The Prachakorn

วัยรุ่น...วุ่นได้ดังใจ


อมรา สุนทรธาดา

23 เมษายน 2561
546



ข่าวสะเทือนสังคมไทยที่สื่อเสนอเรื่องราวอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับคดี โจ๋มีดแฉลบ ปาดคอเพื่อแย่งมือถือ หรือ โจ๋ไขควง เสียบหัววัยรุ่นผู้เคราะห์ร้ายเพื่อล้างแค้นแทนเพื่อน ทำให้ทุกภาคส่วนต้องฉุกคิดอย่างรอบด้านในทุกประเด็น ตลอดจนทำความเข้าใจปัญหาวัยรุ่นที่หยั่งรากลึกและเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

พฤติกรรมความรุนแรงในวัยรุ่นส่วนใหญ่เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่มีการรวมกลุ่มกัน หรือเรียกว่าพฤติกรรมกลุ่ม อาจเป็นกลุ่มที่มีการจัดการอย่างเป็นระบบหรือการรวมตัวกันแบบหลวมๆ แล้วแต่สถานการณ์จะพาไป เช่น การเที่ยวเตร่กลางคืนเพื่อดื่มสุราหรืออาจมีการเสพยารวมอยู่ด้วย การรวมกลุ่มประลองความเร็วบนทางหลวง เป็นต้น เมื่อรวมตัวเป็นกลุ่มเป็นแก๊งค์แล้วความรุนแรงอาจเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ เช่น การโต้เถียง การกลั่นแกล้ง เยาะเย้ย หรือท้าทายที่มีผลต่อภาวะอารมณ์และจิตใจ การล่วงละเมิดทางเพศ และการทำร้ายด้วยอาวุธจนถึงขั้นเสียชีวิต อิทธิพลจากสื่อรวมทั้งสื่อสังคมที่อาจใช้ภาษาไม่เหมาะสม นับเป็นแรงผลักให้เกิดพฤติกรรมความรุนแรง นอกจากนี้ วัยรุ่นที่มาจากครอบครัวที่มีการกระทำรุนแรงต่อกันย่อมส่งผลต่อพฤติกรรมนอกบ้าน

พฤติกรรมความรุนแรงไม่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม แต่เป็นผลจากการเรียนรู้ หรือการซึมซับจากครอบครัวและสิ่งแวดล้อมรอบตัวของเยาวชน ครอบครัวที่มีการกระทำรุนแรงต่อกันจะส่งผลต่อพฤติกรรมของสมาชิกครอบครัว อิทธิพลจากสื่อต่างๆ ก็มีผลต่อพฤติกรรมความรุนแรงเช่นกัน วัยรุ่นในประเทศแอฟริกาใต้บ่มเพาะพฤติกรรมความรุนแรงจากการที่ประเทศเป็นศูนย์กลางการย้ายถิ่นเพื่อหางานทำจากประเทศเพื่อนบ้าน ผลที่ตามมา คือ ความเกลียดชังคนต่างเชื้อชาติและสีผิวเพราะมีทัศนคติว่ามาแย่งงานทำ ปัญหาการทำร้ายร่างกายรุนแรงจนถึงขั้นอาชญากรรมกลายเป็นเรื่องปกติและเป็นที่ยอมรับของสังคม เพราะในหลายกรณีจะมีผู้ใหญ่เข้าร่วมวงด้วย เช่นเดียวกับสังคมที่การล่วงละเมิดทางเพศเป็นเรื่องน่าอับอายสำ.หรับผู้หญิง เมื่อตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศจะไม่กล้าลุกขึ้นมาปกป้องตนเองหรือบอกให้สังคมรับรู้เพราะเป็นเรื่องน่าอับอายทั้งตนเองและครอบครัว เงื่อนไขเชิงสังคมเช่นนี้ทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นเรื่องยาก

บทความเรื่อง Youth violence: what we know and what we need to know ตีพิมพ์ในวารสาร American Psychologist ปี 2016 Vol. 71. No. 1, p 17-39. เสนอเนื้อหาที่น่าสนใจว่าด้วยการวิเคราะห์ปัจจัยหนุนนำพฤติกรรมความรุนแรงของวัยรุ่น เช่น วัยรุ่นต้องการการยอมรับจากครอบครัวเพื่อนและสังคม อาจมีภาวะหดหู่ หรือความรู้สึกไม่ปลอดภัย รวมทั้งผลจากการเสพยาและการดื่มสุรา ล้วนเป็นแรงกดดันให้วัยรุ่นมีพฤติกรรมเสี่ยง

ปัญหาเชิงโครงสร้างด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น โอกาสด้านการศึกษา การย้ายถิ่นเข้าสู่เมืองใหญ่เพื่อหางานทำ ส่วนใหญ่วัยรุ่นจะว่างงาน เมื่องานสุจริตหายาก ทางเลือกที่เหลืออยู่คือการก่ออาชญากรรม เช่น ลักทรัพย์ หลุดเข้าไปในวงจรยาเสพติด และรับจ้าง ‘เดินยา’ ความเหลื่อมล้ำในชีวิตความเป็นอยู่เป็นแรงกระตุ้นสำหรับปัญหาอาชญากรรมที่เยาวชนเป็นผู้กระทำหรือกลายเป็นเหยื่อได้เช่นกัน เยาวชนก็พร้อมที่จะกระโจนเข้าไปมีส่วนร่วมได้ทุกเวลา ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือ เครือข่ายยาเสพติด ที่เยาวชนกลายเป็นทั้งผู้ค้าและผู้เสพ ปัญหานี้เกิดขึ้นในหลายประเทศ เพราะสังคมมีช่องว่างทางเศรษฐกิจ เกิดแก๊งค์อาชญากรรมมากมาย เยาวชนกลายเป็นเหยื่อ ทั้งที่ตั้งตนเป็นหัวหน้าแก๊งค์เองหรือเป็นบริวารเพราะหาเงินง่ายและมีผู้คุ้มครอง

ปัจจัยหนุนนำพฤติกรรมความรุนแรงในวัยรุ่นนอกเหนือจากสิ่งเสพติดแล้ว การพกพาอาวุธในที่สาธารณะเนื่องจากอาวุธเข้าถึงง่าย หาซื้อได้ง่าย เช่น ปืน เป็นปัจจัยชี้นำพฤติกรรมความรุนแรงในกลุ่มวัยรุ่นที่สำคัญประการหนึ่ง เหตุสลดที่วัยรุ่นกราดยิงในโรงเรียน หรือสถานที่สาธารณะในอเมริกาและมีผู้รับเคราะห์จำนวนมากเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนแสดงถึงพฤติกรรมรุนแรงที่มักจบลงด้วยมือปืนยิงตัวตาย หรือถูกวิสามัญโดยตำรวจ

สังคมมีทางออกหรือไม่สำหรับปัญหาความรุนแรงของวัยรุ่น?

เรามีทางออกอย่างแน่นอน ลองจับมือกันทุกภาคส่วนแล้วชูป้าย 3 ทางเลือก ดังนี้ โอกาสด้านการศึกษา ความร่วมมือจากชุมชน และกระบวนการยุติธรรม

การดื่มหรือเที่ยวเตร่เป็นปัจจัยเสี่ยงประการหนึ่ง สำหรับพฤติกรรมความรุนแรงของวัยรุ่น

ภาพ: www.123rf.com/stock-photo/alcohol_abuse.html

 

** จดหมายข่าวฉบับย้อนหลัง  ปีที่ 37 ฉบับที่ 5  วัยรุ่น...วุ่นได้ดังใจ

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th