The Prachakorn

ผู้สูงอายุไทยกับความยากจน


เฉลิมพล แจ่มจันทร์

09 มิถุนายน 2566
1,436



อีกเพียงทศวรรษกว่าๆ ผู้เขียนก็จะมีสถานะเป็นผู้สูงอายุตามนิยามของประเทศไทยที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 ซึ่งผู้เขียนเป็นหนึ่งในกลุ่มประชากรที่เราเรียกกันว่า “ประชากรรุ่นเกิดล้าน” (รุ่นประชากรที่เกิดระหว่างปี 2506-2526 ซึ่งมีจำนวนเด็กเกิดใหม่ในประเทศต่อปีมากกว่าหนึ่งล้านคน) ที่กำลังกลายเป็น“สึนามิประชากร” ขนาดใหญ่เคลื่อนตัวเองเข้าสู่ฟากฝั่งการเป็นผู้สูงวัย (อายุ 60 ปีขึ้นไป) นับตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป จนถึงอีก 20 ปีข้างหน้า

ในสถานการณ์ที่โครงสร้างประชากรและครอบครัวไทยเปลี่ยนไปคนแต่งงานช้าลง มีลูกน้อยลง และอยู่เป็นโสดเพิ่มขึ้น การคาดหวัง หรือพูดให้ถูก โอกาสในการพึ่งพาครอบครัวในวัยสูงอายุจึงลดลงตามไปด้วย การพึ่งพาตนเองด้วยการดูแลสุขภาพให้ดีเพื่อให้ทำงานได้นานขึ้น เก็บหอมรอมริบและลงทุนเพื่อสร้างรายได้ระยะยาว จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องตระหนักและเตรียมตัวเพื่อให้แน่ใจว่าชีวิตในวัยสูงอายุจะมีคุณภาพ มีอยู่มีกินเพียงพอ และที่สำคัญ “ไม่ยากจน”

แต่คำถามก็คือ แล้วผู้สูงอายุไทยในตอนนี้ ส่วนใหญ่มีอยู่มีกินเพียงพอกันหรือไม่?

จากข้อมูลรายงานสถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ พบว่าในภาพรวมปัญหาความยากจนของคนไทยนับว่าพัฒนาดีขึ้นต่อเนื่อง ในปี 2564 สัดส่วนคนจนในประเทศวัดจากเส้นความยากจน (2,803 บาทต่อคนต่อเดือน) อยู่ที่ร้อยละ 6.3 ซึ่งลดลงจากร้อยละ 7.8 ในปี 2560

จำแนกตามกลุ่มอายุ ปัญหาความยากจนด้านตัวเงินนี้ของผู้สูงอายุที่วัดจากเส้นความยากจน แม้จะดูเป็นปัญหามากกว่าประชากรในวัยทำงาน (18-59 ปี) แต่ก็ถือว่ารุนแรงน้อยกว่าในกลุ่มเด็ก อายุ 0-17 ปี ที่มีสัดส่วนที่ยากจนมากถึงร้อยละ 9.9 สูงกว่าเมื่อเทียบกับสัดส่วนคนจนในกลุ่มผู้สูงอายุที่ร้อยละ 6.8 และสัดส่วนคนจนในกลุ่มวัยแรงงานที่ร้อยละ 5.0

อย่างไรก็ตาม ความยากจนไม่ใช่เรื่องของตัวเงินเท่านั้น มิติปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและสำคัญต่อการครองชีพของคน ควรต้องนำมาร่วมพิจารณาด้วย ซึ่งสภาพัฒน์ได้มีการวิเคราะห์เพิ่มเติมและจัดทำดัชนีความยากจนหลายมิติ หรือ multidimensional poverty index (MPI) ขึ้น เพื่อใช้ประเมินและติดตามสถานการณ์ความยากจนของคนไทยที่ครอบคลุมมิติอื่นๆ ที่ไม่ใช่เฉพาะด้านตัวเงินซึ่งประกอบด้วย

  • มิติด้านการศึกษา (education)
  • มิติด้านการใช้ชีวิตในแบบที่ดีต่อสุขภาพ (healthy living)
  • มิติด้านความเป็นอยู่ (living conditions) และ
  • มิติด้านความมั่นคงทางการเงิน (financial security)

เมื่อวัดด้วย MPI พบว่า คนไทยที่เป็น “คนจนหลายมิติ” มีสัดส่วนที่สูงกว่าสัดส่วนคนจนที่วัดในมิติด้านตัวเงินเท่านั้นเกือบ2 เท่า โดยอยู่ที่ร้อยละ 11.6 ในปี 2564 และที่น่าสนใจคือ ในจำนวนคนจนหลายมิติทั้งหมดทั่วประเทศประมาณ 8.10 ล้านคนมากกว่า 1 ใน 3 (ร้อยละ 36.9 หรือ ประมาณ 3 ล้านคน) เป็นกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี ขึ้นไป และเมื่อพิจารณาเป็นในแต่ละกลุ่มอายุ ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนคนจนหลายมิติถึงร้อยละ 18.1 ซึ่ง “สูงที่สุด” เมื่อเทียบกับคนวัยอื่น และสูงกว่าสัดส่วนผู้สูงอายุที่ยากจนเมื่อวัดเฉพาะด้านตัวเงินถึงเกือบ 3 เท่า

ข้อมูลดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นถึงอะไร?

ในการมีอยู่มีกินเพียงพอ ถ้าวัดเฉพาะด้านตัวเงิน ผู้สูงอายุไทยในปัจจุบันอาจจะยังพออยู่ได้ และดูเหมือนจะมีดีกว่าประชากรวัยเด็ก (แม้จะแย่หรือลำบากกว่าประชากรวัยทำงาน) แต่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่อาจจะวัดเฉพาะด้านตัวเงินได้ ซึ่งจากข้อมูลความยากจนหลายมิติ แสดงให้เห็นว่า ผู้สูงอายุไทยยังมีความเปราะบาง มีความยากจนในมิติความเป็นอยู่ด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่ตัวเงินสูงกว่าประชากรวัยอื่นอย่างชัดเจน ดังนั้น ในการเตรียมตัวและเตรียมพร้อมเข้าสู่วัยสูงอายุของประชากรวัยแรงงานในอนาคต โดยเฉพาะ กลุ่มประชากรรุ่นเกิดล้านที่กำลังเป็นสึนามิประชากร (ซึ่งรวมถึงผู้เขียนด้วย) คงจะต้องตระหนักถึงจุดนี้และพิจารณาเตรียมการให้รอบด้าน มากกว่าเพียงเรื่องการเตรียมตัวด้านการเงิน เพื่อให้แน่ใจว่าเราจะไม่ต้องเป็นผู้สูงอายุยากจน ทั้งในด้านตัวเงิน และในอีกหลายมิติในอนาคต


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th