The Prachakorn

ราคาของความตายในวัยสูงอายุ


จงจิตต์ ฤทธิรงค์,ธนพร เกิดแก้ว

19 กุมภาพันธ์ 2567
1,454



ทุกอย่างบนโลกนี้มีราคาที่ต้องจ่าย แม้กระทั่งการตายก็ย่อมมีราคาเช่นกัน
แล้วคุณหล่ะ...ได้เตรียมความพร้อมก่อนออกเดินทางไกลไว้แล้วหรือยัง?

เมื่อประตูเตาเผาปิดลง ร่างกายและเปลวไฟถูกหลอมรวมเป็นหนึ่ง คงเหลือไว้เพียงผุยผงอัฐิ เมื่อนั้นประตูแห่งบั้นปลายชีวิตจึงได้ชื่อว่าสิ้นสุดลงอย่างสมบูรณ์ตามความเชื่อของพุทธศาสนา...

ความตายอาจไม่ใช่จุดสิ้นสุดของการเป็นผู้สูงอายุ เพราะความรับผิดชอบยังคงต่อเนื่องไปจนกว่าร่างกายจะได้รับการดูแลจนเรียบร้อย การจัดการศพมีค่าใช้จ่าย ผู้สูงอายุหลายคนได้วางแผนออมเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพของตนเองไว้เพื่อไม่เป็นภาระแก่ลูกหลาน บางคนมีโอกาสได้ออกแบบงานศพที่ตนเองต้องการ แต่บางคนอาจไม่ทันได้เตรียมความพร้อม เนื่องจากข้อจำกัดด้านการเงิน ทำให้การเตรียมรับมือก่อนวันสุดท้ายที่จะมาถึงไม่ทันการ

ราคาของความตาย ในที่นี้หมายถึง ค่าใช้จ่ายภายหลังจากเสียชีวิต ซึ่งอาจมากน้อยแตกต่างกันไปตามประเพณีของแต่ละชาติและเศรษฐฐานะของแต่ละบุคคล ยกตัวอย่างค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในภาพรวม อาทิ ค่าจัดการงานศพ ค่าทำศพ หากไม่สามารถจัดการทำศพได้โดยทันที อาจต้องมีค่าเช่าห้องเย็นเพื่อเก็บศพไปอีกระยะเวลาหนึ่งตามมา อีกทั้งยังมีค่าทำความสะอาดที่พักอาศัยเพื่อการเก็บของใช้ส่วนตัว โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้สูงอายุอาศัยอยู่ในห้องหรือบ้านเช่าตามลำพัง เมื่อเสียชีวิตในที่พักโดยไม่มีใครรู้ ค่าใช้จ่ายที่จะตามมาก็คือ ค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดที่พัก เพื่อให้ผู้อื่นได้สามารถเช่าพักอาศัยต่อไปได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ที่เจ้าของที่พักหรือญาติพี่น้องต้องเป็นผู้ดำเนินการให้แล้วเสร็จ จากรายการค่าใช้จ่ายข้างต้น ทำให้เราพอเห็นภาพคร่าว ๆ ได้ว่า ราคาของความตายนั้นไม่น้อยเลยทีเดียว แม้ว่าค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพจะไม่แตกต่างระหว่างเพศและอายุ บทความนี้ขอเสนอ “ราคาแห่งความตาย” เป็นประเด็นเพื่อการตระหนักรู้เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ เนื่องด้วยอัตราการเสียชีวิตของสังคมสูงวัยเกิดจากประชากรกลุ่มนี้เป็นหลัก

ในประเทศญี่ปุ่น ผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวตามลำพังมีอัตราและจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดประมาณว่าครึ่งหนึ่งของครัวเรือนทั้งหมดในประเทศเป็นครัวเรือนคนเดียว นอกจากนี้ ผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวตามลำพังได้เพิ่มขึ้นจาก 9.6% ในปี 2000 เป็น 15.5% ในปี 20151 หรือ มีจำนวนมากถึง 6 ล้านคน ส่วนประเทศไทย อัตราครัวเรือนผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังคนเดียวเพิ่มขึ้นจาก 1.3% ของครัวเรือนทั้งหมดในพ.ศ. 2533 เป็น 7.3% ในพ.ศ. 2563 อัตรานี้สะท้อนให้เห็นว่าผู้สูงอายุไทยมีแนวโน้มจะอยู่ลำพังคนเดียวเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน สื่อต่างๆ ได้นำเสนอสถานการณในญี่ปุ่น ที่แสดงให้เห็นว่าผู้สูงอายุมีโอกาสจะเสียชีวิตคนเดียว (die alone) ซึ่งอาจใช้เวลาหลายวันกว่าเพื่อนบ้านหรือผู้ให้เช่าที่พักจะสังเกตได้ว่าเกิดความผิดปกติ หลายกรณีพบว่าเสียชีวิตไปแล้วหลายวัน กว่าเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจะทราบและแจ้งให้ญาติมาจัดการงานศพ รวมทั้งสิ่งของในที่พักอาศัยทั้งหมด เจ้าของที่พักอาศัยจะสามารถจัดการและทำความสะอาดที่พักอาศัยให้ได้เมื่อได้รับอนุญาตจากญาติเท่านั้น บางกรณีที่ญาติอยู่ห่างไกลหรือไม่สามารถติดต่อได้ทันที จะต้องรอให้ได้รับการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นก่อนเพื่อดำเนินการในขั้นตอนต่อ ๆ ไปได้ ยิ่งไปกว่านั้น เนื่องด้วยค่าใช้จ่ายสำหรับการทำความสะอาด และการจัดงานศพภายหลังจากที่ผู้สูงอายุเสียชีวิตลงแล้วมีจำนวนไม่น้อยทีเดียว บางครั้งญาติที่ไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายได้จึงไม่มาแสดงตนเพื่อจัดการศพและทรัพย์สินของผู้เสียชีวิต2

สถานการณ์ของประเทศไทยเริ่มน่ากังวลอยู่ไม่น้อย เพราะมีการคาดประมาณว่าปีหนึ่งๆ จะมีผู้สูงอายุตายลำพังคนเดียวมากถึง 4.7 หมื่นคนต่อปี3 หากไม่มีลูกหลานมาจัดการให้ งานศพอาจเกิดขึ้นด้วยการสงเคราะห์ของคนในชุมชน อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุหลายคน  ตระหนักถึงค่าใช้จ่ายสำหรับจัดงานศพที่อาจเป็นภาระของลูกหลานในภายหลังจากที่เสียชีวิต สำหรับผู้สูงอายุในชนบทที่เศรษฐฐานะไม่เอื้อให้ออมเงินก้อนได้ มักจะเข้าร่วมการเป็นสมาชิกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ โดยพระราชบัญญัติการฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ. 2545 ระบุว่า การฌาปนกิจสงเคราะห์ คือ “กิจการที่บุคคลหลายคนตกลงเข้าร่วมกันเพื่อทำการสงเคราะห์ซึ่งกันและกันในการจัดการศพ หรือจัดการศพและสงเคราะห์ครอบครัวของบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่ตกลงเข้าร่วมกันนั้นซึ่งถึงแก่ความตาย และมิได้ประสงค์จะหากำไรหรือรายได้เพื่อแบ่งปันกัน4” ผู้ที่ต้องการเป็นสมาชิกต้องจ่ายเงินค่าสมัครและเงินสงเคราะห์ที่ “สมาชิกร่วมกันออกช่วยเหลือเป็นค่าจัดการศพ หรือค่าจัดการศพและสงเคราะห์ครอบครัวของสมาชิกซึ่งถึงแก่ความตาย รวมทั้งเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อดำเนินกิจการของสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ 5” อัตราค่าจัดการศพขึ้นกับสมาคมและการตกลงกันระหว่างสมาชิก โดยทั่วไปในพื้นที่ชนบทจ่ายอัตราศพละไม่กี่สิบบาท “เพื่อมุ่งสงเคราะห์เฉพาะเมื่อมีการตายเกิดขึ้น โดยประชาชนมีส่วนร่วมช่วยเหลือเกื้อกูลกันเอง5” ความร่วมมือกันของสมาคมข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ประเพณีไทยอาจมีความโชคดีที่มีวัฒนธรรมการทำบุญตามความสมัครใจและตามเศรษฐฐานะของผู้ร่วมบุญเพื่อช่วยเหลือครอบครัวผู้สูญเสีย ซึ่งช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพได้อยู่ไม่มากก็น้อย 

รูป ดอกไม้จันทน์ซึ่งเป็นดอกไม้ประดิษฐ์ที่ใช้สำหรับวางคำนับศพของผู้ล่วงลับ
แหล่งที่มา: ดอกไม้จันทน์ กับข้อควรปฏิบัติ สุริยาหีบศพ หีบศพ โลงศพ (brandrankup.com)

ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทำงานศพของวัดในกรุงเทพฯ ซึ่งผู้คนมีวิถีชีวิตที่เร่งรีบ รวดเร็ว ฉะนั้น การจัดงานศพในวัดที่อำนวยความสะดวกหรือมีการจัดสรรตัวเลือกการจัดงานศพที่ระบุค่าใช้จ่ายให้เบ็ดเสร็จ จะเป็นตัวเลือกต้นๆ ที่ญาติหรือเจ้าภาพจะพิจารณา ค่าใช้จ่ายแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ วันบำเพ็ญกุศล (สวด) วันฌาปนกิจ (เผา) และวันเก็บอัฐิ ราคามากน้อยมักจะขึ้นอยู่กับจำนวนคืนที่เจ้าภาพกำหนด (3 คืน หรือ 5 คืน หรือ 7 คืน) และ ขนาดของศาลา (เล็ก/ใหญ่) ซึ่งสามารถจำแนกค่าใช้จ่ายแยกรายการได้ดังนี้ 1) ค่าเช่าศาลา 2) ค่าน้ำ ไฟฟ้า 3) ค่าเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก 4) ค่าอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการประกอบพิธี เช่น ผ้าไตรบังสุกุล สบงบังสุกุล สังฆทาน ค่าน้ำมันเผาศพ 5) ค่าน้ำและอาหารเลี้ยงแขกในงาน 6) ค่าดอกไม้ถวายพระ 7) ค่าดอกไม้ตกแต่งงาน และ 8) ค่าของชำร่วย ทั้งนี้ รายการที่ 5 – 8 ส่วนมากจะขึ้นอยู่กับเจ้าภาพจัดหามาเพิ่มเติม ตัวอย่างค่าใช้จ่ายเบ็ดเสร็จตลอดงาน 7 วัน ของวัดในกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน อาทิ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ประมาณ 50,000 - 60,000 บาท วัดใหม่อมตรส ประมาณ 20,000 – 35,000 บาท (ไม่รวมค่าช่องบรรจุอัฐิที่วัด 15,000 – 20,000 บาท) วัดบางบัว ประมาณ 12,000 – 20,000 บาท (ไม่รวมค่าช่องบรรจุอัฐิที่วัด 3,000 บาท) และจากการค้นหาข้อมูลย้อนหลังไป 13 ปี ที่แล้ว6 พบว่า วัดพระศรีมหาธาตุวรวิหาร วัดโสมนัส วัดมกุฏกษัตริยารม วัดหัวลำโพง วัดเสมียนนารี วัดตรีทศเทพ และวัดเทพศิริทร์ มีค่าใช้จ่ายมากถึง 70,000 – 150,000 บาท

หากเป็นวัดตามต่างจังหวัดในพื้นที่ชานเมืองหรือชนบทที่มีบริบททางสังคมที่คนในสังคมนั้น ๆ ยังคงพึ่งพาอาศัยอยู่สูง ราคาค่าใช้จ่ายสามารถยืดหยุ่นได้มากน้อยขึ้นอยู่กับความต้องการร่วมทำบุญของคนในชุมชน กำลังของเจ้าภาพ ตลอดจนความเหนียวแน่นหรือความสามัคคีของคนในชุมชน ถึงแม้ว่าค่าใช้จ่ายจะมีความยืดหยุ่น แต่ขั้นตอนในการประกอบพิธีจะเคร่งครัดและครบถ้วนตามประเพณีวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมา เช่น จำนวนวันในการตั้งศพต้องเป็นไปตามการคำนวณวันเวลาศพฤกษ์ยามที่ชุมชนนั้น ๆ เห็นสมควร ตัวอย่างเช่น วัดห้วยบง และวัดบ้านปาง จังหวัดลำพูน จะไม่มีกำหนดค่าใช้จ่ายตายตัวเนื่องจากวัดเป็นส่วนหนึ่งของแต่ละหมู่บ้าน เมรุเผาศพเกิดขึ้นจากการช่วยกันสร้างของชาวบ้าน ซึ่งเมรุเผาศพดังกล่าวจะแยกออกจากวัดไปอยู่บริเวณของป่าช้า ค่าน้ำ ค่าไฟ ขึ้นอยู่ตามกำลังศรัทธาของเจ้าภาพ อย่างมากก็จะมีค่าน้ำมันเผาศพที่จำเป็นต้องจ่าย เนื่องจากการเผาศพแต่ละครั้งต้องใช้น้ำมันจำนวนมาก ราคาน้ำมันดังกล่าว อยู่ที่ประมาณ 3,000 – 5,000 บาท อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายอื่นที่เพิ่มขึ้นมากจะมาจากการจัดเตรียมอาหารสำหรับเลี้ยงผู้คนในหมู่บ้านที่มาช่วยงาน วันละ 3 มื้อ

กรณีของวัดในต่างจังหวัดที่เป็นชุมชนเมือง ผู้มาร่วมงานอาจเป็นทั้งคนในพื้นที่และมาจากต่างจังหวัด การประกอบพิธีส่วนมากจะเป็นไปด้วยความเรียบง่าย และมีรายจ่ายที่ทางวัดกำหนดไว้คร่าว ๆ ให้แล้ว ตัวอย่างเช่น วัดใน อ.แม่ริม และ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ค่าใช้จ่ายทั้งงานขั้นต่ำ 3 คืน 4 วัน อาจตกประมาณ 20,000 – 30,000 บาท ขึ้นไป โดยมีรายการรายจ่ายที่ทางวัดได้ตั้งไว้ อาทิ ค่าบำรุงสถานที่ ค่าพิธีกรรม ค่าฌาปนกิจเผาศพ ค่าอาหารเครื่องดื่มแขกที่มาร่วมงาน นอกจากนี้ อาจมีค่าใช้จ่ายสำหรับพิธีกรรมทางศาสนาของภาคเหนือเพิ่มเติม เช่น การเทศน์ ซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการของเจ้าภาพว่าต้องการจัดทุกคืนหรือมีเฉพาะวันสุดท้าย การเทศน์ดังกล่าวมีความสำคัญต่อพิธีกรรมข้างต้นอย่างมาก การเทศน์ 1 กัณฑ์ โดยพระ 1 รูปค่าใช้จ่ายประมาณ 500 บาท และหากเป็นทำพิธีวันสุดท้าย สวดมาติกาก่อนฌาปนกิจ 4 รูปขึ้นไป (จำนวนรูปต้องเป็นจำนวนคู่ 4 6 8 10 รูป) รูปละ 300 ขึ้นไป หรือแล้วแต่ความต้องการของเจ้าภาพ อย่างไรก็ตาม รายจ่ายทั้งหมดขึ้นอยู่กับการตกลงกันร่วมกันระหว่างเจ้าภาพกับสถานที่นั้น ๆ หรืออาจจะทำให้ฟรี ซึ่งบางวัดจะมีการรับบริจาคทำศพเพื่อผู้มีเงินน้อย

นอกจากค่าใช้จ่ายเพื่อจัดการงานศพแล้ว ภาระยังไม่ได้สิ้นสุดเพียงการจากโลกนี้ไปเท่านั้น แต่ข้าวของเครื่องใช้ที่เหลืออยู่จึงเป็นภาระให้แก่ญาติต่อไป การจัดการทรัพย์สินของคนอื่นอย่างเหมาะสมอาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสิ่งของต่าง ๆ หมายถึงความทรงจำของผู้ที่จากไป นักเขียนชาวสวีเดนจึงริเริ่มแนวคิด “ทิ้งก่อนตาย (death cleaning)7” เพื่อจัดการข้าวของของตนเองก่อนตาย และเหลือของไว้ให้น้อยชิ้น ตามความจำเป็นและความผูกพัน พร้อมทั้งระบุวิธีการจัดการสิ่งของที่เหลืออยู่ เพื่อให้ญาติผู้จัดการทรัพย์สินสามารถดำเนินการได้ตามประสงค์ของผู้ตาย การทิ้งก่อนตายถือเป็นมรณานุสติรูปแบบหนึ่ง เพื่อเตรียมตัวตาย ทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายและภาระของลูกหลานหรือญาติที่อาสาเป็นธุระจัดการข้าวของและทรัพย์สมบัติที่เหลืออยู่

ท้ายสุดนี้ การเตรียมความพร้อมก่อนตายที่ไม่เกิดภาระแก่คนข้างหลัง ย่อมจะเป็นการจากไปอย่างสุขและสงบกว่าเป็นแน่


อ้างอิง

  1. KUMAGAI N. Care Preferences of Elderly People Living Alone in Japan. Health Education and Public Health 2018; 1(2): 101 – 9.
  2. STANDARD T. ส่องมุมมืด สังคมผู้สูงอายุ ใน ญี่ปุ่น ‘ระเบิดเวลา’ ที่อาจเกิดขึ้นกับไทย. In: Key Message, editor. กรุงเทพฯ; 2566. p. https://youtu.be/TWBg15iVQpU?si=crl0dtc2W4y2X7t.
  3. สราวุธ ไพฑูรย์. ผู้สูงอายุที่ตายตามลำพังในประเทศไทย. 2560. https://tdri.or.th/2017/12/ageing-pass-away/ (accessed 16 กุมภาพันธ์ 2567).
  4. ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. . พระราชบัญญัติ การฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ. ๒๕๔๕ ประเทศไทย; 2545.
  5. กระทรวงมหาดไทย. มาตรฐานสุสานและฌาปนสถาน In: กระทรวงมหาดไทย, editor. กรุงเทพฯ: กระทรวงมหาดไทย; 2549.
  6. THAIPUBLICA. ธุรกิจงานศพ : จัดงาน 7 วัดดัง กทม. โปรดนับเงินในกระเป๋าก่อน (2). 2554. https://thaipublica.org/2011/09/funerals2/ 5 มกราคม 2567).
  7. Magnusson M. The Gentle Art of Swedish Death Cleaning: How to Free Yourself and Your Family from a Lifetime of Clutter (The Swedish Art of Living & Dying Series): Scribner; 2018.

 


Tags :

CONTRIBUTORS

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th