The Prachakorn

ปฐมบทของการผ่อนคลายด้วยดนตรีบำบัด


สุภิรัฐพงศ์ พงศ์ศักดิ์ศรี

19 ธันวาคม 2566
906



ดนตรีบำบัด เป็นวิธีการรักษาโรคด้วยกิจกรรมที่เกี่ยวข้องทางด้านดนตรี

เป้าหมายของดนตรีบำบัดไม่ใช่การฝึกฝนทักษะ แต่เป็นการรักษาสุขภาพกายหรือจิตให้กับผู้เข้าบำบัด ด้วยการร้องเพลง การบรรเลงดนตรี ดนตรีบำบัดมีประวัติศาสตร์มานานกว่า 5,000 ปี ตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ เริ่มแรกมาในรูปแบบของ เวทมนตร์คาถา เมื่อเข้าสู่ยุควิทยาศาสตร์ ใน ค.ศ.1859 (พ.ศ.2402) ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingale) ผู้ให้กำเนิดการพยาบาลสมัยใหม่ ได้นำดนตรีมาใช้ในทางการแพทย์ เพราะเชื่อว่าเสียงดนตรีจะเยียวยาความเจ็บป่วยและทำให้จิตใจสงบลงได้ และในศตวรรษที่ 19 วงการแพทย์ให้ความสนใจในการใช้ดนตรีอย่างมีหลักเกณฑ์มากขึ้น ต่อมา ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีนักดนตรีหลากหลายชาติ เดินทางไปแสดงดนตรียังพื้นที่สงครามเพื่อช่วยผ่อนคลายและบรรเทาทุกข์ให้กับเหยื่อที่บาดเจ็บทั้งทางกายและจิตใจ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มคนเหล่านั้น1

ดนตรีช่วยบำบัดจิตใจและร่างกายที่เหนื่อยล้าในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย

ศูนย์วิชาการมหาวิทยาลัยแห่งความสุขกับการสร้างเสริมสุขภาพอย่างยั่งยืน สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำรวจคุณภาพชีวิตและความสุขกลุ่มคนทำงานในสถาบันการศึกษา จำนวน 6,038 คน ในช่วงปี 2565 จากข้อคำถามของ HAPPINOMETER ในมิติผ่อนคลายดี (Happy Relax) “โดยรวมแล้วใน 1 สัปดาห์ ท่านทำกิจกรรมเพื่อเป็นการพักผ่อนหย่อนใจ(ฟังเพลง/ดูหนัง/อ่านหนังสือ) มากน้อยเพียงใด”

เกินกว่าสามในสี่ของมนุษย์เงินเดือนทุกเพศและทุกเจเนอเรชั่น ทำกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจด้วยการฟังเพลง/ดูหนัง/ อ่านหนังสือ

ผลสำรวจ ระบุว่า กลุ่มตัวอย่างที่ทำกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจดังกล่าวอยู่ในระดับปานกลางสูงที่สุดคือ ร้อยละ 39.7 รองลงมาเป็นระดับมาก ร้อยละ 31.9 และ มากที่สุด ร้อยละ 13.4 ที่น่าสุขใจคือ ไม่ว่าจะเป็นเพศชาย หญิง และ เพศหลากหลาย ในแต่ละเพศทำกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจดังกล่าวอยู่ในระดับปานกลาง มากและมากที่สุด เป็นร้อยละที่สูงมาก กล่าวคือ คนทำงานเพศชาย ทำกิจกรรมรวมกัน 3 ระดับ เท่ากับร้อยละ 85.0 ทำนองเดียวกับ เพศหญิงร้อยละ 85.1 และ เพศหลากหลาย ร้อยละ 82.3 (รูปที่ 1)

มาส่อง เจเนอเรชั่น (Generation) กับการพักผ่อนด้วยการทำกิจกรรมเหล่านี้กันบ้าง ผลสำรวจ ชี้ว่า คนทำงานเจน BB ทำกิจกรรมเหล่านี้เพื่อการผ่อนคลายสูงที่สุดอยู่ในระดับปานกลางคือ ร้อยละ 40.8 เช่นเดียวกับ เจน X ร้อยละ 41.5 และ เจน Y ร้อยละ 39.2 ที่แตกต่างคือ เจน Z ทำกิจกรรมสูงที่สุดอยู่ในระดับมาก คือ ร้อยละ 32.0 และที่น่าสุขใจมากยิ่งขึ้นเมื่อรวม 3 ระดับ ปานกลาง มาก และ มากที่สุด ของแต่ละเจเนอเรชั่น เพราะ เจน BB รวมกันแล้ว สูงถึง ร้อยละ 90.2 เจน X ร้อยละ 86.1 เจน Y ร้อยละ 83.5 และ เจน Z ร้อยละ 86.3 (ดูรูปที่ 2)

ผลสำรวจดังกล่าวสอดคล้องกับรายงานผลวิจัยการตลาดระดับโลกของ มินเทล (Mintel) ที่ระบุว่า ประชากรไทย ร้อยละ 51 นิยมผ่อนคลายความเครียดโดยวิธีการเข้าร่วมกิจกรรมที่สร้างความบันเทิง ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมดังกล่าวต้องมีการฟังเพลงอยู่แน่นอน2

ดนตรีบำบัดเป็นปฐมบทในการพักผ่อนที่ชาญฉลาดและคุ้มค่ามากที่สุด

มนุษย์เราทุกเพศทุกวัยไม่สามารถหลีกหนีความเครียด ที่เข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันได้ตลอดเวลา วิธีการผ่อนคลายความเครียดความเหนื่อยล้าโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “มนุษย์เงินเดือน” ที่มีเวลาพักผ่อนไม่มาก จำต้องหาวิธีผ่อนคลายที่เข้าถึงได้ง่าย เร็ว สะดวก ไม่แพง ข้อสำคัญ ต้องเข้าถึงได้ตลอดเวลา นั่นก็คือ การฟังเพลงจากสื่อต่างๆใกล้มือนั่นเอง ดนตรีบำบัดด้วยการฟังเพลงจึงเป็นปฐมบทในการพักผ่อนที่ชาญฉลาดและคุ้มค่ามากที่สุด


เอกสารอ้างอิง

  1. วัฒนวุฒิ ช้างชนะ. (2563). ดนตรีบำบัด: ความสุขสงบอันเป็นสมาธิสู่จินตนาการที่เปิดกว้าง. วารสารดนตรีบ้านสมเด็จฯ. 2(1). 121-122.
  2. ไทยรัฐ.(2566). งานวิจัย เผย คนไทยส่วนใหญ่ มักคลายเครียดด้วยการกิน โดยเฉพาะ    ขนมถุงเค็มๆ ช่วยฮีลใจได้ [อินเทอร์เน็ต]. [สืบค้นเมื่อ 24 กันยายน 2566]. https:// www.thairath.co.th/money/business_marketing/trends/2696567

Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th