The Prachakorn

มิติเพศที่หลากหลายในสังคมไทย


นิพนธ์ ดาราวุฒิมาประกรณ์

16 มิถุนายน 2566
1,089



คำนิยาม หรือคำศัพท์ที่ใช้สำหรับเรียกกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศของสังคมไทย จากในอดีตกว่า 50 ปีที่ผ่านมา อาจจะมีเพียงไม่กี่คำ เช่น กะเทย เสือไบ แต่ในปัจจุบัน ได้มีการให้คำนิยาม หรือการเกิดขึ้นของคำศัพท์ใหม่ๆ เป็นจำนวนมาก

ตัวย่อภาษาอังกฤษ LGBTIQN+ ที่เป็นสัญลักษณ์ที่ใช้แสดงถึงความเป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ได้ถูกปรับและนำมาใช้ให้มีความหมายตามบริบทของสังคมไทย ดังนี้

  • Lesbian: หญิงรักหญิง บุคคลที่มีความพึงพอใจทางเพศกับคนที่มีเพศสภาพเดียวกัน มักใช้กับผู้หญิง
  • Gay: ชายรักชาย บุคคลที่มีความพึงพอใจทางเพศกับคนที่มีเพศสภาพเดียวกัน มักใช้กับผู้ชาย
  • Bisexual: คนรักสองเพศ บุคคลที่มีความพึงพอใจทางเพศได้ทั้งกับผู้หญิง หรือผู้ชาย หรือเพศอื่นๆ
  • Transgender: คนข้ามเพศ บุคคลที่มีอัตลักษณ์ หรือการแสดงออกทางเพศแตกต่างจากเพศที่กำหนดให้เมื่อแรกเกิด
  • Intersex: คนที่มีเพศกำกวม บุคคลที่เกิดมาพร้อมกับการมีอวัยวะเพศทั้งหญิงและชายตั้งแต่เกิด
  • Queer: เควียร์ บุคคลที่มีลักษณะทางเพศอื่นๆ และไม่ต้องการนิยามตนเองด้วยอัตลักษณ์ทางเพศในทุกรูปแบบ
  • Non-binary: นอนไบนารี บุคคลที่ไม่ต้องการนิยามตนเองด้วยอัตลักษณ์ทางเพศจากฐานการแบ่งเพศที่มีเพียง 2 เพศ ชายหรือหญิงเท่านั้น

การที่ LGBTIQN+ มีการใส่สัญลักษณ์เครื่องหมาย + เพิ่มเข้าไปด้วย เพื่อแสดงให้เห็นว่าความหลากหลายทางเพศไม่หยุดนิ่งหรือตายตัว แต่สามารถลื่นไหลเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา1, 2

มิติเรื่องเพศในงานวิจัยทั่วไปมักจะมีคำถามเกี่ยวกับเพศของผู้ตอบแบบสอบถามเพียงมิติเดียว คือมีคำตอบให้เลือกเพียง หญิงหรือชาย โดยมีนัยยะที่มุ่งเน้นที่ถามเกี่ยวกับเพศสรีระเท่านั้น งานวิจัยในประเด็นเฉพาะควรจะให้ความสำคัญและมีความละเอียดอ่อนมากขึ้น ด้วยการเพิ่มคำถามเรื่องเพศในมิติต่างๆ เพื่อช่วยผู้ตอบได้เลือกคำตอบได้ตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด และยังช่วยให้ผู้ที่ศึกษาได้เข้าใจถึงมิติเรื่องเพศและกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ การตั้งคำถามเรื่องเพศจึงควรครอบคลุมทุกมิติทั้ง เรื่องเพศสรีระ อัตลักษณ์ทางเพศ และรสนิยมทางเพศ โดยอาจจะมีคำตอบให้เลือกตอบได้มากขึ้น เช่น ชาย หญิง ทอม ดี้ หญิงรักหญิง เกย์ หญิงข้ามเพศ/กะเทย/สาวประเภทสอง ชายข้ามเพศ เควียร์ นอนไบนารี่ และอื่นๆ เพราะความแตกต่างหลากหลายทางเพศ คือ ปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความแตกต่างหรือ ความไม่เท่าเทียมในด้านต่างๆ ในสังคมด้วยเช่นกัน

การรับรู้และเข้าใจในมิติเพศและความหลากหลายทางเพศของคนในสังคม จะนำไปสู่ความเป็นธรรมและความเท่าเทียมทางเพศ ช่วยลดปัญหาความไม่เท่าเทียม การเลือกปฏิบัติ รวมถึง อคติทางเพศ เพราะการแสดงออกของคนที่มีลักษณะภายนอกเหมือนกันนั้นอาจมีอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างกันได้ คนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศเดียวกัน ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีเพศวิถีเหมือนกัน การรับรู้ การนิยามตัวตน การแสดงออก และพฤติกรรมทางเพศของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันออกไป ตามปัจเจกบุคคลที่สามารถลื่นไหลและเปลี่ยนแปลงไปมาได้เมื่อช่วงเวลาหรือสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป

การที่สังคมไทยมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศที่ลึกซึ้งเพิ่มขึ้น จะสามารถช่วยกระตุ้นให้สังคมมีความตระหนักถึงเรื่องสิทธิส่วนบุคคล ตลอดจนนำไปสู่การปฏิบัติที่เคารพความเหมือนที่แตกต่างในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกันได้ อีกทั้งยังสามารถช่วยให้กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศไม่ถูกเลือกปฏิบัติเพียงเพราะอัตลักษณ์ทางเพศและเพศวิถีที่แตกต่าง กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศได้รับการปกป้องคุ้มครองสิทธิด้านต่างๆ สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขเช่นเดียวกันกับทุกเพศในสังคมไทย

รูป: คำศัพท์ความหลากหลายทางเพศ


  1. บุษกร สุริยสาร. (2557). อัตลักษณ์และวิถีทางเพศในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: องค์การแรงงานระหว่างประเทศ.
  2. ชเนตตี ทินนาม, โกสุม โอมพรนุวัฒน์, รัตนา ด้วยดี. (2564). ยุทธศาสตร์สุขภาวะ LGBTIQN+ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เดือนตุลา จำกัด.

Tags :

CONTRIBUTOR
นิพนธ์ ดาราวุฒิมาประกรณ์
ชื่อเล่น กะเหรี่ยง และ คาเรน ปัจจุบันคิดว่าตัวเอง เป็นนักวิจัยที่สนใจทำงานในกลุ่มประชากรเฉพาะที่เข้าถึงยาก เป็นนักกีฬาวอลเลย์บอลที่ยังคงเล่นมาตั้งแต่สมัยประถมมาจนถึงปัจจุบัน และก็ยังเป็นนักท่องเที่ยวในเวลาเดียวกัน แต่โดยรวมคิดว่าน่าจะหนักไปทางนักท่องเที่ยวซะมากกว่า เพราะหากมีเวลาว่างเมื่อไหร่ ก็มักค้นหาข้อมูลสถานที่ต่างๆ ที่ยังไม่เคยไป แล้วก็คอยส่องหาตั๋วเครื่องบินราคาถูก ชอบวางแผนการเดินทางตลอดเวลา เพราะคิดว่าตอนนี้ยังอยู่ในวัยที่ร่างกายยังแข็งแรงยังพร้อมที่จะเดินทางไปได้ทุกที่ และคิดอยู่เสมอว่าก่อนที่ร่างกายจะเดินทางไปไม่ไหว ดังนั้นจึงขอออกไปท่องโลกกว้างให้ได้มากที่สุดเท่าที่ชีวิตนี้จะทำได้ ไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศ เพราะคิดว่าเราเกิดมาเพียงครั้งเดียว เมื่อการท่องเที่ยวทำให้เรามีความสุข เราก็ขอทำต่อไปในแบบของเราไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร (YOLO : You only live one )


Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th