The Prachakorn

เมื่อคนสูงวัยเข้าใกล้วัด


ปราโมทย์ ประสาทกุล

31 สิงหาคม 2566
1,002



เดี๋ยวนี้วันเวลาผ่านล่วงไปเร็วกว่าแต่ก่อน ประเดี๋ยววัน ประเดี๋ยวเดือน และชั่วเวลาอีกประเดี๋ยวเดียวปีหนึ่งก็จะผ่านไป

วันที่ผมเขียนบทความเรื่องนี้ (9 ก.ค. 66) วันเวลาของปี 2566 ได้ผ่านไปเกินกว่าครึ่งแล้ว อีกไม่นานก็จะถึงเทศกาลปีใหม่ 2567 พวกเราก็จะฉลองกัน ไม่อยากจะเชื่อเลยว่าตัวผมเองได้ผ่านชีวิตมานานเกิน 7 ทศวรรษแล้ว ถึงวันนี้ผมเรียกตัวเองว่าเป็นผู้เฒ่าที่อยู่ในวัยชราได้อย่างเต็มปากเต็มคำแล้ว

คนไทยเปรียบคนที่มีอายุมากๆ ว่าเป็นเหมือน “ไม้ใกล้ฝั่ง” ต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ริมตลิ่งบนฝั่งแม่น้ำ ใกล้วันเวลาที่จะโค่นลงเพราะดินที่เคยห่อหุ้มรากโคนของต้นไม้นั้นถูกกระแสน้ำกัดเซาะให้ทลายลง ไม้ใกล้ฝั่งอย่างผมก็จะต้องโค่นล้มลงน้ำไปในไม่ช้า

เมื่อคนสูงวัยต้องใกล้หมอ

โควิด-19 ทำเวลาของพวกเราหายไปราว 3 ปี ในช่วงเวลา 3 ปีที่เพิ่งผ่านมานี้ เพื่อนๆ รุ่นเดียวกับผมต้อง “รักษาระยะห่างทางสังคม” (social distancing) คืออยู่ห่างๆ กันไว้ หลีกเลี่ยงการพบปะชุมนุมกัน งานชุมนุมรุ่นประจำปีของ 3 ปีที่แล้ว ทั้งเพื่อนเรียนชั้นมัธยมและเพื่อนเรียนมหาวิทยาลัย ต้องงดไปในช่วงเวลานั้น แม้เพื่อนๆ จะพบกันบ้างเป็นกลุ่มเล็กๆ ก็ต้องนั่งอยู่ห่างๆ กันและใส่หน้ากากเข้าหากัน ไม่สามารถจะเปิดหน้าเปิดตาให้เห็นกันได้ตามปกติ

ตั้งแต่ต้นปี 2566 ผมมีเพื่อนที่เสียชีวิตไปเพราะโควิด-19 สองคน การแพร่ระบาดของโควิด-19 บรรเทาความรุนแรงลง พวกเราก็พยายามนัดพบกันเป็นกลุ่มย่อย จะนัดพบกันแต่ละครั้งก็ไม่ง่ายนักเพราะแต่ละคนพยายามลดความเสี่ยงที่ตัวเองจะติดเชื้อหรือเสี่ยงที่จะนำเชื้อโรคสายพันธุ์นี้เข้าบ้าน และสาเหตุอีกอย่างหนึ่งที่มาพบเพื่อนไม่ได้คือต้องไปพบหมอตามนัด

ผมได้ยินว่าเพื่อนๆ เกือบทุกคนมีนัดกับหมอเป็นกิจวัตร โดยเฉพาะมีนัดกับหมอตาและหมอฟัน คนในวัยผม ตากับฟันดูจะเป็นอวัยวะหลักที่เป็นเหตุให้ต้องไปพบกับหมอ ตามัวบ้าง สั้นบ้างเอียงบ้าง บางคนถึงขนาดว่าขับรถไม่ได้อีกต่อไปเพราะสายตาไม่อำนวย เหงือกและฟันเป็นอวัยวะอีกอย่างหนึ่งที่คนรุ่นวัยเดียวกับผมต้องไปมีนัดกับหมอเป็นประจำ

นอกจากตาและฟันแล้ว กระดูกและข้อต่อต่างๆ ก็เป็นปัญหาสุขภาพที่เพื่อนๆ รุ่นเดียวกับผมนิยมกันมาก อ้อ! เบาหวานและความดันโลหิตก็ไม่น้อยหน้าโรคอื่นนะครับ

เดี๋ยวนี้ดูเหมือนเพื่อนผม (เกือบ) ทุกคนต้องมีนัดกับหมอเป็นประจำทุกเดือน บางคนต้องไปหาหมอเดือนละ 2-3 ครั้งคงจะพูดได้ว่า “พวกเรายิ่งอายุมากขึ้น ก็ต้องเข้าใกล้หมอมากขึ้น” นะครับ

คนสูงวัยต้องเข้าใกล้วัด

ครึ่งปีที่ผ่านมานี้ ผมไปงานศพตามวัดต่างๆ เฉลี่ยแล้วไม่ต่ำกว่าเดือนละครั้ง เป็นงานศพของญาติ เพื่อน และผู้ที่ผมเคารพนับถือ

จำได้ว่าเมื่อ 20-30 ปีก่อน ผมไปงานแต่งงานตามโรงแรมต่างๆ บ่อยมาก เป็นงานแต่งงานของลูกๆ ของเพื่อนและของญาติพี่น้อง มาวันนี้ เปลี่ยนจากการไปงานแต่งงานตามโรงแรมมาเป็นการไปงานศพ ไม่ว่าจะเป็นการไปฟังสวดตอนค่ำหรือไปเผาศพตอนบ่าย ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่จัดขึ้นตามวัด

สิ่งที่พวกเราคงจะสังเกตเห็นคือ “ความเป็นปกติใหม่” (new normal) ของพิธีการทำศพในประเทศไทย ซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา มี “การทำพิธีศพแบบรวบรัดและรวดเร็ว” เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสชนิดนี้ และเพื่อรองรับจำนวนคนตายที่เพิ่มขึ้น

คนตายด้วยโควิด-19 ต้องจัดการเผาให้เสร็จโดยเร็วที่สุด ไม่ต้องมีการตั้งศพบำเพ็ญกุศล 5 วัน 7 วัน ตามประเพณีที่ปฏิบัติกันมา ศพจากโรงพยาบาลจะถูกห่อหุ้มอย่างมิดชิด ส่งตรงไปยังเตาเผาตามวัดที่ยินดีเผาศพที่ตายด้วยโควิด-19 เมื่อศพไปถึง วัดจะจัดการเผาทันทีโดยที่ญาติพี่น้องได้แต่ยืนดูอยู่ห่างๆ

ผมเคยคุยกับเพื่อนที่อยู่อเมริกาเกี่ยวกับการทำศพคนตายด้วยโควิด-19 เพื่อนเล่าว่าในช่วงเวลาที่การระบาดของโควิด-19 ขึ้นถึงระดับสูงสุดนั้น มีคนตายเป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่มีไม่พอที่จะจัดการกับศพ คนป่วยด้วยโรคนี้พอส่งขึ้นรถเพื่อพาไปโรงพยาบาลญาติพี่น้องก็โบกมืออำลากันได้เลย เพราะจะไม่เห็นกันอีกแล้วว่าผู้ป่วยจะได้รับการดูแลหรือไม่อย่างไร จะตายด้วยอาการอย่างไร ตายแล้วจะมีใครจัดการศพอย่างไร…
    
เดี๋ยวนี้พิธีกรรมปกติใหม่ได้เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย งานศพเพื่อนผมคนหนึ่งและญาติสนิทของผมอีกคนหนึ่ง จัดพิธีศพตั้งแต่สิ้นใจจนถึงเวลาที่เถ้าอังคารจมหายไปในสายน้ำเสร็จเรียบร้อยภายใน 4 วัน วันแรกหมดลมหายใจ วันที่สองรดน้ำศพและสวดพระอภิธรรม วันที่สามเผา วันที่สี่นำเถ้ากระดูกไปลอยในแม่น้ำที่ไม่ไกลนัก เป็นอันเสร็จพิธีโดยสมบูรณ์
 
ผมได้ยินว่าเพื่อนคนสุดท้ายที่เพิ่งจากไปเมื่อปลายเดือนที่แล้ว ต้องการให้เผาร่างของตนทันทีในวันที่สิ้นใจ แต่เพื่อนสนิทคนที่รับปากจะเป็นผู้จัดการศพให้ ได้ขอว่า “สวดสักวันเถิด ตายแล้วเผาทันทีดูจะเร็วเกินไป” เพื่อนผู้ตายจึงพยักหน้ายอมให้สวดหนึ่งวันและเผาในวันรุ่งขึ้น

ผมหวังว่าพิธีจัดการศพปกติใหม่ที่ตั้งศพบำเพ็ญกุศลน้อยวันอย่างนี้ น่าจะได้รับการยอมรับกันมากขึ้นในอนาคต

รูป: คนสูงวัยเข้าใกล้วัด
วาดโดย: นิธิพัฒน์ ประสาทกุล

สำคัญอยู่ที่การเตรียมตัวตาย

ผมชื่นชมเพื่อนที่เพิ่งตายไปสองคนล่าสุด ทั้งสองคนเตรียมการตายของตัวเองไว้อย่างดี มีการทำพินัยกรรมและทำแนวทางในการจัดการร่างของตนไว้อย่างเรียบร้อย

ผมนึกถึงศัพท์ภาษาญี่ปุ่นว่า “ซูคัตสึ” ซึ่งหมายถึงการเตรียมตัวตายใน 4 เรื่อง คือ (1) การรักษาพยาบาลในวาระสุดท้ายของชีวิต จะให้ยื้อชีวิตให้นานที่สุดหรือปล่อยให้หมดลมหายใจไปตามธรรมชาติ* (2) เมื่อเราสิ้นใจแล้ว จะให้จัดการกับร่างของเราอย่างไร (3) จะจัดการกับทรัพย์สินของเราอย่างไรและ (4) สิ่งอื่นๆ ที่จะให้ลูกหลานเก็บไว้หรือทำเป็นอนุสรณ์ การเตรียมตัวตายไว้เช่นนี้จะช่วยให้การจากไปของเราไม่เป็นภาระแก่คนที่ยังมีชีวิตอยู่

shukatsu (終活) refers to the phenomenon of preparing for one’s own demise through various practices, in particular, the writing of an ‘ending note (エンディングノート)’.

ที่มา: Heekyoung Kim. (2023). Everyday rehearsal of death and the dilemmas of dying in super-ageing Japan. Modern Asian Studies (2023), 57, 32–52

เดี๋ยวนี้ผมรู้สึกว่าเพื่อนรุ่นเดียวกับผมพูดกันถึงเรื่องการจากไปของตัวเองมากขึ้น ในหมู่เพื่อนที่เรียนมาด้วยกัน เวลาจะมีงานชุมนุมรุ่นกันก็มักจะพูดกันว่า ให้มาร่วมงานกันมากๆ เพราะเวลาของพวกเราเหลือน้อยลงแล้ว อีกไม่ช้าพวกเราก็จะต้องจากกันไป คนที่ยังอยู่ก็อาจมีสังขารที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการมาพบปะกันอีกแล้ว

เมื่ออาทิตย์ที่แล้วนี้เอง พวกเรานัดรับประทานอาหารร่วมกันเพื่อเลี้ยงต้อนรับเพื่อนที่ไปใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐอเมริกาแล้วกลับมาเมืองไทย หลังงานเพื่อนคนหนึ่ง โพสต์ในเฟซบุ๊ก ต่อไปนี้เป็นบทสนทนาระหว่างเพื่อน ที่ตัดบางช่วงบางตอนมาเป็นตัวอย่าง

เพื่อน 1 โพสต์

“ไม่ได้เจอกันนาน เพื่อนมาจากอเมริกา มาทำธุระที่เมืองไทย เรานัดกันกินข้าว ตกบ่ายคนมาจากอเมริกาง่วงนอนเพราะผิดเวลา คนชราทั้งหญิงและชายบางคนก็ง่วงนอนเพราะเลยเวลานอนกลางวัน ก่อนจากกัน บอกเพื่อนว่าแล้วเจอกันนะ เพื่อนบางคนบอกว่าถ้าอยู่ถึงนะ ฟังแล้วเศร้าแต่คือความจริง ไม่รู้ใครจะอยู่ถึงไม่ถึง บอกไม่ได้เลย”

เพื่อน 2 แสดงความคิดเห็น

“ก็แค่หลับไปไหมเพื่อนรัก วันนี้ได้พบได้คุยกันในเรื่องดีๆ สร้างสรรค์ มีบุญแล้วที่ได้พบกันเป็น        เพื่อน ไม่คิดร้ายต่อกัน ลืมตามาในทุกวัน ขอให้มีความสุขและโชคดีเสมอ ตลอดไป”

เพื่อน 1 ตอบกลับ

“ความตายก็คือการหลับยาวนะ ดีออก”

เพื่อน 2 ตอบกลับ

“หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี พระท่านว่าไว้ แต่เราอาจตื่นอีกในรูปใด ก็ไม่รู้...................................................................... เกิดเป็นมนุษย์เหมือนเป็นยนต์ยาน  อย่างหนึ่งให้จิตอาศัย หากเราไม่ห่วงสิ่งใด ถึงเวลาไปก็จะสงบดีค่ะ ...”

เพื่อนโต้ตอบกันในเฟซบุ๊กอีกหลายข้อความ แสดงให้เห็นว่าเพื่อนรุ่นผมตระหนักดีในเรื่องความตายและมี “มรณัสสติ” อยู่เสมอ

วาดโดย: นิธิพัฒน์ ประสาทกุล

 

* พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550

    มาตรา 12 บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข ที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้

    การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

    เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้ว มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th