The Prachakorn

ทุนสังคม พลังสังคม


ภูเบศร์ สมุทรจักร

07 มิถุนายน 2566
501



แม้จะพูดไม่ได้เต็มปากว่าโลกเราเข้าสู่ยุค “หลังโควิด-19” แล้วเพราะยังมีรายงานการระบาดให้ได้ยินอยู่เป็นระยะ แต่ที่แน่ๆ คือสถานการณ์วิกฤตได้ผ่านพ้นไปแล้ว โดยเฉพาะช่วงพีคของการแพร่ระบาดในประเทศไทยที่ระลอกที่ 1 และระลอกที่ 2 ที่ตอนนี้ได้กลายเป็นภาพอดีตที่ชัดบ้างจางบ้างในความทรงจำ

ในช่วงเวลาที่ผู้คน (โดยเฉพาะในระดับรากหญ้า) ทั้งอับจนหนทางและโกลาหลในความมืดมนราวกับฝันร้ายในยามจับไข้ พลังที่ผสานออกมาช่วยเหลือซึ่งกันและกันคือพลังที่ปล่อยออกมาจากการร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชน โดยเฉพาะในสังคมชนบท เป็นทุนสังคมอันมีค่าและมีพลังที่ซ่อนตัวอยู่ในความเรียบง่ายไร้ความหรูหราฟู่ฟ่าและตึกระฟ้าอย่างในเมืองกรุง จนองค์การอนามัยโลกมีข้อความชื่นชมว่าเป็นวิถีแห่งองคาพยพของสังคม (whole society approach)

“ตอนนั้นคนในหมู่บ้านจัดเวรกันตั้งด่านตรวจวัดอุณหภูมิ 24 ชั่วโมงเลย ไม่ได้ตังค์นะ ตังค์เขาเพิ่งมาให้ทีหลัง ทางเข้าออกหมู่บ้านมีกี่ที่ก็ตั้งทุกด่าน รถผ่านมาก็ขอตรวจ พูดดีๆ ใครแปลกหน้าเข้ามา หรือมีญาติพี่น้องบ้านไหนมาก็มีที่ให้เขากักตัว ผู้ใหญ่บ้านเขาเข้ม คนในหมู่บ้านไม่มีใครติดเลย” พี่จ๋อม ชาวบ้านอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่วัย 40 ปี เล่าให้ฟังอย่างภูมิใจ

บางหมู่บ้านไม่เพียงแต่ระมัดระวังเรื่องการสาธารณสุขและการติดเชื้อเท่านั้น แต่ยังคิดถึงความยากลำเค็ญของการทำมาหากินที่เกิดฝืดเคืองอย่างฉับพลัน จู่ๆ ครัวเรือนเกินกว่าครึ่งไม่มีรายได้โดยที่ไม่รู้ว่าการทำมาหากินจะกลับมาเมื่อไหร่ พลอย คุณแม่วัย 45 ปีเดิมมีอาชีพนักแสดงมายากลในสถานบันเทิงแห่งหนึ่งในตัวเมืองพัทยา เล่าให้ฟังว่าเธอกลับมาบ้านเกิดในชนบทของชลบุรี หลังจากพัทยากลายเป็นเมืองร้างเพราะทัวร์จีนทัวร์ฝรั่งถูกยกเลิกหมดในพริบตา “ช่วงล็อคดาวน์นะ คนในหมู่บ้านมาช่วยกันทำแปลงปลูกผักส่วนกลาง ปลูกกันเยอะเลย เลี้ยงคนในหมู่บ้าน ใครพอมีเงินไปซื้อในตลาด ใครไม่มีเงินก็มาเก็บที่แปลง ช่วงเงินหายากก็เอาของแลกกันไม่ต้องใช้เงิน” ในชุมชนที่เข้มแข็ง ชาวบ้านมารวมตัวกันหาทางออกเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

“ตอนนั้นได้เงินมาห้าพัน หลวงเปิ้นฮื้อ (ให้) ก็เอามายะกับข้าว (ทำกับข้าว) แจกจาวบ้าน คนตุ๊ก (ทุกข์ยาก ไม่มีเงิน) เปิ้นตุ๊กแต้ๆ เฮาก็บ่าใจ่มีนัก (ตัวเราเองก็ไม่ใช่ว่าจะมีเงินมาก) แต่ตอนนั้นต้องจ้วยกั๋น (ช่วยกัน) หลังจากนั้นใครได้สะตังมา ก็เอามาทำกับข้าวแบ่งกันกิ๋น” พี่กั้งชาวเชียงใหม่วัย 40 ปี เล่าถึงความช่วยเหลือกันในชุมชนเล็กๆ แถบชานอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่

“จิตอาสา” เป็นคำที่คนในท้องถิ่นพูดกันอย่างภูมิใจ อิ่มใจ และมีเกียรติ เป็นช่วงเวลาที่การได้ช่วยหลือคนอื่นด้วยสิ่งที่ตัวเองมี ได้แบ่งปันกัน เป็นสิ่งที่ทำให้ “ผู้ให้” มีความสุขใจ

“กลุ่มแม่บ้านมาช่วยกันทำแมสจิตอาสานะ ช่วงนั้นแมสหายาก มีตังค์ก็ซื้อไม่ได้ บางที่แพงมากซื้อไม่ได้เลย ใครมีผ้าอะไรก็มาตัดมาเย็บ ซื้อยางยืดมาติด ทำกันที่ศาลาวัดนั่นแหละ เป็นแมสที่ใช้แล้วซักเอามาใช้ใหม่ได้” ป้าป้อมหัวหน้ากลุ่มแม่บ้านวัย 45 ปีชาวอำเภอระโนด จังหวัดสงขลาเล่าให้ฟังอย่างภูมิอกภูมิ และยังบอกอีกว่า “ช่วงนั้นอะไรก็จิตอาสานะ มีข้าวกล่องจิตอาสา ไข่จิตอาสา ข้าวสารจิตอาสา”

ป้าปูวัย 53 ปี เจ้าของแผงขายปลาในตลาดอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา หลังจากตลาดปิดสนิท (คือไม่มีกำหนดเปิดเลย) สังเวยการแพร่ระบาดระลอกแรกก็ผันตัวเองมาทำกับข้าวขาย ป้าปูเล่าว่าทำแกงวันละอย่าง อย่างละหม้อ ทำเสร็จก็โพสต์ขายในไลน์กลุ่ม กับในเฟสบุ๊ก ป้าปูโชว์มือถือแอนดรอยด์รุ่นดึกดำบรรพ์ แล้วบอกว่า “รอดมาได้เพราะเพื่อนในนี้เลย พอทำแกงเสร็จก็บอกเพื่อนๆ ทั้งเฟซ (บุ๊ก) ในไลน์ ว่าวันนี้ทำแกงอะไร ให้หลานสอนถ่ายรูป บางทีก็ถ่ายคลิป ขี่มอเตอร์ไซค์ไปส่ง ขายหมดทุกวัน เพื่อนๆ ช่วยกันอุดหนุน ใครมีอะไรก็เอามาขาย ช่วยกันซื้อ”

สามีป้าปูเป็นผู้กว้างขวางในท้องถิ่น เพราะแกเป็นหัวหน้าวินมอเตอร์ไซค์ ซึ่งมีบทบาทมากในการเป็นแหล่งกระจายข้อมูลของทางการ และหน่วยงานท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแจกเงินเยียวยา การแจกอาหารสิ่งของ และเวลาใครที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือในพื้นที่แถวนั้นวินมอเตอร์ไซค์รู้รายละเอียดของแต่ละครัวเรือน ให้ข้อมูลผู้ที่ควรได้รับการช่วยเหลือเป็นอย่างดี

ครั้งนั้นคงไม่ใช่ครั้งแรกที่เราได้เห็นพลังของทุนสังคมแสดงออกมาเป็นน้ำใจช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เห็นอกเห็นใจ และมีน้ำใจต่อกัน และอันที่จริง ทุนสังคมนี้ก็คงจะเป็นเหมือนพลังงานศักย์อันมหาศาลที่ซ่อนอยู่แล้วภายในสังคมไทย แต่เราอาจไม่ทันได้สังเกต หรือวิเคราะห์โครงสร้างที่เป็นแหล่งกำเนิดพลังอันสำคัญนี้ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างระดับครอบครัว ชุมชน และเครือข่ายความสัมพันธ์ต่างๆ โดยเฉพาะที่อยู่ใกล้ตัว ทั้งอาจไม่ได้มองเห็นการทำงานของทุนสังคมเหล่านี้ว่าต้องผ่านความผูกพัน ความมีมนุษยธรรม เมตตาธรรม การเชื่อมโยงจากเครือข่ายหนึ่งไปอีกเครือข่ายหนึ่ง ทั้งในแนวดิ่งและแนวราบ เพื่อขยายปริมาณของทุนสังคมให้มากขึ้นและสามารถรองรับกับปริมาณความต้องการการช่วยเหลือ โดยเฉพาะในยามเกิดวิกฤตที่รุนแรง

โลกในศตวรรษที่ 21 ยังมีความเสี่ยงต่อวิกฤตที่จะเข้ามาในอนาคตอีกมากและหลากหลายรูปแบบ ทุนสังคมเหล่านี้ต้องได้รับการรักษาและจัดการอย่างมีกลยุทธ์เพื่อให้การช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ แทนการรอคอยการช่วยเหลือจากรัฐที่ต้องใช้เวลาและผ่านกระบวนการขั้นตอนกว่าความช่วยเหลือจะมาถึง


หมายเหตุ
บทความนี้ตัดความบางส่วนมาจาก บทความ Samutachak, B., Ford, K., Tangcharoensathien, V., & Satararuji, K. (2023). Role of social capital in response to and recovery from the first wave of COVID-19 in Thailand: a qualitative study. BMJ Open, 13(1), e061647. และงานวิจัยเรื่อง “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ: การฟื้นตัวของคนรากหญ้าในสถานการณ์โควิด-19” ดำเนินการโดย คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สนับสนุนทุนวิจัยโดย มูลนิธิปิดทองหลังพระ

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th