The Prachakorn

สุขภาพแม่...จุดเริ่มต้นของการเกิดที่มีคุณภาพ


มนสิการ กาญจนะจิตรา

23 เมษายน 2561
432



การส่งเสริมการเกิดที่มีคุณภาพ ต้องเริ่มจากสุขภาพที่ดีของแม่ เมื่อแม่มีสุขภาพดี คุณภาพการตั้งครรภ์และการเกิดจะมีแนวโน้มดีตามไปด้วย ปัจจุบันสุขภาพแม่ของประเทศไทยอยู่ในระดับน่าพอใจหากเปรียบเทียบกับเกณฑ์สากล แต่ยังคงมีความท้าทายด้านความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มประชากร

ตัวชี้วัดสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพแม่ ได้แก่ อัตราส่วนการตายมารดา หรือจำนวนการตายของผู้หญิงที่มีสาเหตุมาจากการตั้งครรภ์และการคลอดในหนึ่งปี โดยนับเป็นอัตราส่วนต่อการเกิดมีชีพ 100,000 รายในปีนั้น อัตราส่วนการตายมารดา เป็นตัวเลขสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงต่อการตายเมื่อผู้หญิงตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงสุขภาพโดยรวมของผู้หญิง และการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพในประเทศนั้นๆ

อัตราส่วนการตายมารดาเป็นตัวชี้วัดที่มีความสำคัญในระดับสากล ภายใต้การนำขององค์การสหประชาชาติ ใน “เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ” (Millennium Development Goals –MDGs) ที่ได้สิ้นสุดลงไปแล้วนั้น ได้ตั้งเป้าให้แต่ละประเทศลดอัตราส่วนการตายมารดาให้ได้ร้อยละ 75 ภายในปี 2558 ต่อมาใน “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development Goals – SDGs) ก็ได้กำหนดเป้าหมายในการลดอัตราส่วนการตายมารดาทั่วโลกให้เหลือต่ำกว่า 70 คนต่อการเกิดมีชีพ 100,000 คน ภายในปี 2573

สำหรับประเทศไทย อัตราส่วนการตายมารดาในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเป้าหมายสากลนี้แล้ว คือที่ 24.6 คนต่อการเกิดมีชีพ 100,000 คน แต่ประเทศไทยได้ตั้งเป้าของประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาสุขภาพตามกลุ่มวัย กระทรวงสาธารณสุขไว้ที่ 15 คนต่อการเกิดมีชีพ 100,000 คน ซึ่งหากยึดตามเป้านี้แล้ว ประเทศไทยยังคงไม่บรรลุเป้าหมาย

ที่มา:

(1) แบบรายงานการตรวจราชการระดับจังหวัด ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559

(2) Chandoevwit et al. 2016. “Improving the measurement of maternal mortality in Thailand using multiple data sources”.  Population Health Metrics 2016, 14:16

(3) Trends in Maternal Mortality: 1990 to 2015; Estimates by WHO, UNICEF, UNFPA, World Bank Group and the United Nations Population Division

ความน่าเชื่อถือในความถูกต้อง ครบถ้วนของข้อมูล ยังคงเป็นความท้าทายของประเทศไทย การจัดเก็บและรายงานตัวเลขจากแต่ละแหล่งยังมีความแตกต่างกันอยู่ ข้อมูลอัตราส่วนการตายมารดาในปัจจุบันมาจาก 2 แหล่งหลัก ได้แก่ สถิติสาธารณสุข สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ และการสำรวจของสำนัก

ส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย (นอกจาก 2 แหล่งหลักนี้แล้ว ยังมีงานศึกษาอื่นๆ ด้วย เช่น งานของ Chandoevwit et al. 2016 ที่ใช้ข้อมูลการรายงานจากกระทรวงสาธารณสุข และข้อมูลผู้ป่วยในของสวัสดิการข้าราชการและสวัสดิการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และการประมาณการของ WHO, UNICEF, UNFPA, World Bank Group และ UNPD) อย่างไรก็ตาม จะสังเกตเห็นได้ว่า ข้อมูลจากแต่ละแหล่งในปัจจุบันมีแนวโน้มใกล้เคียงกันมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงการจัดเก็บข้อมูลที่แม่นยำมากขึ้น

ในด้านสาเหตุการตายมารดานั้น โดยทั่วไปสามารถแบ่งได้เป็นสาเหตุการตายทางตรงและทางอ้อม สาเหตุการตายทางตรง หมายถึง การตายที่มีสาเหตุจากอาการแทรกซ้อนทางสูติกรรม ในระยะตั้งครรภ์ คลอด และหลังคลอด เช่น การตกเลือด ความดันโลหิตสูง น้ำคร่ำอุดตันในกระแสเลือด การติดเชื้อในกระแสเลือด และการแท้ง ซึ่งสาเหตุการตายทางตรงนี้คิดเป็นร้อยละ 57 ของการตายมารดาไทยทั้งหมดในปี 2556 และเป็นการตายที่สามารถป้องกันได้ หากได้รับการดูแลและรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที ส่วนสาเหตุการตายทางอ้อม หมายถึง การตายที่มีสาเหตุจากโรคที่เกิดก่อนการตั้งครรภ์ ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการตั้งครรภ์ แต่ภาวะการตั้งครรภ์มีผลให้อาการรุนแรงขึ้นได้ เช่น การติดเชื้อเอชไอวี โรคทางจิต และโรคอ้วน เป็นต้น ซึ่งสาเหตุการตายทางอ้อมมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าสาเหตุการตายทางตรง มาตรการและนโยบายที่มุ่งเน้นการลดอัตราการตายมารดาจึงไม่ควรมองข้ามสาเหตุการตายทางอ้อมนี้ด้วย

ถึงแม้ว่าปัจจุบันการเกิดคลอดเกือบทั้งหมดทำโดยบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นการป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการคลอดได้ดี แต่ในเรื่องการฝากครรภ์นั้น หญิงตั้งครรภ์ในประเทศไทยมีเพียงร้อยละ 57 ที่ฝากครรภ์ต่อเนื่องครบ 5 ครั้งตามเกณฑ์ นอกจากนั้น การตายมารดาของไทยยังคงมีความเหลื่อมล้ำ. หากจำแนกตามภาคจะพบว่ากรุงเทพมหานครมีอัตราส่วนการตายมารดาต่ำที่สุดที่ 18.9 คน ขณะที่ภาคใต้มีอัตราส่วนสูงสุดถึง 32.3 คนต่อการเกิดมีชีพ 100,000 คน ความท้าทายของประเทศไทยในการลดอัตราส่วนการตายมารดา คือการบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพให้กับประชาชน และทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน


เอกสารอ้างอิง

โครงการสุขภาพคนไทย. 2560. สุขภาพคนไทยกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน. สุขภาพคนไทย 2560 (หน้า 82-83). นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

** จดหมายข่าวฉบับย้อนหลัง  ปีที่ 37 ฉบับที่ 6  สุขภาพแม่...จุดเริ่มต้นของการเกิดที่มีคุณภาพ

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th