The Prachakorn

บุหรี่ไฟฟ้า ความท้าทายในการรณรงค์เพื่อลดการสูบบุหรี่


มนสิการ กาญจนะจิตรา

23 มิถุนายน 2566
400



การสูบบุหรี่เป็นพฤติกรรมเสี่ยงที่ส่งผลต่อสุขภาพ ทั้งต่อผู้สูบ ครอบครัว ชุมชน และสาธารณะ การสูบบุหรี่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของตัวผู้สูบโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงหลอดเลือดสมองตีบ ความเสี่ยงต่อปอดและระบบทางเดินหายใจ และความเสี่ยงสารพัดโรคมะเร็ง การสูบบุหรี่ 1 มวน อาจทำให้อายุสั้นลงได้ถึง 7 นาที1 นอกจากนี้ ควันบุหรี่มือสองของผู้สูบ ทำให้คนรอบตัวต้องรับสารพิษเข้าไป และยังมีควันบุหรี่มือสาม ที่เป็นควันตกค้างตามสถานที่และสิ่งของที่อยู่ในสภาพแวดล้อมของผู้สูบ2

การสูบบุหรี่ของคนไทยมีแนวโน้มลดลง ในปี 2564 อัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยอยู่ที่ร้อยละ 17.4 ซึ่งลดลงจากเมื่อราว 10 ปีที่แล้วที่ร้อยละ 21.43 ถึงแม้แนวโน้มการสูบบุหรี่ของคนไทยจะลดลงในหลายปีที่ผ่านมา แต่การรณรงค์เพื่อลดอัตราการสูบบุหรี่ในประเทศไทยขณะนี้มีความท้าทายใหม่เข้ามา นั่นคือ บุหรี่ไฟฟ้า ที่อาจทำให้อัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยกลับเพิ่มสูงขึ้นได้

รูปจาก freepik.com

ในวันงดสูบบุหรี่โลกเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้แสดงจุดยืนในการรณรงค์การไม่สูบบุหรี่โดยเน้นความสำคัญไปที่บุหรี่ไฟฟ้า ประเด็นสำคัญที่ได้กำหนดไว้ในวันงดสูบบุหรี่โลกครั้งนี้ คือ “บุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษ เสพติดอันตราย” เพื่อมุ่งเน้นให้ประชาชน รวมถึงเด็กและเยาวชน รับรู้และตระหนักถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า

บุหรี่ไฟฟ้า มีรูปลักษณ์และภาพลักษณ์ที่แตกต่างและแปลกใหม่จากบุหรี่ทั่วไป และมีทางเลือกกลิ่นต่างๆ ที่น่าดึงดูดและน่าลิ้มลอง สำหรับผู้ที่สูบบุหรี่ทั่วไปอยู่แล้ว มีจำนวนไม่น้อยมีความเชื่อที่ผิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นทางเลือกในการเลิกบุหรี่ ในขณะที่ผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ อาจมีแนวโน้มอยากลองบุหรี่ไฟฟ้ามากกว่าบุหรี่ทั่วไป บุหรี่ไฟฟ้าจึงเป็นอีกช่องทางที่ทำให้เกิดนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้น

นอกจากความน่าดึงดูดใจในแง่ภาพลักษณ์ของบุหรี่ไฟฟ้าที่แตกต่างจากบุหรี่ทั่วไปแล้ว คนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไป แต่ในความเป็นจริง น้ำยาและไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้า ประกอบด้วยสารเคมีหลายชนิดที่เป็นอันตรายต่อผู้สูบในระยะยาว บุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินทำร้ายสมอง ทำให้เซลล์สมองอักเสบ ยิ่งในคนอายุต่ำกว่า 25 ปี จะกระทบต่อพัฒนาการสมอง มีฟอร์มาลดีไฮด์ ที่ทำลายเยื่อบุทางเดินหายใจ และเซลล์เยื่อบุทั่วร่างกาย เสี่ยงเกิดมะเร็งได้หากได้รับต่อเนื่อง มีโพรไพลีนไกลคอน ทำร้ายดวงตา และมีสารหนู ที่ส่งผลต่อระบบไหลเวียนเลือด4

ในประเทศไทย บุหรี่ไฟฟ้ากำลังเริ่มได้รับความนิยม โดยเฉพาะในบางกลุ่มประชากร เช่น คนในกรุงเทพมหานคร และภาคกลาง และกลุ่มคนอายุ 15-24 ปี3 และในอนาคตอาจเพิ่มความนิยมในกลุ่มประชากรอื่นๆ ได้ ดังนั้น จึงควรทำความเข้าใจถึงมุมมองและความคิดเห็นของคนต่อบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อเป็นฐานในการรณรงค์ในการลดการใช้หรือการทดลองสูบบุหรี่ไฟฟ้า

ประเด็นหนึ่งที่อาจมีความเกี่ยวข้องกับการลองบุหรี่ไฟฟ้า คือ ความเชื่อที่ว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไป ในภาพรวม ประชากรไทยราวร้อยละ 11 เชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไป และหากพิจารณาในแต่ละกลุ่มอายุ จะพบว่ากลุ่มอายุ 15-24 ปี เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนที่คิดเห็นว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไปมากที่สุด ที่ร้อยละ 13.1 เปรียบเทียบกับกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปที่ร้อยละ 9.1 (รูป  1)5


รูป 1 สัดส่วนความคิดเห็นของประชากรไทยต่ออันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า จำแนกตามกลุ่มอายุ
ที่มา: รายงานสุขภาพคนไทย 2566, สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่พบว่า ความคิดเห็นเกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าเกี่ยวข้องกับการใช้บุหรี่ไฟฟ้าจริง โดยเยาวชนอายุ 15-24 ปี ที่คิดเห็นว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไป มีแนวโน้มเป็นผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้ามากกว่าเยาวชนที่คิดเห็นว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายกว่าบุหรี่ทั่วไปถึงเกือบ 9 เท่า6 ซึ่งงานวิจัยอื่นที่ทำในสหรัฐอเมริกาก็พบว่าเยาวชนที่มองว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีความปลอดภัยกว่าบุหรี่ทั่วไป มีแนวโน้มสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงกว่าเช่นกัน

ถึงแม้งานวิจัยนี้ จะไม่สามารถยืนยันได้ว่าความคิดเห็นเรื่องการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไปนั้น คือต้นเหตุที่ทำให้คนใช้บุหรี่ไฟฟ้า แต่งานวิจัยนี้สามารถแสดงถึงความเกี่ยวข้องกันได้ ซึ่งเพียงพอสำหรับการตั้งเป้าหมายในการรณรงค์เพื่อลดการใช้บุหรี่ไฟฟ้า และการเน้นย้ำความรู้เกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องรณรงค์ควบคู่ไปกับมาตรการอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมอัตราการสูบบุหรี่ของประเทศไทยต่อไปในอนาคต


อ้างอิง

  1. Digital Object Library, (16 เมษายน 2563). โทษของบุหรี่. เข้าถึงจาก https://dol.thaihealth.or.th/Media/Index/7d4aefe8-c77f-ea11-80ea-00155d09b41e
  2. สำนักพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. (ตุลาคม 2564). ทิศทางและเป้าหมายระยะ 10 ปี (พ.ศ. 2565-2574) กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. เข้าถึงจาก https://www.thaihealth.or.th/about-thaihealth/
  3. การสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากร 2564, สำนักงานสถิติแห่งชาติ
  4. ข้อมูลจาก หมอพร้อม เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2566
  5. สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. (มีนาคม 2566). รายงานสุขภาพคนไทย 2566 : คำสัญญาของไทยใน “คอป” (COP: Conference of Parties) กับการรับมือ “โลกรวน”. เข้าถึงจาก https://www.thaihealthreport.com/th/index.php
  6. ความสัมพันธ์ระหว่างความคิดเห็นต่ออันตรายของ บุหรี่ไฟฟ้าและพฤติกรรมการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของ เยาวชนไทยอายุ 15-24 ปี. วารสารการสร้างเสริมสุขภาพไทย. ปีที่ 1 ฉบับที่ 4 ตุลาคม - ธันวาคม 2565. เข้าถึงจาก https://thpjournal.thaihealth.or.th/archive

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th