตของภูฏาน เป็นป้อมปราการที่สวยงามที่สุดของภูฏาน ไม่ใช้ตะปูแม้แต่ตัวเดียว สร้างขึ้นเมื่อปี 1637 เพื่อป้องกันการรุกรานจากทิเบต ปัจจุบันใช้เป็นวัดและที่พักในฤดูหนาวของพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ และเป็นวัดสำหรับการเล่าเรียนพระธรรมและสวดมนต์ของพระสงฆ์
ภาพโดย ผู้เขียน
พุทธศาสนาในภูฏานมีพุทธบริษัทครบ ภิกษุสงฆ์ และภิกษุณีสงฆ์มีวัดแยกกัน การปกครองคณะสงฆ์มีการแบ่งลำดับชั้นชัดเจน สูงสุดคือ สังฆราช รองสังฆราช ลามะเป็นชั้นสูงรองลงมาจากรองสังฆราช และลำดับรองจากลามะก็มีอีกสองลำดับชั้น พระสงฆ์ที่นี่ถ้าบวชแล้วจะไม่สึก เพราะมีความเชื่อว่าถ้าสึกออกมาเมื่อตายไปจะตกนรก ในอดีตครอบครัวยากจนที่มีลูกหลายคน จะนิยมให้ลูกชายไปบวชเป็นพระศึกษาเล่าเรียนธรรมะตั้งแต่เด็ก เมื่อบวชแล้วต้องเป็นพระไปตลอดชีวิต ซึ่งหลายกรณี ไม่ใช่เป็นการตัดสินใจเลือกของเจ้าตัวเอง ช่วงหลังมานี้รัฐบาลจึงรณรงค์ไม่ให้พ่อแม่บวชลูกชายตั้งแต่เด็ก ขอให้การบวชเป็นการเลือกของเด็กเอง จึงมีการส่งเสริมการศึกษาสายสามัญขึ้น แต่ภูฏานไม่ได้มีการศึกษาภาคบังคับ ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ โรงเรียนในอดีตเป็น boarding school หรือโรงเรียนกินนอน เพราะเด็กที่อยู่ห่างไกลเดินทางไปกลับลำบาก เด็กที่นี่ใช้ภาษาอังกฤษในการเรียน จึงไม่แปลกใจที่คนภูฏานรุ่นใหม่ใช้ภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว รัฐบาลให้เรียนฟรี 10 ปี ถ้าจะเรียนต่อและเรียนฟรีในโรงเรียนและวิทยาลัยที่เป็นของรัฐ ก็ต้องสอบให้ได้คะแนนสูงถึงเกณฑ์ ใครคะแนนไม่ถึงแต่หากครอบครัวมีเงินก็จะเข้าเรียนต่อในโรงเรียนเอกชน เยาวชนคนหนุ่มสาวของภูฏานจำนวนหนึ่ง ได้ทุนไปเรียนต่อในต่างประเทศ บางคนมีความใฝ่ฝันอยากไปใช้ชีวิตหาเงินหาทองเมืองนอก ประเทศในฝันท็อปฮิตของพวกเขา คือ ออสเตรเลีย และ แคนาดา เข้าใจว่าอาจจะเป็นเพราะว่ามีเครือข่ายอยู่ แต่จากการสังเกต และพูดคุยกับคนรุ่นใหม่หลายคน เราคิดว่าคนภูฏานมีสำนึกรักถิ่นฐานบ้านเกิดเมืองนอน และรักวัฒนธรรมของตนอยู่มากทีเดียว
ประเทศภูฏานน่าจะเป็นประเทศเดียวในโลก ที่พยายามไม่หมุนไปตามกระแสทุนนิยมและโลกาภิวัตน์ ความพยายามนี้พบอยู่ในนโยบายจำกัดนักท่องเที่ยว การไม่สร้างโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตคาร์บอน การธำรงรักษาและปลูกฝังความภาคภูมิใจในขนบจารีตประเพณี ความเชื่อ ตลอดจนศิลปะ และสถาปัตยกรรมที่ยึดโยงกับพุทธศาสนา ให้กับประชาชน แต่ผู้ไปเยือนอย่างเราก็มีคำถามว่า การเดินทางสู่โลกภายนอกของคนรุ่นใหม่ที่มีมากขึ้นในทุกวันนี้ จะทำให้ประเทศเล็กๆ อย่างภูฏาน ยังคงรักษาจิตวิญญาณดั้งเดิมของผู้คนไว้ได้อีกนานแค่ไหน