The Prachakorn

คนไร้บ้านในสิงคโปร์


อมรา สุนทรธาดา

21 สิงหาคม 2566
754



ภาพลักษณ์ประเทศสิงคโปร์ที่ทั่วโลกคุ้นเคยคือ ความเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจและความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีติดอันดับโลก ค่าครองชีพสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก มีกฎหมาย และระเบียบการใช้พื้นที่สาธารณะที่เข้มงวด

สิงคโปร์มีพื้นที่เพียง 728.6 ตารางกิโลเมตร สำหรับประชากรประมาณ 5.5 ล้านคน (สำมะโนประชากรปีล่าสุด 2020) แบ่งตามสัญชาติประกอบด้วย สัญชาติจีน ร้อยละ 46 มลายู ร้อยละ 16 และอินเดีย ร้อยละ 11 สิงคโปร์มีขนาดพื้นที่จำกัดสำหรับเกษตรกรรม จำเป็นต้องนำเข้าสินค้าเพื่อการบริโภคจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย ซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าอาหารอันดับ 1 ของสิงคโปร์

นโยบายการพัฒนาประเทศเน้นเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียและระดับโลก มีทั้งผลดีและสร้างปัญหาด้านสังคมมากมาย เช่น ปัญหาคนไร้บ้านที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะประชากรสูงอายุไม่มีเงินสะสมเพียงพอเพื่อการเช่าที่อยู่หรือมีบ้านเป็นของตนเอง

ปัญหาระดับประเทศที่มีสาเหตุหลักจากการพัฒนาเพื่อการเติบโตสำหรับเศรษฐกิจระดับมหภาคระดับชาติและนานาชาติ เน้นความหรูหราเชิงกายภาพของอาคารสูงเสียดฟ้าราคาแพงสุดเอื้อมในขณะที่ประชาชนที่มีรายได้น้อยและการจ้างงานไม่แน่นอน มีพื้นที่สำหรับการอยู่อาศัยเพียงห้องเช่าขนาด 13 ตารางฟุต ที่รัฐบาลลงทุนโดยผู้เช่าต้องจ่ายค่าเช่าให้รัฐบาลเท่าที่มีจ่าย

แม้ว่าการใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของคนไร้บ้านไม่ผิดกฎหมาย ยกเว้นกรณีที่มีหลักฐานชัดเจนว่าขอเงินผู้อื่นในที่สาธารณะเพื่อเลี้ยงชีพ มีค่าปรับฐานละเมิดกฎหมาย 78,000 บาทและโทษจำคุก 2 ปี รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือด้านสวัสดิการสำหรับคนไร้บ้านในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม กระทรวงพัฒนาสังคมและครอบครัว  (Ministry of Social and Family Development) เป็นหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบโดยตรงไม่มีข้อมูลหรือประสบการณ์ที่เกี่ยวกับเทคนิคการวิเคราะห์และดัชนีชี้วัดเส้นแบ่งความยากจน มีเพียงเกณฑ์กว้างๆ เท่านั้น เพื่อใช้กำหนดลักษณะพื้นฐานกลุ่มประชากรที่เข้าข่ายเป็นผู้ยากไร้ เช่น ครัวเรือนที่มีสมาชิกครอบครัวไม่น้อยกว่า 4 คน มีรายได้ต่ำกว่า 32,500 บาท ต่อเดือน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือนในครอบครัวสำหรับอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัย จะเข้าข่ายครอบครัวยากจน

รูป: คนไร้บ้านในสิงคโปร์
ที่มา: https://www.todayonline.com/singapore/about-1000-homeless-people-sleeping-rough-
singapore-first-ever-study-finds สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2566


นอกจากความช่วยเหลือดังกล่าวแล้ว รัฐบาลใช้แผนปฏิบัติงานลงพื้นที่สำรวจคนไร้บ้านร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายภาคเอกชนที่ไม่แสวงผลประโยชน์ เช่น องค์กรศาสนาที่ให้การช่วยเหลือที่อยู่อาศัยเป็นการชั่วคราวสำหรับผู้มีรายได้น้อย มีอาสาสมัครขององค์กรต่างๆ ลงสำรวจพื้นที่และพูดคุยกับคนไร้บ้าน พร้อมให้ความช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้ เช่น ให้ข้อมูลหรือหมายเลขโทรศัพท์กรณีที่ต้องการความช่วยเหลือ

    ข้อมูลจากการสำรวจระดับประเทศทั้ง 2 รอบ ในปี 2019 และ 2022 พบกลุ่มคนไร้บ้าน ดังนี้

  • ขัดแย้งกับสมาชิกภายในครอบครัวจนถึงขั้นรุนแรงโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องออกจากบ้าน
  • กลุ่มผู้สูงอายุและมีปัญหาสุขภาพ
  • ผู้ที่ขอพักอาศัยกับเพื่อนสนิทเป็นการชั่วคราว
  • ผู้ที่ไม่มีงานประจำหรือมีรายได้ต่ำ
  • กรณีเป็นคนไร้บ้านเพราะค่าเช่าบ้านราคาสูงกว่ารายได้ประจำ

การสำรวจจำนวนคนไร้บ้านระดับชาติครั้งแรกในปี 20191 ดำเนินการวิจัยโดย Lee Kuan Yew School of Public Policy/ National University of Singapore สำหรับการสำรวจครั้งที่ 2ในปี 20222 มีกระทรวงพัฒนาสังคมและครอบครัว เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง ในการสำรวจครั้งแรกในปี 2019 ใช้เวลาเก็บข้อมูล 3 เดือนวิธีการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเริ่มตั้งแต่ช่วงเวลา 23.30-02.30 น. มีพนักงานสัมภาษณ์อาสาสมัคร 480 คน ลงพื้นที่ทุกเขต รวม 298 เขตพบว่าคนไร้บ้านร้อยละ 87 เป็นผู้ชาย สำหรับการสำรวจระดับชาติครั้งที่ 2 ในปี 2022 จำนวนคนไร้บ้านลดลงร้อยละ 7 ผู้ไร้บ้านอาศัยพื้นที่ถนนและที่อยู่ชั่วคราวลักษณะอื่นๆ เป็นที่พักผ่อนหลับนอน เช่น ระเบียงทางเดินอาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า พื้นที่ว่างใกล้บาร์เบียร์ ไนต์คลับ ลานจอดรถ สำหรับการขอความช่วยเหลือ พบว่าคนไร้บ้านเพียงร้อยละ 53 เคยขอความช่วยเหลือจากชุมชนหรือภาครัฐ ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่าทำไมคนไร้บ้านเมินเฉยต่อการมีชีวิตที่ปลอดภัยและสะดวกสบาย

อย่างไรก็ตามผลการสำรวจฯ ดังกล่าวยังมีข้อจำกัดหลายประการสำหรับข้อสรุปว่าคนไร้บ้านมีจำนวนลดลงหรือเท่าเดิม เนื่องจากการสำรวจมีข้อจำกัดในการเข้าถึงและการนับจำนวนกลุ่มเป้าหมาย เพราะคนไร้บ้านย้ายสถานที่หลับนอนตลอดเวลา ไม่ได้ออกมานอนในที่สาธารณะเดิมทุกวัน รวมทั้งไม่ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูล

ลดช่องว่างในสังคมด้วยการห่วงใยคนไร้บ้าน


อ้างอิง    

  1. https://lkyspp.nus.edu.sg/research/social-inclusion-project/homelessness-street-count/key-findings
  2. https://www.msf.gov.sg/docs/default-source/research-data/report-on-street-count-of-rough-sleepers-2022.pdf

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th