The Prachakorn

ความยินยอมพร้อมใจกับพฤติกรรมคุกคามทางเพศในองค์กร


สุชาดา ทวีสิทธิ์

09 พฤศจิกายน 2566
470



การที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หญิงคนหนึ่งกล่าวตำหนิ ส.ส. ชายในพรรคเดียวกันที่กำลังถูกร้องเรียนเรื่องมีพฤติกรรมคุกคามทางเพศว่า “เป็นมนุษย์ให้ได้ก่อนเถอะ ก่อนที่จะมาเป็น ส.ส.” เป็นปรากฎการณ์ใหม่ในสังคมไทย เพราะที่ผ่านมาเมื่อเกิดเหตุการณ์คุกคามทางเพศโดยนักการเมืองชาย นักการเมืองหญิงมักเลือกที่จะเงียบหรือวางเฉยกับเรื่องนี้ และที่หนักยิ่งกว่านั้น ยังมีบางคนไปตำหนิผู้หญิงที่ถูกคุกคามทางเพศแทนที่จะตำหนิผู้กระทำ แต่ทั้งสองกลุ่มนี้ก็แย่พอๆ กัน เพราะไม่ตั้งคำถามด้านศีลธรรมและจรรยาบรรณของนักการเมืองผู้ชายที่มีพฤติกรรมคุกคามทางเพศเหล่านั้น

พฤติกรรมการคุกคามทางเพศ หมายรวมถึงการแสดงความคิดเห็น คำพูด การกระทำ หรือรวมทุกอย่างที่กล่าวมา ที่มีลักษณะจงใจสื่อนัยไปในเรื่องทางเพศหรือเพศสัมพันธ์ โดยที่ผู้ถูกกระทำไม่พึงประสงค์ ไม่ต้องการ ไม่อยากได้ ไม่อยากเห็น ตัวอย่างเช่น การมีพฤติกรรมถึงเนื้อถึงตัว จับต้องร่างกาย พูดจาแทะโลม มีกิริยาแบบหมาหยอกไก่ หรือชวนมีเพศสัมพันธ์ ตลอดจนการกระทำอันใดก็ตาม ที่มีผลเป็นการไปสร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นมิตร ไม่ปลอดภัย สร้างความอับอาย หรือความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นกับบุคคลเป้าหมาย หรือ “เหยื่อ” เช่น ตามตื๊อ ติดตามเฝ้าดูตลอดเวลา เป็นต้น สถิติจากทั่วโลกยืนยันว่า ส่วนใหญ่ของผู้ที่มีพฤติกรรมคุกคามทางเพศต่อผู้อื่นมักจะเป็นผู้ชายหรือเพศชาย ส่วนบุคคลเป้าหมาย หรือ “เหยื่อ” มักจะเป็นผู้หญิงหรือเพศหญิง (รวมถึงหญิงข้ามเพศ ชายข้ามเพศ และอื่นๆ)

ปัญหาการคุกคามทางเพศในสังคมไทยเหมือนโรคเรื้อรัง พบได้ในทุกวงการ ไม่จำกัดว่าในสายอาชีพใด ตั้งแต่ในวงการข้าราชการทั้งพลเรือนและทหาร วงการการศึกษาทั้งระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัย วงการธุรกิจภาคเอกชน ภาคเอ็นจีโอ องค์กรท้องถิ่น วงการบันเทิง และสื่อมวลชน รวมทั้งวงการนักการเมือง ถึงแม้ปัญหานี้พบได้บ่อยครั้ง แต่มักถูกทำให้เป็นปัญหาส่วนตัว ถูกมองข้ามหรือมองว่าเป็นปัญหาเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ตราบที่ปัญหานี้ยังมีอยู่ไม่ว่าในวงการอาชีพใด สะท้อนว่าสังคมไทยไม่มีความเท่าเทียมทางเพศ

จะถอนรากถอนโคนปัญหานี้ ต้องกำจัดสังคมแบบชายเป็นใหญ่ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหานี้ออกไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะทำสำเร็จได้ง่ายนัก ทางออกที่อาจจะง่ายกว่า คือ การทำให้ทุกคนเข้าใจและยึดมั่นในหลักความยินยอม เพราะจะทำให้ทุกคนมีความเคารพในสิทธิผู้อื่น สิทธิของตัวเอง และไม่ล่วงล้ำขอบเขตของกันและกัน  หลักการของความยินยอมเป็นรากฐานสำคัญของความสัมพันธ์ที่ดี

ในบริบทที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจว่า บุคคลต้องให้ “ความยินยอม” โดยที่มีสติสัมปชัญญะ เป็นอิสระ มีเสรีภาพ ปราศจากการถูกกดดัน หรือบังคับด้วยเงื่อนไขใด ทุกฝ่ายควรมีโอกาสได้แสดงความยินยอมด้วยวาจา และด้วยความกระตือรือร้นบนพื้นฐานของความเท่าเทียม และแม้ให้ความยินยอมแล้ว บุคคลก็สามารถเพิกถอนความยินยอมนั้นได้หากรู้สึกไม่ปลอดภัย หรือไม่สบายใจ การกระทำทางเพศอันใดโดยที่ไม่ได้รับความยินยอม หรือไม่ชัดแจ้งว่ายินยอม ถือเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งอาจจะนำไปสู่การร้องเรียน หรือฟ้องร้องเอาผิดทางอาญาได้เสมอ

เพราะฉะนั้นก่อนไปถูกเนื้อต้องตัวใคร หรือไปชวนใครมีเพศสัมพันธ์ด้วย ต้องรู้ก่อนว่า เขายินดี ยินยอมพร้อมใจไปหรือไม่ สิ่งสำคัญคือทุกฝ่ายต้องซื่อสัตย์ และสื่อสารแบบตรงไปตรงมาต่อกัน เพศชายไม่ควรด่วนสรุปตีความเข้าข้างตัวเองว่า “ถ้าเงียบแปลว่าโอเค” เพราะในความเงียบงันของฝ่ายหญิง มักมีเรื่องของความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นอำนาจระหว่างเพศชาย-เพศหญิง ระหว่างผู้บังคับบัญชา-ลูกน้อง  และระหว่างอาจารย์-ลูกศิษย์ เป็นต้น

ทุกคนในทุกสาขาอาชีพต้องมีความรับผิดชอบในการรักษามาตรฐานด้านจริยธรรมและจรรยาบรรณเรื่องเพศของตนเอง โดยไม่ละเมิดใครและสามารถปกป้องสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตัวเองได้ องค์กรควรสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยกับคนทุกเพศ หากเกิดพฤติกรรมคุกคามทางเพศขึ้นในองค์กร ทุกคนต้องไม่อดทนอดกลั้นกับพฤติกรรมนี้ และควรจัดให้มีกลไกและกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ชัดเจน โปร่งใส และยุติธรรม ที่จะให้ความรู้สึกปลอดภัยแก่ผู้ที่ถูกทำให้กลายเป็น “เหยื่อ” ของการคุกคามทางเพศในองค์กรได้

พฤติกรรมคุกคามทางเพศไม่ใช่เรื่องส่วนตัว และไม่ใช่เรื่องเพียงแค่ว่า ผู้กระทำได้รับการตำหนิทางศีลธรรมแล้วทุกอย่างจบลง แต่พฤติกรรมนี้นำไปสู่การบ่อนทำลายหลักการความยุติธรรมในองค์กรด้วย องค์กรใดที่เมื่อมีปัญหานี้แล้วปล่อยผ่านไปโดยไม่ทำอะไรเลย เป็นองค์กรที่ไม่น่าเชื่อถือ คำถามที่ควรถามกันในองค์กรก็คือ “บุคลากรในองค์กรของเรา เข้าใจและยึดมั่นในหลักความยินยอมพร้อมใจเรื่องเพศหรือไม่?” และ “หากมีพฤติกรรมการคุกคามทางเพศที่เกี่ยวข้องกับชีวิตการทำงานหรือการเรียนหนังสือ องค์กรมีกลไกและกระบวนจัดการกับปัญหาการคุกคามทางเพศที่เข้มแข็งให้เราสามารถพึ่งพาได้อยู่หรือไม่?”


ภาพปก freepik.com (premium license)


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th