The Prachakorn

อย่าวางเฉยกับอันตรายของฝุ่นควัน


กัญญาพัชร สุทธิเกษม

06 กรกฎาคม 2566
514



ทุกวันนี้ ฝุ่นละอองและหมอกควันจากการเผาอยู่ใกล้ตัวเรามากจนทำให้เรารู้สึกคุ้นเคยและกลายเป็นความเคยชิน แต่การสูดลมหายใจที่มีฝุ่นควันอยู่ทุกวันนั้นมีอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก แม้ว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทยโดยรวมดูเหมือนสถานการณ์จะดีขึ้น แต่เมื่อถึงฤดูแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง กลับพบว่าระดับ PM2.5 สูงถึง 4 เท่าของระดับปลอดภัยที่แนะนำโดยองค์การอนามัยโลก(WHO แนะนำ PM2.5 ไม่ควรเกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรใน 24 ชั่วโมง)

ในประเทศไทยพืชเศรษฐกิจที่มีการจัดการเศษวัสดุด้วยการเผามากที่สุด คือกลุ่มข้าวและอ้อย ที่มีถึงร้อยละ 83 โดยตั้งแต่ปี 2555 พบว่า เศษวัสดุของข้าวมีแนวโน้มลดลง แต่เศษวัสดุของอ้อยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจเกิดจากนโยบายภาครัฐที่สนับสนุนการใช้พลังงานจากพืชมาผลิตเป็นพลังงานทดแทน และสนับสนุนการเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกข้าวไปปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นแทน ส่งผลให้พื้นที่การเพาะปลูกข้าวลดลงและเปลี่ยนไปเป็นพื้นที่ปลูกอ้อยเพื่อผลิตและกลั่นเป็นเอทานอลมากขึ้น

ข้อมูลในปี 2564/2565 พบว่า นครสวรรค์ กำแพงเพชร และกาญจนบุรี เป็นสามจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกอ้อยมากที่สุดของประเทศ เกษตรกรชาวไร่อ้อยเกือบ 100% ในจังหวัดกาญจนบุรีเผาใบอ้อยและตอต้นอ้อยหลังเก็บเกี่ยวเพื่อรื้อตอของต้นอ้อยในการปลูกครั้งใหม่ เนื่องจากใบอ้อยที่เหลืออยู่ทั่วบริเวณเพาะปลูกเป็นอุปสรรคต่อการไถพลิกดินเพื่อการปลูกครั้งใหม่ การเตรียมหน้าดินโดยวิธีการอื่นๆ สามารถทำได้ แต่ก็มีต้นทุนที่สูงและใช้เวลามากกว่าการเผาทิ้ง ส่งผลให้ต้นปี 2563 พื้นที่นี้มีค่าฝุ่นสูงเกินมาตรฐาน 163 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าสาเหตุหนึ่งมาจากการเผาใบอ้อยนั่นเอง ที่มักจะเกิดในช่วงปลายปียาวไปจนถึงเดือนเมษายน ปัญหาคุณภาพอากาศยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ ณ สถานีอุตุนิยมวิทยากาญจนบุรี ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมืองกาญจนบุรี ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2564 ปริมาณ PM2.5 มีค่า 59 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินค่ามาตรฐาน อยู่ในระดับสีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพ

 
รูป: ควันที่เกิดจากการเผาอ้อย
ที่มา: https://mgronline.com/local/detail/9640000123877 สืบค้นเมื่อ 23 พฤษภาคม 2566

ละอองฝุ่น PM2.5 ส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบหายใจ ในขณะที่กำลังเผาและหลังจากเผาใบอ้อยแล้วมักทำให้ผู้ที่อยู่ใกล้เคียงมีอาการระคายเคืองตาหรือแสบตา ไอ จามหายใจลำบาก นอกจากนี้ ยังทำให้มีอาการของโรคผิวหนัง เป็นผื่นแดงหรือมีตุ่มน้ำใสอีกด้วย การวิจัยเรื่องภัยในหน้าหนาวจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) พบว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 นับเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ มีผลต่อการลดอายุขัยเฉลี่ยของประชาชน และเป็นสาเหตุสำคัญของการเข้าโรงพยาบาลด้วยอาการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ มากขึ้น รวมไปถึงสร้างภาระโรคให้กับผู้ที่เจ็บป่วยอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจ และโรคมะเร็งปอด เป็นต้น1

ที่ผ่านมารัฐบาลมีมาตรการแก้ปัญหาการเผาในภาคการเกษตรเพื่อลดปริมาณฝุ่น PM2.5 หลายมาตรการ แต่ในทางปฏิบัติยังไม่ได้ผลตามเป้าหมายนัก เนื่องจากปัญหาการเผาอ้อยของเกษตรกรเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน มีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายที่เข้ามามีบทบาท ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน เกษตรกร ผู้ประกอบการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และบางแห่งอาจมีภาคประชาสังคมร่วมด้วย2

ผู้เขียนจึงได้พัฒนางานวิจัยเรื่อง “การพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมของเกษตรกรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อลดการเผาอ้อยและเศษวัสดุในไร่อ้อย จังหวัดกาญจนบุรี” ขึ้น โดยมีเป้าหมายที่จะฉายภาพผู้ที่มีบทบาทตลอดห่วงโซ่ของการปลูกอ้อยโรงงานอย่างเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การค้นหาแนวทางที่เหมาะสมกับพื้นที่ซึ่งถูกพัฒนาโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ เพื่อลดการเผา ด้วยการวิเคราะห์ปัญหาและความเชื่อมโยงของสาเหตุและผลที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบของการเผาอ้อยในจังหวัดกาญจนบุรีจะถูกวิเคราะห์และนำเสนอผ่านเครื่องมือ “วงรอบเหตุและผล” (causal loop diagram) รวมถึงทฤษฎีการแพร่กระจายนวัตกรรม (theory of diffusion of innovations) และทฤษฎีการมีส่วนร่วมเพื่อจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้เป็นเครื่องมือวิเคราะห์และค้นหามาตรการทางเลือกในการแก้ปัญหาแบบมีส่วนร่วมกับผู้เกี่ยวข้องต่อไป

ความคืบหน้าของงานวิจัยนี้จะเป็นอย่างไร ผู้เขียนจะเล่าให้ฟังในโอกาสหน้า


  1. ธิดารัตน์ ผลพิบูลย์, อิสรีย์ฐิกา ชัยสวัสดิ์ และ อนุวัตร รุ่งพิสุทธิพงษ์. (2014). ภัยในหน้าหนาวจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5). EAU Heritage Journal Science and Technology, 8(1), 40–46. https://he01.tci-thaijo.org/index.php/EAUHJSci/article/view/25502. สืบค้นเมื่อ 9 พฤษภาคม 2566
  2. วรรณวิไล สนิทผล. (3 กุมภาพันธ์ 2564). กาญจนบุรี สถานการณ์ฝุ่นละออง pm2.5. สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์. https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG210203160647935 สืบค้นเมื่อ 9 พฤษภาคม 2566

Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th