The Prachakorn

การดำเนินธุรกิจของบริษัทเอกชนมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนได้จริงหรือ?


นงนุช จินดารัตนาภรณ์

10 พฤศจิกายน 2566
381



ช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ถึง ต้นศววรรษที่ 21 กระแสความสนใจขององค์ความรู้เกี่ยวกับปัจจัยที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดสุขภาพของคนว่า สุขภาพของคนเรานั้นจะดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับสภาพเงื่อนไขที่คนๆ นั้น เกิด เติบโต ทำงาน ดำรงชีวิต รายได้ และสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนนโยบายและระบบเศรษฐกิจ บรรทัดฐานทางสังคม นโยบายทางสังคม และระบบการเมืองที่มีไว้จัดการเรื่องการเจ็บป่วย ปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยทางสังคมที่เป็นตัวกำหนดสุขภาพ (social determinants of health: SDH)1 อาจสรุปได้ว่า ตำแหน่งแห่งที่ของคนในสังคมหนึ่งๆ และนโยบายและระบบต่างๆ ในสังคมเป็นปัจจัยที่กำหนดสุขภาพของคน จนเมื่อประมาณปี 2013 โลกวิชาการได้ขยายขอบเขตของปัจจัยทางสังคมที่มีผลหรือกำหนดสุขภาพออกไปสู่อาณาเขตใหม่ คือ ปัจจัยทางการค้า ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งทางสังคมที่มีผลหรือกำหนดสุขภาพของคนเรา (commercial determinants of health: CDoH)2

Source of picture: https://spectrum.ed.ac.uk/

เพื่อเข้าใจถึงปัจจัยทางการค้าที่มีผลหรือเป็นตัวกำหนดสุขภาพของคน  เราควรทำความเข้าใจก่อนว่า  ปัจจัยทางการค้า คืออะไร?

ปัจจัยทางการค้า คือ กิจกรรมของภาคธุรกิจหรือบริษัทเอกชนที่ดำเนินการแล้วส่งผลกระทบต่อสุขภาพ3 ยกตัวอย่างเช่น คนงานในโรงฆ่าสัตว์และโรงงานบรรจุเนื้อสัตว์มีอัตราการบาดเจ็บสูง และมีอัตราการติดเชื้อจากโรคโควิด-19 สูง4 บริษัทเอกชนเลือกผลิต ตั้งราคา และทำการตลาดแบบกำหนดกลุ่มเป้าหมายของผลิตภัณฑ์ เช่น นมผง อาหารแปรรูป บุหรี่/ยาสูบ เครื่องดื่มรสหวาน และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้นำไปสู่การเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวานประเภท 2 มะเร็งบางชนิด ความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน การค้าระหว่างประเทศสำหรับสินค้าส่งออกที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า เช่น ไม้ ยาสูบ โกโก้ กาแฟ และผ้าฝ้าย นำมาซึ่งการตัดไม้ทำลายป่าจำนวนมาก ทำให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง อันนำไปสู่การเกิดการระบาดของโรคที่มีพาหะนำโรค เช่น มาลาเรียและชิคุนกุนยา5

แล้วกิจกรรมของบริษัทเอกชนที่ส่งผลต่อสุขภาพมีอะไรบ้าง?

กิจกรรมของบริษัทเอกชน มี 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ (1) กิจกรรมการทางธุรกิจ เพื่อดำเนินงานของบริษัท (2) กิจกรรมทางการตลาด เพื่อพัฒนา ผลิต และจำหน่ายสินค้าของบริษัท และ (3) กิจกรรมทางการเมือง เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมทางนโยบายที่เอื้อต่อบริษัทในการดำเนินธุรกิจ6,7 กิจกรรมทั้งหมดทำไปเพื่อผลกำไรหรือผลตอบแทนจากการลงทุนมากกว่าการส่งเสริมสุขภาพที่ดี

(1) กิจกรรมทางธุรกิจ หมายถึง การควบคุมห่วงโซ่อุปทานและการกระจุกตัวของตลาดของบริษัทเอกชน (เช่น ความพยามยามในการควบรวมกิจการ) การออกแนวปฏิบัติด้านแรงงาน การเสียภาษี และการเคลื่อนย้ายผลกำไร และการแปรรูปสาธารณูปโภค ตัวอย่างกิจกรรมประเภทนี้ ได้แก่ ในเดือนมีนาคม พ.ศ.2563 บริษัทค้าปลีกควบรวมกิจการกับบริษัทค้าส่ง บริษัทเอกชนในต่างประเทศหลีกเลี่ยงการเสียภาษีนิติบุคคล การพยายามใช้ข้ออ้างจากการค้าเสรี7 กิจกรรมทางธุรกิจนำมาซึ่งอำนาจบาตรใหญ่หรืออิทธิพลอย่างไม่เป็นธรรม มีการแข่งขันการตลาดที่ไม่เท่าเทียม และยังส่งผลต่อการมีอำนาจและอิทธิพลเหนือรัฐบาลในประเทศนั้นๆ

(2) กิจกรรมทางการตลาด บริษัทเอกชนทำวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ กำหนดราคา ทำการตลาด รวมถึงการโฆษณาและการขายปลีก เช่น การใช้เทคโนโลยีในการแปรรูปอาหารและผลิตอาหาร และสามารถยืดเวลาการหมดอายุของอาหาร เพื่อลดต้นทุนการผลิต6 การออกแบบบรรจุภัณฑ์อาหารให้มีการ์ตูน ซองสาหร่ายอบกรอบมีภาพดาราเกาหลี และการแถมของเล่นในชุดแฮปปี้มีล เพื่อดึงดูดใจกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็ก ซึ่งเป็นการกระตุ้นการซื้อและการกินของเด็ก (supply drives demand) งานวิจัยทั้งไทยและต่างประเทศยืนยันตรงกันว่า การพบเห็นโฆษณาอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะการใช้ดาราหรือคนที่มีชื่อเสียงมีผลต่อการเพิ่มการกินอาหารของเด็ก ในขณะที่การแจกของแถมที่เป็นของเล่น ทำให้เด็กชอบอาหารที่ทำการตลาดเช่นนี้เพิ่มขึ้น8

(3) กิจกรรมทางการเมือง บริษัทเอกชนมีกิจกรรมทางการเมือง 2 รูปแบบหลักๆ คือ การสร้างภาพสร้างโอกาส และการโต้แย้ง ดังนี้
การสร้างภาพสร้างโอกาส คือ (1) บริษัทเอกชนจัดการหาแนวร่วม โดยบริษัทเอกชนสร้างพันธมิตรกับบุคคลที่สาม (third parties) ได้แก่ หน่วยงานด้านสุขภาพ สื่อ และชุมชน ด้วยการจัดกิจกรรมแสดง "ความรับผิดชอบต่อสังคม" (corporate social responsibility: CSR) เช่น บริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย  มอบผ้าห่มกันหนาวให้แก่ชาวเขาในภาคเหนือ หรือประชาชนในภาคอีสาน (2) การจัดการข้อมูลข่าวสาร เช่น บริษัทเครื่องดื่มน้ำอัดลมเคยให้ทุนทำวิจัยแก่ผู้บริหารในหน่วยงานภาครัฐ บริษัทอาหารยักษ์ใหญ่ของไทยเคยให้เงินสื่อมวลชนในการทำข่าว9 (3) การเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบาย เช่น การล็อบบี้ การเข้ามาเป็นคณะกรรมการหรือกรรมการผู้เชี่ยวชาญในการออกกฎหมาย การให้เงินสนับสนุนพรรคการเมือง นักการเมือง หรือผู้กำหนดนโนบาย ผลจากการดำเนินกิจกรรมเหล่านี้ของบริษัทเอกชนเป็นการสร้างความชอบธรรมและการได้รับการสนับสนุนจากคนในสังคมในการดำเนินธุรกิจของบริษัทตนเองต่อไป ทั้งๆ ที่การดำเนินธุรกิจของบริษัทนั้นทำลายสุขภาพของคนในสังคม

การโต้แย้ง คือ เมื่อรัฐจะมีการใช้กฎหมายควบคุมการดำเนินธุรกิจหรือกิจกรรมของบริษัทเอกชน บริษัทเอกชนมักเน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญที่บริษัทมีต่อเศรษฐกิจในประเทศ และมักส่งเสริมให้รัฐใช้มาตรการให้ความรู้และการศึกษากับประชาชนหรือผู้บริโภค รวมทั้ง ริเริ่มให้มีแนวปฏิบัติแบบภาคสมัครใจ เพื่อลดทอนหรือขัดขวางการออกกฎหมายที่จะส่งเสริมสุขภาพที่ดีให้แก่ประชาชนของรัฐ

จากกิจกรรมดังกล่าวข้างต้น กระแสโลกทางวิชาการต่างเสนอให้ประเทศมีกฎหมายในการควบคุมการดำเนินกิจกรรมทั้ง 3 ประเภทของบริษัทเอกชน ควบคู่ไปกับภาครัฐโดยเฉพาะหน่วยงานด้านสาธารณสุขควรมีมาตรการส่งเสริมสุขภาพของคนจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทเอกชน เช่น มาตรการจำกัดการเข้าถึง (การจำกัดเวลาในการขายสุรา) มาตรการภาษีและราคา (การจัดเก็บและขึ้นภาษีน้ำตาล โซเดียม และไขมัน) มาตรการควบคุมการทำการตลาดและการโฆษณา มาตรการประกันค่าครองชีพ การลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรโดยได้รับค่าจ้าง เพื่อปรับปรุงผลลัพธ์ด้านสุขภาพของเด็ก การลาป่วย และการเข้าถึงประกันสุขภาพ รวมทั้งการเพิ่มความพร้อมของยาที่จำเป็นและเทคโนโลยีด้านสุขภาพ และการสนับสนุนการเข้าถึงยาและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น มีคุณภาพสูง ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และราคาไม่แพง  

ปัจจัยทางการค้าสามารถกำหนดสุขภาพของคนเราได้ ดังนั้น รัฐควรมีมาตรการจัดการการดำเนินกิจกรรมทั้ง 3 กิจกรรมของบริษัทเอกชน เพื่อส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดีของประชาชนมากกว่ามุ่งความเติบโตทางเศรษฐกิจแต่เพียงมิติเดียว


เอกสารอ้างอิง

  1. Osmick MJ, Wilson M. Social Determinants of Health—Relevant History, A Call to Action, An Organization’s Transformational Story, and What Can Employers Do? American Journal of Health Promotion. 2020;34(2):219-24.
  2. West R, Marteau T. Commentary on Casswell (2013): the commercial determinants of health. Addiction. 2013;108(4):686-7.
  3. de Lacy-Vawdon C, Livingstone C. Defining the commercial determinants of health: a systematic review. BMC Public Health. 2020;20(1):1022.
  4. Freeman T, Baum F, Musolino C, Flavel J, McKee M, Chi C, et al. Illustrating the impact of commercial determinants of health on the global COVID-19 pandemic: Thematic analysis of 16 country case studies. Health Policy. 2023;134:104860.
  5. World Health Organization. Commercial determinants of health Geneva: World Health Organization; 2023 [Available from: https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/commercial-determinants-of-health.
  6. Chavez-Ugalde Y, Jago R, Toumpakari Z, Egan M, Cummins S, White M, et al. Conceptualizing the commercial determinants of dietary behaviors associated with obesity: A systematic review using principles from critical interpretative synthesis. Obes Sci Pract. 2021;7(4):473-86.
  7. Mialon M. An overview of the commercial determinants of health. Global Health. 2020;16(1):74.
  8. Boyland E, McGale L, Maden M, Hounsome J, Boland A, Angus K, et al. Association of Food and Nonalcoholic Beverage Marketing With Children and Adolescents' Eating Behaviors and Health: A Systematic Review and Meta-analysis. JAMA Pediatr. 2022;176(7):e221037.
  9. Jaichuen N, Phulkerd S, Certthkrikul N, Sacks G, Tangcharoensathien V. Corporate political activity of major food companies in Thailand: an assessment and policy recommendations. Globalization and Health. 2018;14(1):115.

ภาพปก freepik.com (premium license)

 

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th