The Prachakorn

การพลัดตกหกล้ม ปัญหาในผู้สูงอายุที่พึงระวัง


จุฬาลักษณ์ อิ่นแก้ว

02 พฤศจิกายน 2566
1,858



เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยสูงอายุ การพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ควรให้ความสำคัญไม่แพ้โรคภัยไข้เจ็บ เนื่องจากเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับสองในกลุ่มของการบาดเจ็บโดยไม่ตั้งใจ รองจากการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน จากการสำรวจของกลุ่มป้องกันการบาดเจ็บจากพลัดตกหกล้ม โดยกรมควบคุมโรค พบว่า ในปี 2565 มีผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป บาดเจ็บจากการพลัดตกหกล้มและต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลจำนวน 89,355 คน และเสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มจำนวน 1,255 คน โดยผลกระทบที่ตามมาหลังจากผู้สูงอายุเกิดเหตุหกล้ม คือ ความเจ็บป่วยทางร่างกาย เช่น ภาวะกระดูกหัก ความพิการทุพลภาพ สูญเสียความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวัน และการเสียชีวิต นอกจากนี้ยังรวมถึงผลเสียทางด้านจิตใจและสังคม เช่น ภาวะกลัวการหกล้ม อารมณ์ซึมเศร้า เป็นภาระต่อญาติผู้ดูแลและสังคม ซึ่งคิดเป็นงบประมาณหลายพันล้านบาทที่ต้องสูญเสียในแต่ละปีสำหรับการดูแลผู้สูงอายุที่บาดเจ็บจากการพลัดตกหกล้ม

การพลัดตกหกล้มเป็นปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการชราภาพ ที่เกี่ยวข้องกับความเสื่อมถอยของระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกายที่มีผลต่อการทรงตัว เช่น ความเสื่อมของการมองเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหวของข้อต่อ รวมถึงความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อที่ลดลง ทำให้ผู้สูงอายุไม่สามารถรักษาจุดศูนย์กลางของมวลร่างกายให้อยู่ในฐานที่สมดุลได้และเกิดการหกล้มขึ้น นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งที่มีผลต่อการพลัดตกหกล้ม โดยพบว่า ลักษณะสภาพแวดล้อมทางกายภาพในบ้านหรือชุมชนของประเทศแถบเอเชียส่วนมากอาจก่อให้เกิดอันตราย เช่น พื้นผิวลื่นหรือพื้นผิวที่ไม่เรียบ ไม่มีราวจับบริเวณบ้าน ขั้นตอนและการออกแบบอาคารที่ไม่ดี เป็นต้น นอกจากนี้จากการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย ปี 2564 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ผู้สูงอายุเกิดการพลัดตกหกล้ม คือ การสะดุด (ร้อยละ 42.8) รองลงมา คือ การลื่น (ร้อยละ 35.5) พื้นต่างระดับ (ร้อยละ 9.9) และเกิดอาการหน้ามืด/วิงเวียน (ร้อยละ 6.4) ตามลำดับ

พัฒนาโดย: ผู้เขียน อ้างอิงข้อมูลจากการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย ปี 2564, สำนักงานสถิติแห่งชาติ

บทความนี้จึงขอนำเสนอแนวทางป้องกันการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ ดังนี้

  1. การเข้ารับการประเมินความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มและรับรู้ภาวะสุขภาพของตนเอง ถ้าพบว่ามีความเสี่ยงสูง ควรปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์เพื่อจัดการและแก้ไขปัจจัยเสี่ยงต่างๆ
  2. การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ ทั้งนี้ อาจจะต้องดูประเภทการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุแต่ละคน เช่น ถ้าผู้สูงอายุมีปัญหาเข่าเสื่อม ควรหลีกเลี่ยงการวิ่ง
  3. เมื่อจำเป็นต้องรับประทานยาที่มีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการง่วงซึม ควรให้ผู้สูงอายุนั่งพักหรือนอนพักนิ่งๆ ไม่ควรลุกเดินไปไหน
  4. การปรับปรุงสภาพแวดล้อมรอบตัวผู้สูงอายุให้เหมาะสม เช่น
    -    บริเวณพื้นทางเดินภายใน ควรมีแสงสว่างเพียงพอ พื้นบ้านไม่เปียกหรือลื่น เลือกใช้พรมหรือผ้าเช็ดเท้าที่มียางกันลื่นติดอยู่ด้านล่าง และไม่วางเครื่องเรือนหรือสายไฟกีดขวางทางเดิน
    -    ห้องนอน ควรอยู่ชั้นล่างของบ้าน เตียงนอนจะต้องมีความสูงระดับข้อพับเข่า และมีราวจับในห้องนอน
    -    บริเวณบันได ควรหลีกเลี่ยงการเดินขึ้น-ลงบันได หากจำเป็นควรมีราวจับทั้งสองข้างของบันได และไม่วางสิ่งกีดขวางที่บันได
    -    ห้องน้ำ ควรใช้โถส้วมแบบชักโครกเพื่อความสะดวกต่อการลุกนั่ง และติดตั้งราวจับเพื่อช่วยพยุงตัวขณะลุกขึ้นหรือลงนั่งบริเวณโถส้วม

ดังนั้น การดูแลสุขภาพร่างกาย และการปรับปรุงที่อยู่อาศัย เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมให้มีความปลอดภัย จึงสามารถลดความเสี่ยงของการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุได้ อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการเตรียมพร้อมด้านที่อยู่อาศัยในผู้สูงอายุยุคปัจจุบัน สำหรับการใช้ชีวิตช่วงสูงวัยในบ้านเดิมของตนเองด้วยความผูกพันที่มีกับครอบครัว รวมทั้งความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนบ้านและชุมชน ตามแนวคิดการสูงวัยในถิ่นที่อยู่  (aging in place)


เอกสารอ้างอิง

  • สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม. (2564). การสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย พ.ศ. 2564. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566, จาก http://www.nso.go.th/sites/2014en/Survey/social/domographic/OlderPersons/2021/fullreport_64.pdf
  • กลุ่มป้องกันการบาดเจ็บจากพลัดตกหกล้ม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. (2565). Fall Prevention การป้องกันพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566, จาก https://ddc.moph.go.th/dip/news.php?news=23843
  • กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. (2562). การพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566, จาก http://www.correct.go.th/meds/index/Download/วป/การพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ.pdf

ภาพปก freepik.com (premium license)


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th