ในโลกที่ไม่เคยหยุดนิ่งเหมือนเข็มนาฬิกาที่ไม่เคยหยุดเดิน การพัฒนาของสิ่งต่างๆ มากมายบนโลกใบนี้ ล้วนมุ่งเน้นไปเพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนเราให้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสร้างความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิตให้มากขึ้น หรือการพัฒนาสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อตอบโจทย์ความต้องการ “ความอยู่ดีมีสุข” ในชีวิต อย่างไรก็ตาม ภายใต้แสงไฟเจิดจ้าของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี กลับมีเงาสะท้อนเป็นปัญหาที่ตามติดมาด้วย นั่นคือ ความรู้สึกทางจิตใจที่อาจเติบโตไปไม่เท่าทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเหลือเกิน
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จึงเกิดข่าวสะเทือนใจหลายต่อหลายครั้ง ที่กระแทกสังคมให้ต้องหันมาสนใจกับต้นตอของปัญหาอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นข่าวการฆ่าตัวตายของเยาวชน ข่าวการมีพฤติกรรมรุนแรง จนถึงขั้นทำร้ายร่างกายและทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต ซึ่งสาเหตุเบื้องลึกเบื้องหลังของหลายเหตุการณ์ มีที่มาจากความเครียด ภาวะซึมเศร้า หรือปัญหาทางสุขภาพจิตที่ไม่ได้รับการดูแล จากข้อมูลการประเมินสุขภาพจิตคนไทย (www.dmh.go.th/report) โดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2563 ถึงปัจจุบัน (ตุลาคม 2566) คนไทยอายุไม่เกิน 20 ปี ร้อยละ 24.5 ประเมินว่าตนเองมีความเครียดสูง ร้อยละ 29.35 เสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า และร้อยละ 20.21 เสี่ยงฆ่าตัวตาย
ปัจจุบันนี้ ปัญหาภาวะซึมเศร้าในเด็กและเยาวชน ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แม้หลายคนอาจมองว่าในวัยรุ่นวัยเรียน ไม่น่าจะมีเรื่องอะไรให้ต้องกังวลมากนัก แต่การเรียนในปัจจุบันสามารถสร้างปมเครียดให้กับนักเรียน/นักศึกษาได้อย่างแสนสาหัส จึงทำให้สถานศึกษาหลายแห่งเร่งพัฒนาบริการเพื่อดูแลจิตใจของเด็กและเยาวชนมากยิ่งขึ้น เช่น การจัดช่องทางการให้คำปรึกษาที่หลากหลายและเข้าถึงได้ตลอดเวลา การจัดกิจกรรมเพื่อให้นักเรียน/นักศึกษาได้มีช่วงผ่อนคลายมากขึ้น รวมไปถึงคอร์สการเรียนการสอนที่ไม่ได้มุ่งเน้นแต่วิชาการ แต่ยังขยายให้ครอบคลุมทักษะสังคม หรือ soft skills ผสมผสานเข้าไปด้วย
นอกจากนี้ องค์กรหรือหน่วยงานของภาครัฐ ก็ให้ความสนใจในประเด็นภาวะซึมเศร้าในกลุ่มนิสิต/นักศึกษามากขึ้น เกิดเป็นแผนปฏิบัติการสำรวจสถานการณ์ความสุขในกลุ่มนิสิต/นักศึกษาทั่วประเทศ โดยในปี 2565 โครงการ Happy University ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ทำการสำรวจความสุขและความอยู่ดีมีสุขในนิสิต/นักศึกษา ด้วยเครื่องมือ HAPPINOMETER โดยได้ผนวกการประเมินความเสี่ยงภาวะซึมเศร้า ด้วยเครื่องมือ Clinical Practice Guideline of Major Depressive Disorder for General Practitioners (CPG-MDD-GP) รวมอยู่ในการสำรวจด้วย
ผลการสำรวจฯ พบว่า นิสิต/นักศึกษาจำนวน 12,826 คน จากมหาวิทยาลัย 23 แห่งทั่วประเทศ ประเมินสุขภาพจิตของตนเองอยู่ในระดับปานกลางถึงดี (ได้คะแนนเฉลี่ย 37.89 คะแนน จากคะแนนเต็ม 50 คะแนน) โดยความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าจะสูงกว่าในกลุ่มนิสิต/นักศึกษาเพศหลากหลาย และกำลังศึกษาอยู่ในชั้นปีสูงๆ กล่าวคือ รุ่นพี่อาจมีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้ามากกว่ารุ่นน้อง นอกจากนี้ พฤติกรรมสุขภาพ ก็แสดงความสัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้าเช่นกัน หรือเรียกว่า “กาย-ใจสัมพันธ์” โดยพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพ ได้แก่ การมีกิจกรรมทางกาย และการทานผัก/ผลไม้ พบว่า ช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตให้ดีมากยิ่งขึ้น ในขณะที่ พฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ ได้แก่ การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ และการกินอาหารรสหวานจัด มันจัด เค็มจัด ทำให้เสี่ยงต่อการมีภาวะซึมเศร้ามากขึ้น หรือสรุปได้ว่า นิสิต/นักศึกษาที่มีพฤติกรรมสุขภาพทางกายยิ่งดี สุขภาพจิตก็ยิ่งดีตาม (ดังรูป 1)
รูป 1 คะแนนเฉลี่ยสุขภาพจิตแบ่งตามพฤติกรรมสุขภาพ (คะแนนเต็ม 50 คะแนน)
นอกจากนี้ ทักษะการปรับตัว (resilience) ของนิสิต/นักศึกษา ก็เป็นเหมือนเกราะป้องกันความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าได้ โดยนิสิต/นักศึกษาที่มีความสามารถในการจัดการกับปัญหา ซึ่งหมายถึง การรับมือในสถานการณ์วิกฤต การจัดการกับปัญหาด้านการเงินและการจัดการเวลาได้ดี จะมีสุขภาพจิตที่ดี (β = 1.123; p-value = <0.001) เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ (relationship) หากนิสิต/นักศึกษามีความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัว เพื่อน รุ่นพี่รุ่นน้อง และคนรอบข้าง ก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าน้อยลง (β = 0.449; p-value = <0.001)
การส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพ และทักษะสังคม หรือ soft skills ให้กับนิสิต/นักศึกษา จึงเป็นภารกิจสำคัญไม่แพ้ด้านอื่นๆ ที่มหาวิทยาลัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถสร้างเป็นภูมิคุ้มกันความเครียด ภาวะซึมเศร้า และปัญหาที่อาจเกิดกับจิตใจของเด็กและเยาวชนไทยได้ เพื่อให้คุณภาพชีวิตทั้งภายในและภายนอกของเด็กและเยาวชนไทยได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน
แหล่งข้อมูล
ภาพปก freepik.com (premium license)