The Prachakorn

Smartphone: พี่เลี้ยงเด็กคนใหม่


กรกนก พงษ์ประดิษฐ์

23 เมษายน 2561
245



ในยุคปัจจุบัน หากเราลองมองไปรอบๆ ตัว จะพบว่า เด็กๆ ในบ้านเราจำนวนไม่น้อยที่เติบโตมาโดยมีสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตเป็นพี่เลี้ยง เด็กๆ เหล่านี้จะใช้เวลาว่างส่วนใหญ่อยู่กับหน้าจอกดๆ จิ้มๆ ไม่ยอมพูดคุยกับใคร และหากมีใครไปขัดจังหวะการเล่น หรือขอคืนอุปกรณ์เครื่องโปรดนี้ ก็อาจจะแสดงอาการไม่พอใจแตกต่างกันออกไปหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็น ต่อรองขอเล่นต่อ เมื่อไม่ได้ก็จะโต้เถียง ตะโกนเสียงดัง งอน ก้มหน้า ร้องไห้ หรือบางรายถึงกับลงไปดิ้นอยู่กับพื้น ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับวิธีการเลี้ยงดูของพ่อแม่ผู้ปกครองที่ปฏิบัติมาก่อนหน้านี้

ผู้ปกครองหลายคน จึงจำเป็นต้องอนุญาต (กึ่งจำยอม) ให้เด็กๆ เล่นและใช้เวลาอยู่กับพี่เลี้ยงอิเล็กทรอนิกส์ที่ว่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในทางกลับกันผู้ปกครองอีกส่วนหนึ่งก็ปฏิบัติตนเป็นต้นแบบ (ที่ผิด) ในการมีพฤติกรรมหน้าจอให้กับเด็กๆ ไปอย่างไม่รู้ตัว โดยที่หารู้ไม่ว่าทุกๆ นาทีที่เด็กๆ ใช้อุปกรณ์เหล่านี้โดยปราศจากการควบคุมเวลาหรือเนื้อหาที่เหมาะสม รวมถึงการกำหนดกติกาการใช้ร่วมกัน จะส่งผลเสียในหลายๆ ด้านแก่บุตรหลานได้ (AAP แนะนำว่าเด็กที่มีอายุ 6 ขวบขึ้นไป ควรใช้ไม่เกินวันละ 2 ชั่วโมง1 แต่จากผลการสำรวจล่าสุดโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2559 พบว่า เด็กไทยใช้เวลาเฉลี่ยวันละ 3 ชั่วโมง 9 นาที หมดกับการทำกิจกรรมหน้าจอเพื่อความบันเทิงเหล่านี้)

 

 

ภาพประกอบจาก: http://61.129.118.44/Files/UploadFiles/Column/2013/2013-04/2013-04-16/20130416_105116_37720415-art-1.jpg

ผลเสียที่ว่านี้มีอะไรบ้าง...???

เริ่มจาก “ดวงตา” การใช้สายตาในการเพ่งมองจอสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายชั่วโมง จนเกิดภาวะตาเพ่งค้าง มีอาการตาพร่า ภาพที่เห็นไม่โฟกัส มองไกลไม่ชัดเจน หรือเรียกว่า อาการสายตาสั้นเทียม2

ถัดมาคือ “สมอง” ด้วยความเร็วของภาพบนอุปกรณ์ที่เด็กเล่นมีการเปลี่ยนอย่างน้อยทุกๆ 3 วินาที ส่งผลโดยตรงต่อการทำงานของสมอง ควบคุมสมาธิไม่ได้ อารมณ์ร้อน รอคอยไม่เป็น ทักษะการพูดอ่านเขียนแย่ลง และมีปัญหาในการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ลักษณะเหล่านี้เรียกว่า โรคไฮเปอร์เทียมโรคที่ไม่ได้เป็นผลที่เกิดจากพันธุกรรม หากแต่เป็นผลจากการใช้หน้าจอมากเกินไป3

และท้ายที่สุด การใช้เวลาอยู่กับหน้าจออุปกรณ์เหล่านี้ ส่งผลให้เด็กมีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง เด็กขาดการมีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อพัฒนาการต่างๆ ของเด็กตามแต่ละช่วงวัย หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เด็กจะสุขภาพไม่แข็งแรง ทักษะและความสามารถในการคิด เรียนรู้ สื่อสาร การจัดการอารมณ์ก็จะได้รับผลกระทบในทางลบไปทั้งหมด

ที่มา: โครงการโรงเรียนฉลาดเล่น สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม และ สสส. ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นของการสร้างเสริมศักยภาพของประชากรวัยเด็กเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต จึงได้ริเริ่มดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง “โรงเรียนฉลาดเล่น” ขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กๆ ใน 5 มิติ4 ได้แก่ มิติด้านวิชาการ มิติด้านการคิดวิเคราะห์ มิติด้านการสื่อสาร มิติด้านอารมณ์และสังคม และมิติด้านร่างกาย โดยกิจกรรมหลักๆ ก็จะเป็นการส่งเสริมให้เด็กได้มีการเคลื่อนไหวร่างกาย การลงมือปฏิบัติและทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับคุณครูและกลุ่มเพื่อนเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ ทั้งหมดก็เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับเด็กๆ ตามที่กล่าวมา

อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้ครอบครัวและผู้ปกครองนับว่ามีส่วนสำคัญยิ่งในการดูแลและส่งเสริมให้เด็กๆ ได้มีโอกาสทำกิจกรรมผ่านการลงมือปฏิบัติในโลกแห่งความเป็นจริง ดีกว่าปล่อยให้เด็กใช้เวลาหมดไปกับพี่เลี้ยงหน้าจอสี่เหลี่ยมที่ชื่อว่า สมาร์ทโฟน โดยไม่ได้ควบคุมให้เหมาะสม จนสิ่งเหล่านั้นหวนกลับมาทำร้ายลูกหลานของท่านเองในที่สุด


เอกสารอ้างอิง

1American Academy of Pediatrics. 2016. American Academy of Pediatrics Announces New Recommendations for Children’s Media Use. [online]. Availablehttps://www.aap.org/en-us/about-the-aap/aap-press-room/pages/american-academy-of-pediatrics-announces-new-recommendations-for-childrens-media-use.aspx

2มติชนออนไลน์. 2015. รู้ทัน”สายตาสั้นเทียม” มันมากับ”สมาร์ทโฟน” ?!. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มาhttp://m.matichon.co.th/readnews.php?newsid=1424597362

3ผู้จัดการออนไลน์. 2017. พบเด็กเล็กเป็นโรค “ไฮเปอร์เทียม” มากขึ้น เหตุให้ลูกเล่นแท็บเล็ต-มือถือ. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://news1live.com/detail.aspx?NewsID=9600000054175

4เพจเล่นได้เล่นดี. 2017. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา https://www.facebook.com/LenDaiLenDe/

** จดหมายข่าวฉบับย้อนหลัง  ปีที่ 37 ฉบับที่ 6  Smartphone: พี่เลี้ยงเด็กคนใหม่

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th