ผมเขียนบทความเรื่องนี้เมื่อวันศุกร์ที่ 29 ธันวาคม 2566 ซึ่งรัฐบาลประกาศให้เป็นวันหยุดราชการในโอกาสขึ้นปีใหม่ เหลือเวลาอีกไม่ถึง 3 วัน ปี 2566 ก็จะสิ้นสุดลง จากนั้นก็เป็นเวลาขึ้นศักราชใหม่ พุทธศักราช 2567 คริสตศักราช 2024 ผมหลับตาเห็นภาพการเฉลิมฉลองช่วงเวลาของการเปลี่ยนปีที่เต็มไปด้วยความรื่นเริงสนุกสนาน ได้ยินเสียงเพลง เสียงดนตรี ได้เห็นแสงสีจากไฟประดับ เห็นประกายไฟจากพลุและดอกไม้ไฟระยิบระยับตระการตา คงได้ดูการถ่ายทอดสดงานฉลองปีใหม่จากทั่วโลก ได้ร่วมกับผู้คนในประเทศอื่นๆ นับถอยหลัง (เคาท์ดาวน์) 30 วินาทีสุดท้ายของศักราชเก่า ไปถึงวินาทีแรกของปีใหม่ตามเวลาของแต่ละพื้นที่ ขอบคุณอินเทอร์เน็ตที่จะทำให้ผู้คนทั่วโลกได้ร่วมฉลองปีใหม่ไปพร้อมๆ กัน
เมื่อวานนี้ผมส่ง ส.ค.ส. 2567 ให้ญาติสนิทมิตรสหายผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ส.ค.ส. ย่อมาจากคำว่า “ส่งความสุข” ในอดีต เมื่อผมยังไม่เป็นผู้สูงอายุ ในช่วงเทศกาลปีใหม่เราจะส่งการ์ด ส.ค.ส. ให้แก่กัน การ์ด ส.ค.ส. นั้นถ้าเราไม่ประดิษฐ์ขึ้นเอง เราก็หาซื้อได้จากร้านขายหนังสือทั่วไป ในการ์ด ส.ค.ส. จะมีข้อความเป็นร้อยแก้วหรือร้อยกรองอวยพรให้ผู้รับการ์ดมีความสุขความเจริญ โชคดีมีทรัพย์ ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ฯลฯ เราส่ง ส.ค.ส. ให้ผู้รับที่อยู่ห่างไกลกันทางไปรษณีย์ ดังนั้น บุรุษไปรษณีย์ ต้องทำงานหนักหน่อยในช่วงเทศกาลขึ้นปีใหม่ ต้องขอบคุณอินเทอร์เน็ตที่ช่วยให้ผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วทั้งโลกส่งความสุขถึงกันและกันในช่วงเวลาแค่อึดใจ
รูป: ส.ค.ส. 2567 โดย ปราโมทย์ ประสาทกุล
ในความคิดส่วนตัวของผม วันขึ้นปีใหม่เป็นเพียงวันสมมุติวันหนึ่งซึ่งก็เหมือนกับวันอื่นๆ พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกในตอนเช้า แล้วพระอาทิตย์ดวงนั้นก็เคลื่อนไปลับหายจากขอบฟ้าทางทิศตะวันตกในยามเย็นเหมือนกับวันอื่นๆ “ปีใหม่...ใช่จะมีชีวิตใหม่ เพียงชีพเก่าสิ้นไปอีกปีหนึ่ง” แต่เมื่อถึงวันขึ้นปีใหม่ของแต่ละปี ผมก็มักจะถือเป็นโอกาสคิดทบทวนชีวิตของตัวเอง วันปีใหม่ก็เหมือนวันเกิดของเรา ที่นับเป็นหมุดหมายแสดงว่าชีวิตของเราใกล้ถึงจุดสุดท้ายเข้าไปอีกปีหนึ่งแล้ว ถึงวันขึ้นปีใหม่หรือครบรอบวันเกิดแต่ละครั้ง ชีวิตของเราก็หมดไปอีกปีหนึ่ง สังขารของเราย่อมร่วงโรยลงและสมรรถนะของอวัยวะต่างๆ ที่ประกอบรวมเป็นร่างกายของเราย่อมเสื่อมโทรมถดถอยลงไปตามอายุที่สูงขึ้น เรามีอายุสูงขึ้นก็เหมือนพระอาทิตย์ที่กำลังเคลื่อนคล้อยต่ำลงแล้วก็จะลับขอบฟ้าไปในที่สุด ธรรมชาติของมนุษย์ คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย “ผมคิดว่าตัวเองไม่กลัวที่จะถึงจุดนั้น”
ทุกวันนี้ประเทศไทยของเราโชคดีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การสูงวัยของประชากรไทยอย่างต่อเนื่อง เราได้รับรู้ว่าประชากรไทยกำลังมีอายุสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ถ้าเรานิยามว่าคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปคือ “ผู้สูงอายุ” ประเทศไทยได้กลายเป็น “สังคมสูงวัย” มาตั้งแต่ปี 2548 แล้ว เมื่อสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด เมื่อดูแนวโน้มจำนวนราษฎรตามประกาศสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยของ 2-3 ปีล่าสุด ก็พอจะคาดประมาณได้ว่าปีใหม่ 2567 นี้ ประเทศไทยน่าจะมีผู้สูงอายุมากถึง 13 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด เรียกได้ว่าประเทศไทยจะกลายเป็น “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” ในปีใหม่นี้ ทุกวันนี้ ในขณะที่ประชากรไทยมีอัตราเพิ่มติดลบ โดยที่จำนวนประชากรรวมกำลังลดลง (เพราะจำนวนเด็กเกิดน้อยกว่าจำนวนคนตาย) แต่จำนวนผู้สูงอายุกลับเพิ่มขึ้นด้วยอัตราประมาณร้อยละ 4 ต่อปี อีกเพียงไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า คาดประมาณได้ว่าประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุเกือบ 20 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมด
ผมกังวลแทนผู้สูงอายุรุ่นต่อไป วิตกแทนครอบครัว สังคม และรัฐ ที่จะต้องมีภาระหนักมากในการดูแลผู้สูงอายุ งบประมาณค่าใช้จ่ายของรัฐในการให้สวัสดิการ การสงเคราะห์ และการรักษาพยาบาลผู้สูงอายุที่จะเพิ่มมากขึ้นอย่างมากในอนาคต ภาระค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ การรักษาพยาบาลและการดูแลที่จะเกิดขึ้นกับตัวผู้สูงอายุเอง ครอบครัว ชุมชน และรัฐ ล้วนเป็นเรื่องที่น่ากังวลทั้งสิ้น
ผมไม่ได้มองโลกในแง่ร้ายหรือวิตกกังวลจนเกินเหตุ ข้อมูลที่ได้จากการฉายภาพประชากรยืนยันว่าประเทศไทยจะกลายเป็น “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” อย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้นี้ และถ้าคนไทยรุ่นต่อไปไม่มีมาตรการที่เหมาะสมที่จะรองรับสังคมผู้สูงวัยเช่นนั้น ประเทศไทยก็อาจกลายเป็นสังคมที่ยากจน เหลื่อมล้ำเศร้าหมอง และน่าเวทนา
ประเทศไทยกำลังมีอายุสูงขึ้นเรื่อยๆ พร้อมๆ กันกับปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา รวมทั้งเทคโนโลยีก็ก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง ผมอยากให้พวกเราลองจินตนาการภาพประเทศไทยที่ประชากร ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ รวมทั้งเทคโนโลยี ต่างมีพลวัตปรับตัวเข้าหากันเพื่อความอยู่รอดของสังคม ผมมีความเชื่อลึกๆ ว่าสังคมสูงวัยไทยจะยังคงพออยู่กันได้ แม้จะกลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอดแล้วก็ตาม
ผมเชื่อว่าคนไทยกำลังปรับตัวให้เหมาะสมกับสถานการณ์การสูงวัยของประชากร เราจะเห็นว่าประเทศไทยมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ทุกวันนี้เราจะเห็นคนที่มีอายุมากๆ ยังมีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง กระฉับกระเฉง ผู้สูงอายุจำนวนมากปรากฏตัวในที่สาธารณะอย่างไม่แปลกแยกกับคนวัยหนุ่มสาว ผู้สูงอายุจำนวนมากยังคงทำงานและยังมีส่วนร่วมในสังคม
ทุกวันนี้ และวันต่อๆ ไปในอนาคต อินเทอร์เน็ตจะมีบทบาทสำคัญในการดำรงชีวิตของคนไทยโดยเฉพาะผู้สูงวัย เราได้เห็นแนวโน้มที่ชัดเจนแล้วว่า โทรศัพท์มือถือที่ใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ตได้กลายเป็นเสมือนอวัยวะส่วนหนึ่งของคนไทยแต่ละคน สำหรับผู้สูงอายุ โทรศัพท์มือถือจะเป็นอุปกรณ์สำคัญในการใช้ชีวิต โดยเป็นทั้งแหล่งข้อมูลข่าวสารความรู้ เป็นเวทีให้ญาติพี่น้องหรือมิตรสหายได้พบปะสนทนากัน เป็นตลาดสินค้าให้ซื้อขายผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ เป็นเครื่องมือในการประกอบธุรกรรมทางการเงิน เป็นเครือข่ายบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อการดูแลและรักษาพยาบาลผู้ป่วย ฯลฯ ยิ่งไปกว่านั้น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะทำให้เกิดนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ และปัญญาประดิษฐ์อีกมากมายที่จะช่วยในการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุและบุคคลทั่วไป
อย่างไรก็ตาม มีสองเรื่องที่น่าเป็นห่วงสำหรับสังคมสูงวัยระดับสุดยอดคือ เรื่องการดูแลสุขภาพและการมีรายได้ที่เพียงพอต่อการยังชีพของผู้คน ผมพยายามมองโลกในแง่ดีในเรื่องสุขภาพของคนไทย เท่าที่ผ่านมา สวัสดิการบริการรักษาพยาบาลที่รัฐจัดให้คนไทยทุกคนได้รับ ไม่ว่าจะเป็นโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคสิทธิบัตรทอง สิทธิการรักษาพยาบาลจากกองทุนประกันสังคม หรือสิทธิของข้าราชการบำนาญ ได้ช่วยบรรเทาความกังวลของผู้คนในเรื่องนี้ ในอนาคตรัฐจะต้องมีรายจ่ายในการดูแลรักษาสำหรับผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ผมก็เชื่อว่ารัฐจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเพียงพอที่จะจ่ายเป็นสวัสดิการให้ประชาชนในเรื่องนี้ โดยตัวคนไทยก็ต้องดูแลตนเองให้เป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีและมีพลังให้นานที่สุด เพื่อแบ่งเบาภาระของตัวเอง ครอบครัว และสังคม
การมีรายได้ที่เพียงพอต่อการยังชีพของผู้สูงอายุ เป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่น่าเป็นห่วง ปัจจุบันคนไทยมีหนี้สินกันมากและมีการออมน้อย ผมอยากจะมองโลกในแง่ดีว่า เมื่อคนไทยรุ่นใหม่ตระหนักว่าตนเองจะต้องมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกนานมาก พวกเขาก็จะต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายและการออม พวกเขาจะรู้จักการวางแผนการเงินตั้งแต่อายุยังน้อย รัฐและเอกชนก็ต้องร่วมมือกันหามาตรการให้ผู้สูงอายุยังอยู่ในกำลังแรงงานให้นานขึ้น ทุกวันนี้ สวัสดิการของรัฐที่จ่ายเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุและบำนาญชราภาพจากกองทุนประกันสังคมช่วยผู้สูงอายุได้มาก ระบบสวัสดิการอย่างนี้คงต้องมีอยู่ต่อไป โดยจัดสรรให้ผู้สูงอายุอย่างทั่วถึงมากขึ้น แหล่งทุนเพื่อเป็นรายได้ให้ผู้สูงอายุยามเกษียณ เช่น กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ควรได้รับการส่งเสริมให้เข้มแข็งมากขึ้น และอาจต้องมีระบบการให้เงินสงเคราะห์เป็นพิเศษสำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ
ในขณะที่สังคมไทยกำลังปรับตัวเพื่อจะกลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอดนั้น คนไทยแต่ละคนก็คงต้องปรับตัวตามไปด้วย แต่ก่อนหลายคนอาจคิดว่า “อยากทำอะไรก็ทำไปเถิด คนเรามีชีวิตอยู่อีกไม่นาน” เดี๋ยวนี้อายุคาดเฉลี่ยของคนไทยยืนยาวขึ้นคนรุ่นใหม่จะเห็นตัวอย่างแล้วว่า เดี๋ยวนี้คนไทยอายุยืน คนสมัยก่อนอาจคิดว่า “หวังพึ่งลูกหลานให้ดูแลยามแก่เฒ่า” เดี๋ยวนี้หลายคนไม่มีลูกหลาน หรือมี แต่ก็จะไปหวังพึ่งเขาไม่ได้ ผู้สูงอายุสมัยนี้ และผู้ที่ยังไม่เป็นผู้สูงอายุจะต้องคิดถึงการพึ่งตัวเอง ดังนั้น จึงต้องเตรียมดูแลตัวเองให้มีสุขภาพดี มีการออมทั้งด้วยตนเองหรือด้วยการเข้าสู่ระบบการออมที่รัฐหรือเอกชนจัดสร้างขึ้น มีการเตรียมตัวสำหรับการเจ็บป่วยระยะสุดท้าย และเตรียมที่จะตายอย่างมีคุณภาพ