The Prachakorn

ลูกเอาแต่ใจ เพราะเลี้ยงลูกเชิงบวก?


มนสิการ กาญจนะจิตรา

07 ธันวาคม 2566
377



การ “เลี้ยงลูกเชิงบวก” เป็นแนวทางการเลี้ยงดูเด็กที่พ่อแม่ในปัจจุบันหลายคนคุ้นเคยเป็นอย่างดี ในหลายปีที่ผ่านมา การเลี้ยงลูกเชิงบวกได้รับการพูดถึงมากยิ่งขึ้น และเชื่อว่าหลายบ้านได้เริ่มใช้แนวทางดังกล่าวที่จะวางไม้เรียว หลีกเลี่ยงการขู่ การดุด่าว่ากล่าวการใช้อำนาจบังคับขู่เข็น แล้วหันมาใช้วิธีการ “เชิงบวก” ในการเลี้ยงดูลูกของตนเอง

แต่ในขณะเดียวกัน เชื่อว่าหลายครอบครัว (และคนรอบข้างเช่น ปู่ ย่า ตา ยาย) ยังมีข้อแคลงใจในแนวทางเชิงบวกนี้ โดยเฉพาะคนที่เติบโตมาด้วยวิธีการสั่งสอนด้วยไม้เรียว คำสอนของไทยที่ว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” ยังคงมีอิทธิพลต่อความคิดคนไม่น้อย การตี ขู่ หรือดุ มักทำให้เด็กหยุดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ได้ จึงดูเป็นแนวทางที่ได้ผลดีในการควบคุมเด็กให้อยู่ในร่องในรอย ในขณะที่การเลี้ยง “เชิงบวก” ดูเหมือนเป็นการให้ท้ายและตามใจ จนกลายเป็นเด็ก “เอาแต่ใจ” หรือแม้กระทั่งอาจจะ “เสียคน” ในอนาคตได้

จากที่เคยอ่านในสื่อสังคมออนไลน์ และการพูดคุยกับพ่อแม่ ลุงป้าน้าอา ปู่ย่าตายาย พบว่าข้อกังขาในลักษณะนี้มีค่อนข้างมาก ตัวอย่างเช่น
    “เห็นหลานที่พ่อแม่เค้าเลี้ยงเชิงบวก เวลาพาออกไปข้างนอกแล้วหลานลงไปดิ้นกับพื้นเพราะอยากได้ของเล่น ก็ต้องซื้อให้ เพราะตีไม่ได้”
    “ไม่น่าเลี้ยงลูกเชิงบวกเลย ตอนนี้ลูกเป็นวัยรุ่นแล้วเริ่มไม่เชื่อฟัง จะตีตอนนี้ก็ตีไม่ได้เพราะไม่เคยตีมาก่อน”

เสียงสะท้อนทั้งสองนี้ เป็นข้อกังวลของการเลี้ยงลูกเชิงบวก แต่ก่อนที่จะหันกลับไปหยิบไม้เรียว อยากให้ลองถามตัวเองดูว่า การไม่ตีนั้นหมายถึงเราต้องตามใจลูกเสมอไปหรือ? การไม่ตีนั้นหมายถึงเราต้องยอมให้ลูกได้ทุกอย่างตามที่ขอหรือ? การไม่ตีนั้นหมายถึงเราไม่สามารถฝึกวินัยให้กับลูกหรือ?

การเลี้ยงลูกเชิงบวกนั้น ไม่ใช่การเลี้ยงลูกแบบตามใจ หลักการของการเลี้ยงลูกเชิงบวก คือการแสดงความรัก ความอบอุ่น ความเอาใจใส่ให้กับลูกอย่างสม่ำเสมอ แต่ไม่ได้แปลว่าพ่อแม่ละเลยการสร้างวินัยให้กับเด็ก ในการเลี้ยงลูกเชิงบวก พ่อแม่ยังต้องวางกฎ กติกา และขอบเขตให้เหมาะสมกับวัย และเมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม พ่อแม่สามารถใช้วิธี “kind but firm” ในการสั่งสอน นั่นคือ พ่อแม่แสดงความเห็นอกเห็นใจลูก แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความหนักแน่น ไม่ให้ก็คือไม่ให้ ไม่ได้ก็คือไม่ได้

การเลี้ยงลูกเชิงบวกมีการวิจัยสนับสนุนมากมาย โดยการศึกษาเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า การเลี้ยงลูกเชิงบวกส่งผลดีต่อลูกในทุกๆ ด้านตลอดช่วงชีวิต ทั้งในเรื่องปัญหาพฤติกรรมที่น้อยกว่า ผลการเรียนที่ดีกว่า การควบคุมอารมณ์ตัวเองที่ดีกว่าเมื่อเข้าวัยรุ่น และการมีสุขภาพจิตและสุขภาวะโดยรวมที่ดีกว่าเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่1

นอกจากนี้ การเลี้ยงลูกเชิงบวกจะใช้แนวทางการ “จับถูก” มากกว่า “จับผิด” ในการส่งเสริมพฤติกรรมที่พึงประสงค์ โดยการมองหาสิ่งที่ลูกทำได้ดีแล้วชื่นชม เพื่อส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมที่ดี เช่น ถ้าลูกชอบแย่งของเล่นกัน แทนที่จะมาคอยบ่นทุกครั้งที่ลูกทะเลาะกัน (จับผิด) ให้รอจังหวะที่ลูกเล่นกันดีๆ แล้วรีบเข้าไปชื่นชม (จับถูก) วิธีเชิงบวกนี้จะส่งเสริมให้ลูกมีความรู้สึกที่ดีกับตนเอง และจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้มีพฤติกรรมเชิงบวกมากขึ้น

ในกรณีตัวอย่างข้างต้นที่หลานร้องไห้งอแงเพราะอยากได้ของเล่น หากใช้แนวทางเชิงบวก พ่อแม่อาจต้องตกลงกติกากับลูกล่วงหน้าก่อนออกจากบ้าน ว่าจะอนุญาตให้ซื้อของเล่นได้หรือไม่ เมื่อถึงร้าน หากลูกทำได้ตามกติกา ก็ชื่นชมที่ลูกรู้จักเคารพกติกา แต่หากไม่ทำตามที่ตกลงกันไว้แล้วร้องไห้อาละวาดก็ต้องพาไปนั่งให้สงบ พ่อแม่อาจปลอบใจ นั่งเป็นเพื่อน แต่อย่างไรพ่อแม่ยังต้องหนักแน่นในกติกา ไม่ตามใจลูกเพื่อให้ลูกหยุดร้อง ในที่สุดลูกจะเรียนรู้ และการร้องไห้อาละวาดก็จะลดลง

การเลี้ยงลูกเชิงบวก จึงไม่ใช่การตามใจ แต่เป็นการใช้วิธีการที่อ่อนโยนในการสอนลูก การเลี้ยงลูกเชิงบวกอาจดูต้องใช้ความพยายามมากกว่าและไม่ได้ผลดีเท่าการตีในระยะสั้น แต่ในระยะยาวจะส่งผลดีต่อทั้งพัฒนาการด้านสติปัญญา สังคม และอารมณ์ ในฐานะแม่ที่พยายามใช้แนวทางเชิงบวกกับลูก เข้าใจความยากของการเลี้ยงลูกเชิงบวกเป็นอย่างดี หลายครั้งที่เผลอใช้วิธีเชิงลบอยู่บ่อยๆ แต่อย่างไรก็คิดว่า การเลี้ยงลูกโดยรวมของตัวเองยังถือว่าเป็นเชิง (ค่อนข้าง) บวก เท่านี้ก็พอใจแล้ว

รูป: การเลี้ยงลูกเชิงบวก
ที่มา: https://www.tria.co.th/care_blog/view/53/ สืบค้นเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2566


เอกสารอ้างอิง

  1. https://health.ucdavis.edu/children/patient-education/Positive-Parenting    สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2566

ภาพปก freepik.com (premium license)


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th