The Prachakorn

พฤติกรรมหน้าจอ...กับคุณภาพของเด็กไทย


กรกนก พงษ์ประดิษฐ์

23 เมษายน 2561
236



สังคมไทยกำลังเผชิญกับภาวะเด็กเกิดน้อย รัฐบาลพยายามหาแนวทางต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีลูกมากขึ้น เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานและชะลอความเร็วในการเป็นสังคมสูงอายุ อย่างไรก็ดีจากประสบการณ์ที่เราเรียนรู้จากประเทศต่างๆ พบว่า การส่งเสริมการมีบุตรและการเพิ่มจำนวนประชากรไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ดังนั้น ในช่วงหลังแนวคิดเรื่องการเพิ่มคุณภาพของประชากรวัยเด็กจึงถูกพูดถึงมากขึ้นแทนที่จะเป็นการมองไปที่เรื่องการเพิ่มจำนวนแต่เพียงอย่างเดียว

แล้วพฤติกรรมหน้าจอ...เกี่ยวข้องอย่างไรกับเรื่องคุณภาพประชากร

เพราะดูเหมือนว่า ปัจจุบันนี้พฤติกรรมหน้าจอเป็นสิ่งที่เคยชิน คุ้นตาที่ใครๆ ก็ทำกันเป็นปกติ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ที่ทำงาน ห้องประชุม ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ป้ายรอรถเมล์ สถานีรถไฟฟ้า หรือสวนสาธารณะ ผู้คนต่างใช้เวลาอยู่กับหน้าจอสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ตตลอดเวลา เรียกได้ว่าอยู่ติดกับหน้าจอตั้งแต่ตื่นนอน จนถึงเข้านอนกันเลยก็ว่าได้

จะว่าไปแล้วการมีพฤติกรรมหน้าจอไม่ว่าจะใช้เพื่อความบันเทิง หรือเพื่อการทำ.งานและการเรียนรู้ หากลองสังเกตจากตัวเราเองเวลาที่มีพฤติกรรมหน้าจอ จะพบว่า ในระหว่างที่เรามีพฤติกรรมดังกล่าว ร่างกายจะมีการเคลื่อนไหวไปมาน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นพฤติกรรมประเภทที่นั่งนิ่งๆ หรือนอนอยู่กับที่ หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า “พฤติกรรมเนือยนิ่ง” (Sedentary Behavior) ซึ่งเจ้าพฤติกรรมที่ว่านี้ หากมีมากเกินความจำเป็น(คำแนะนำ คือ ติดต่อกันไม่เกิน 2 ชั่วโมง/ครั้ง และสะสมรวมกันไม่เกิน 12 ชั่วโมง/วัน) นอกจากจะส่งผลต่ออัตราการเผาผลาญพลังงานของร่างกายที่น้อยลงกว่าปกติแล้ว ยังมีหลักฐานทางการวิจัยที่ยืนยันว่า พฤติกรรมดังกล่าวเป็น 1 ใน 4 สาเหตุหลักที่นำไปสู่การตายจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังของประชากรโลกอีกด้วย1

สำหรับเด็ก พฤติกรรมหน้าจอแค่ไหนถึงจะเหมาะสม

สถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา2 ได้กำหนดคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้หน้าจอที่เหมาะสมสำหรับเด็กช่วงวัยต่างๆ ไว้ดังนี้

 

เด็กไทยในปัจจุบันมีพฤติกรรมหน้าจอ มากน้อยเพียงใด

ข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมหน้าจอของเด็กไทยล่าสุดในปี 25593 โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า เด็กอายุระหว่าง 6-17 ปี ส่วนใหญ่มีค่าเฉลี่ยการใช้หน้าจอเพื่อความบันเทิง นานถึง 3 ชั่วโมงต่อวัน ที่น่าตกใจไปกว่านั้นคือ จำนวนชั่วโมงที่เด็กใช้หน้าจอต่อครั้งสูงที่สุดถึง 7 ชั่วโมงติดต่อกัน ขณะที่ช่วงเวลาที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นช่วง 17.00–21.00 น. ข้อมูลดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า เด็กไทยมีจำนวนชั่วโมงพฤติกรรมหน้าจอเกินกว่าคำแนะนำมากถึง 1 ชั่วโมง/วัน ในทางกลับกัน เด็กไทยก็มีกิจกรรมทางกายอยู่ที่วันละ 42 นาทีเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าคำแนะนำ 18 นาทีต่อวัน

 

ภาพ: ร้อยละการมีพฤติกรรมหน้าจอของเด็กไทย จำแนกรายชั่วโมง

ข้อค้นพบดังกล่าว คล้ายเป็นสัญญาณเตือนให้ผู้ปกครองหันมาตระหนักและให้ความเอาใจใส่ถึงความสำ.คัญในเรื่องนี้ เพราะการที่ผู้ปกครองหยิบยื่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้บุตรหลาน เพียงเพื่อหวังให้พวกเขาอยู่นิ่งๆ ไม่ดื้อไม่ซน ให้อุปกรณ์เหล่านี้เลี้ยงบุตรหลานแทนตน หรือปล่อยให้ใช้โดยปราศจากการควบคุมและกติกา รวมถึงความเชื่อที่ไม่ถูกต้องว่าการที่บุตรหลานสามารถเล่นสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ตได้ด้วยตนเองเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจ ความคิดความเชื่อเช่นนี้อาจเปรียบเสมือน “ดาบสองคม” ที่ทำร้ายบุตรหลานของตนโดยไม่รู้ตัว


ที่มา:

World Health Organization, 2017. Global Strategy on Diet, Physical Activity and Health. [online] Available http://www.who.int/dietphysicalactivity/pa/en/

American Academy of Pediatrics. 2016. American Academy of Pediatrics Announces New Recommendations for Children’s Media Use. [online] Available https://www.aap.org/en-us/about-the-aap/aap-press-room/pages/american-academy-of-pediatrics-announces-new-recommendations-for-childrens-media-use.aspx

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. 2559. รายงานผลการวิจัยโครงการติดตามเฝ้าระวังพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย พ.ศ. 2559. นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม.

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th