The Prachakorn

ทั่วโลกรวมพลัง...ลดโลกร้อน


อมรา สุนทรธาดา

22 มิถุนายน 2566
602



สภาวะโลกร้อนเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเนื่องจากโลกไม่สามารถระบายความร้อนที่ได้รับจากรังสีดวงอาทิตย์ออกไปได้อย่างปกติ ส่งผลต่ออุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น และทำให้สภาพอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก ปัจจัยที่ทำให้ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง มีทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน ปัจจัยภายนอก ได้แก่ พลังงานจากดวงอาทิตย์ และวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ส่วนปัจจัยภายใน ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของก๊าซในชั้นบรรยากาศ การเปลี่ยนแปลงของพื้นผิวโลก เช่น ระดับน้ำในมหาสมุทร แผ่นน้ำแข็งขั้วโลกละลายและการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก ทุกปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบต่อบรรยากาศโลกโดยตรง

อุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นเป็นผลมาจากปรากฏการณ์เรือนกระจก (greenhouse effect) ซึ่งเกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกทำให้บรรยากาศโลกกักเก็บพลังงานความร้อนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความสมดุลของพลังงานเปลี่ยนแปลงไป ก๊าซเรือนกระจกในธรรมชาติ ประกอบด้วย ไอน้ำ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โอโซนมีเทน และไนตรัสออกไซด์ ก๊าซเหล่านี้ตามธรรมชาติมีปริมาณรวมกันไม่ถึงร้อยละ 1 ของบรรยากาศ ซึ่งทำให้โลกมีอุณหภูมิอบอุ่นอยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นก๊าซที่อยู่รอบตัวเรา เกิดขึ้นในชั้นบรรยากาศตามธรรมชาติ และเกิดจากการหายใจของพืชและสัตว์ รวมทั้งเกิดจากการดำรงชีวิตของมนุษย์ เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิง การใช้รถยนต์ และเครื่องจักรกลสำหรับระบบเกษตรกรรม ถึงแม้ว่าในปัจจุบันอุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงขึ้นไม่มากนัก แต่ได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ความแปรปรวนของสภาพอากาศ เช่น การละลายของธารน้ำแข็งขั้วโลก (glaciers) และสภาพอากาศที่แปรปรวนทั่วโลก

มาตรการเพื่อการอยู่รอด

  • ลดการเดินทางด้วยเครื่องบิน เพราะเป็นหนึ่งในต้นเหตุหลักของโลกร้อน ในช่วงปี 2560 เป็นสาเหตุหลักอันดับหนึ่งที่ส่งผลต่อการเพิ่มความร้อนเรือนกระจก ถ้าลดเที่ยวบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกหนึ่งเที่ยว จะลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 1.6 เมตริกตันต่อปี
  • การใช้รถยนต์ส่วนตัวสำหรับการเดินทางเป็นความสะดวกสบายในทางกลับกันถ้าเปลี่ยนวิธีเดินทางโดยการใช้จักรยานหรือรถโดยสารสาธารณะ จะช่วยลดการเผาผลาญเชื้อเพลิง การใช้รถยนต์ส่วนตัวร่วมเดินทางไปกับผู้อื่น นวัตกรรมล้ำยุค เช่น รถยนต์พลังงานไฟฟ้า เป็นอีกทางเลือกเพื่อลดโลกร้อน
  • การโค่น ตัด เผาทำลายป่าเป็นอีกสาเหตุหลักที่ส่งผลให้อุณหภูมิในชั้นบรรยากาศสูง ผืนป่าเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ การปลูกป่าไม่ต้องลงทุนมากแต่สามารถช่วยลดโลกร้อน
  • การใช้พลังงานสะอาดเพื่อทดแทน ช่วยลดคลื่นความร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น พลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานลม ล้วนเป็นแหล่งพลังงานสะอาดและยั่งยืน ลดคาร์บอนไดออกไซด์
  • บริโภคเนื้อวัวให้น้อยลง ฟาร์มเลี้ยงวัว คือแหล่งปล่อยก๊าซมีเทนสู่บรรยากาศ เนื่องจากมูลของสัตว์ที่ขับถ่ายออกมารวมกันจะก่อให้เกิดก๊าซมีเทน (ก๊าซมีเทนเกิดจากการหมักย่อยอาหารของสัตว์เคี้ยวเอื้อง) ก๊าซไนตรัสออกไซด์เกิดจากใช้ปุ๋ยไนโตรเจนในแปลงปลูกพืชอาหารสัตว์ ดังนั้นการรับประทานผักให้มากขึ้น ทานเนื้อวัวให้น้อยลง ลดการกินทิ้งกินขว้าง เพราะเศษอาหารและของที่บูดเน่า เมื่อไปทับถมอยู่ที่กองขยะจะกลายเป็นแหล่งผลิตก๊าซมีเทน
  • เลือกใช้พลังงานทดแทนเพื่อการบริโภคในครัวเรือนให้มากขึ้นพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ก๊าซชีวภาพจากขยะทางการเกษตรหรือเศษอาหารจากครัวเรือน ไบโอดีเซล เป็นพลังงานทางเลือกซึ่งสามารถผลิตได้จากพืชและไขมันสัตว์

รูป: อินเดียเผชิญคลื่นร้อน อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส
ที่มา: https://www.bbc.com/news/world-asia-india-61242341 สืบค้นเมื่อ 9 พฤษภาคม 2566

นโยบายเพื่อหยุดสภาวะโลกร้อน

สภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นเพราะมนุษย์เพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกมากจนเกินไป หากเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โลกจะกลับสู่สภาวะที่สมดุลได้อย่างรวดเร็ว ตามมาตรการ ดังนี้

  • ใช้ก๊าซธรรมชาติทดแทนถ่านหินและน้ำมันในกระบวนการผลิตและการขนส่ง เพื่อลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
  • ใช้พลังงานทดแทน เช่น แสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล (สารอินทรีย์ที่ได้จากพืชและสัตว์)
  • ฟื้นฟูสภาพป่าที่เสื่อมโทรม ปลูกป่าเพิ่มเติม
  • ศึกษาและปรับปรุงวิธีการใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมกับชนิดของพืช
  • ใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพทั้งในภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมและครัวเรือน
  • เพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคม โดยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ทดแทนการใช้เชื้อเพลิง หรือปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องยนต์
  • เพิ่มการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน

รักษ์โลกต้องคุ้มครองโลก


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th