The Prachakorn

การพัฒนาที่ยั่งยืน: การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยงานวิจัย


ภาสกร บุญคุ้ม

08 มิถุนายน 2566
540



ผลจากการพัฒนาในอดีตพบว่าก่อให้เกิดความไม่สมดุลและไม่ยั่งยืน แม้ว่าตัวเลขรายได้ประชาชาติจะเพิ่มขึ้นก็ตาม ทว่ายังมีปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ ดังนั้น การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Developments: SDGs) จึงเป็นคำตอบในการบริหารจัดการและการพัฒนาสังคมในด้านต่าง ๆ โดยเป้าหมายในการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs Goals) ประกอบด้วย 17 เป้าหมาย มีจุดเน้นในภาพรวมคือ การสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตในทุกมิติ ดังนั้น การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจึงเป็นพันธกิจร่วมของทุกภาคส่วนและทุกหน่วยงาน

บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยงานวิจัยโดยมุ่งนำเสนอสองประเด็นหลัก คือ

ประเด็นแรก นำเสนอเกี่ยวกับบทบาทของงานวิจัยที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวคือ งานวิจัยจะช่วยสะท้อนให้เข้าใจสภาพปัญหาและความท้าทายของแต่ละเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนว่ามีสถานการณ์เป็นอย่างไร ซึ่งเป็นข้อมูลตั้งต้นที่สำคัญอันจะนำไปสู่การวางแผนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย นอกจากนี้งานวิจัยสามารถช่วยกำหนดขอบเขตการพัฒนาที่ยั่งยืนให้มีความชัดเจนและมีความเฉพาะเจาะจง ซึ่งจะช่วยให้สามารถกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาได้ตรงจุด อีกทั้งงานวิจัยจะช่วยในการระบุและประเมินทางเลือกหรือเส้นทางการพัฒนาไปสู่เป้าหมายที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด และประการสำคัญคืองานวิจัยช่วยในการสนับสนุนการดำเนินงานให้เป็นไปตามกรอบของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ประเด็นที่สอง บทความนี้ได้เสนอแนวทางการการสนับสนุนให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นประเด็นวิจัยที่ได้รับความสำคัญและความสนใจจากหน่วยงานด้านวิชาการและสถาบันการศึกษา โดยได้เสนอว่ามหาวิทยาลัยควรทำให้นักวิจัยรู้จักและเข้าใจเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะนักวิจัยรุ่นใหม่ที่อยากจะสร้างผลงานทางวิชาการ (Profile) ในระยะยาว รวมทั้งควรช่วยให้นักวิจัยเห็นความเชื่อมโยงระหว่างงานวิจัยของเขากับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมาย นอกจากนี้ควรวิเคราะห์จุดแข็งด้านงานวิจัยของมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงาน โดยการวิเคราะห์เชื่อมโยงเป้าหมายด้านงานวิจัยขององค์กรร่วมกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่สำคัญคือต้องมีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับประเด็นงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเป็นระยะๆ ว่ามีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือไม่ อย่างไร และข้อเสนอสุดท้ายคือ ควรส่งเสริมให้นักวิจัยเชื่อมโยงตนเองกับชุมชนนักวิจัยระดับโลก เพื่อให้นักวิจัยได้เข้าไปเรียนรู้ แลกเปลี่ยน สัมผัสบรรยากาศทางวิชาการในประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับนานาชาติ เกี่ยวกับแนวคิด วิธีการวิจัย ตลอดจนแนวทางการนำองค์ความรู้จากงานวิจัยไปสู่ภาคปฏิบัติ

ที่มาของภาพ https://cdn2.sph.harvard.edu/wp-content/uploads/sites/13/2015/09/sdg-chart.png


ที่มา: ภาสกร บุญคุ้ม, และรัตนา ด้วยดี. (2566). การพัฒนาที่ยั่งยืน : การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยงานวิจัย. วารสารที่ประชุมสภาข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปขมท.), 12(1), 165-176. URL: https://council-uast.com/journal/upload/fullpaper/14-01-2023-984411803.pdf

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th