The Prachakorn

พิธีกร


วรชัย ทองไทย

19 ตุลาคม 2566
812



ราชบัณฑิตสถานได้ให้ความหมายของ “พิธีกร” ว่า เป็นผู้ดำเนินการในพิธี เช่น พิธีกรในงานมงคลสมรส หรือเป็นผู้ดำเนินรายการ เช่น พิธีกรในการสัมมนา

พิธีกร (master of ceremonies หรือ MC) เริ่มใช้กันตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 5 ในคริสตจักรโรมันคาทอลิก โดยพิธีกรจะเป็นเจ้าหน้าที่ของวังพระสันตะปาปา มีหน้าที่รับผิดชอบให้พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์เป็นไปอย่างถูกต้องตามแบบแผนและราบรื่น

ในอดีต ราชสำนักยุโรปบางแห่งก็มีเจ้าหน้าที่อาวุโสทำหน้าที่พิธีกร ที่รับผิดชอบในการดำเนินพิธีทางการ เช่น พิธีราชาภิเษก พิธีต้อนรับเอกอัครราชทูตต่างประเทศ

ปัจจุบัน พิธีกรคือ ผู้ทำหน้าที่เจ้าภาพอย่างเป็นทางการของงานและพิธีต่างๆ โดยเป็นผู้ทำให้งานดำเนินไปอย่างเรียบร้อยตามวัตถุประสงค์

รางวัลอีกโนเบลมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมฉลองสิ่งผิดปกติ ยกย่องผู้มีความคิดสร้างสรรค์ และกระตุ้นให้คนสนใจวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และเทคโนโลยี โดยผู้ก่อตั้ง “พิธีมอบรางวัลอีกโนเบล” คือ Marc Abrahams ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งนิตยสาร Annals of Improbable Research อันเป็นนิตยสารเกี่ยวกับ “งานวิจัยที่ทำให้หัวเราะก่อน แล้วจึงได้คิด” ดังนั้น พิธีกรในพิธีมอบรางวัลอีกโนเบลตั้งแต่ครั้งแรกเป็นต้นมาก็คือ Marc Abrahams นั่นเอง (ดูรูป)

รูป การประกาศผลรางวัลอีกโนเบล สาขาจิตวิทยา โดย Marc Abrahams (พิธีกร-รูปบนซ้าย)  
ที่มา: https://improbable.com/ig/2023-ceremony/#Ig-Ceremony-2023
สืบค้นเมื่อ 17 กันยายน 2566

พิธีมอบรางวัลอีกโนเบล ครั้งที่ 33 นี้ ได้จัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 กันยายน 2566 ทาง webcast (ดูพิธีมอบรางวัลได้ที่ https://improbable.com/ig/2023-ceremony/) โดยมีรางวัลในสาขาต่างๆ ดังนี้

สาขาเคมีและภูมิศาสตร์ มอบให้กับนักวิจัยจากโปแลนด์ (Jan Zalasiewicz) ที่ได้อธิบายว่า ทำไมนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากชอบเลียหิน

สาขาวรรณคดี มอบให้กับนักวิจัยจากประเทศฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร มาเลเซีย และฟินแลนด์ (Chris Moulin, Nicole Bell, Merita Turunen, Arina Baharin และ Akira O’Connor) ที่ร่วมกันศึกษาเกี่ยวกับ ความรู้สึกของคนที่พูดคำๆ เดียว ซ้ำๆ กัน หลายๆ ครั้ง

สาขาวิศวกรรมเครื่องกล มอบให้กับนักวิจัยจากประเทศอินเดีย จีน มาเลเซีย และสหรัฐอเมริกา (Te Faye Yap, Zhen Liu, Anoop Rajappan, Trevor Shimokusu และ Daniel Preston) ที่ได้ร่วมมือกันค้นคว้าถึง วิธีการใช้แมงมุมที่ตายแล้ว มาทำเป็นเครื่องมือหยิบจับ

สาขาสาธารณะสุข มอบให้กับนักวิจัยจากประเทศเกาหลีใต้ (Seung-min Park) ที่ได้คิดประดิษฐ์โถส้วมแสตนฟอร์ด (Stanford Toilet) โถส้วมที่มากไปด้วยเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อใช้ติดตามและวิเคราะห์ของเสีย ที่มนุษย์ขับถ่ายออกมาได้อย่างรวดเร็ว เช่น แถบวิเคราะห์ปัสสาวะ ระบบถ่ายภาพคอมพิวเตอร์เพื่อวิเคราะห์อุจจาระ อุปกรณ์รับรู้ลายก้น (anal-print sensor) กับกล้องเพื่อระบุตัวคนไข้ การเชื่อมโยงโทรคมนาคม

สาขาการสื่อสาร มอบให้กับนักวิจัยจากประเทศอาเจนตินา สเปน โคลัมเบีย ชิลี จีน และสหรัฐอเมริกา (María José Torres-Prioris, Diana López-Barroso, Estela Càmara, Sol Fittipaldi, Lucas Sedeño, Agustín Ibáñez, Marcelo Berthier และAdolfo García) ที่ร่วมกันศึกษากิจกรรมทางจิตของ “ผู้ที่ชำนาญในการพูดย้อนกลับ”

สาขาการแพทย์ มอบให้กับนักวิจัยจากประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา มาเซโดเนีย อิหร่าน และเวียดนาม (Christine Pham, Bobak Hedayati, Kiana Hashemi, Ella Csuka, Tiana Mamaghani, Margit Juhasz, Jamie Wikenheiser และ Natasha Mesinkovska) ที่ร่วมมือกันใช้ศพมนุษย์เพื่อสำรวจว่า จำนวนขนในรูจมูกทั้งสองข้างของแต่ละคนจะเท่ากันไหม

สาขาโภชนาการ มอบให้กับนักวิจัยญี่ปุ่น 2 คน (Homei Miyashita และ Hiromi Nakamura) ที่ร่วมกันทดลองวิจัยทดลองเพื่อดูว่า ตะเกียบไฟฟ้าและหลอดดูดไฟฟ้าสามารถเปลี่ยนรสชาติอาหารได้อย่างไร

สาขาการศึกษา มอบให้กับนักวิจัยจากประเทศจีน แคนาดา สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ ไอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น (Katy Tam, Cyanea Poon, Victoria Hui, Wijnand van Tilburg, Christy Wong, Vivian Kwong, Gigi Yuen และ Christian Chan) ที่ร่วมกันศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับ ความเบื่อหน่ายของครูและนักเรียน

สาขาจิตวิทยา มอบให้กับนักวิจัยอเมริกัน 3 คน (Stanley Milgram, Leonard Bickman และ Lawrence Berkowitz) ที่ร่วมกันทดสอบบนถนนในเมืองเพื่อดูว่า จะมีคนเดินถนนสักกี่คน ที่หยุดและแหงนหน้าขึ้นดูท้องฟ้า เมื่อเขาเห็นคนแปลกหน้ายืนแหงนหน้ามองท้องฟ้าอยู่

สาขาฟิสิกส์ มอบให้กับนักวิจัยจากประเทศสเปน กาลิเซีย สวิสเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร (Bieito Fernández Castro, Marian Peña, Enrique Nogueira, Miguel Gilcoto, Esperanza Broullón, Antonio Comesaña, Damien Bouffard, Alberto C. Naveira Garabato และ Beatriz Mouriño-Carballido) ที่ร่วมกันศึกษาว่า กิจกรรมทางเพศของปลากะตัก จะมีผลกระทบต่อการผสมกันของน้ำในมหาสมุทรแค่ไหน

รางวัลอีกโนเบล: รางวัลสำหรับผลงานที่ทำให้ “หัวเราะ” แล้วจึงได้ “คิด”


หมายเหตุ: ที่มา “พิธีกร” ในประชากรและการพัฒนา 44(1) ตุลาคม-พฤศจิกายน 2566: 8

ภาพปก freepik.com (premium license)

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
เมื่อคนสูงวัยเข้าใกล้วัด

ปราโมทย์ ประสาทกุล

พิธีกร

วรชัย ทองไทย

จูบหรือจุมพิต

วรชัย ทองไทย

พิธีมงคลสมรสที่จัดในวัด

ปราโมทย์ ประสาทกุล

เครื่องดนตรี

วรชัย ทองไทย

ราคาของความตายในวัยสูงอายุ

จงจิตต์ ฤทธิรงค์,ธนพร เกิดแก้ว

วิถีใหม่

วรชัย ทองไทย

การเดินทางไกลที่คุ้มค่า

ปราโมทย์ ประสาทกุล

พิธีและพิธีกรรม

วรชัย ทองไทย

ขั้นตอนวิธี (algorithm)

วรชัย ทองไทย

การเดินทางของชุดครุย

ณัฐนี อมรประดับกุล,ณปภัช สัจนวกุล

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th