ปรากฏการณ์การสูงวัยของประชากรกำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ประชากรกำลังมีอายุสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในแถบยุโรป อเมริกา หรือแม้กระทั่งในทวีปเอเชียหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย การมีอายุที่ยืนยาวขึ้นของประชากร ทำให้มีคนร้อยปีเพิ่มมากขึ้น โอกาสที่คนอายุ 80 ปี รอดไปจนถึงอายุ 100 ปีนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลทำให้จำนวนคนร้อยปีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ศตวรรษิกชนจึงเป็นกลุ่มคนที่น่าสนใจเป็นพิเศษ มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับความยืนยาวของชีวิตมนุษย์ คนร้อยปีเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า และเป็นตัวอย่างของการสูงวัยอย่างประสบความสำเร็จ (successful aging)
สหประชาชาติได้คาดประมาณว่า ในปี 2024 จำนวนคนร้อยปีในโลกมีอยู่ประมาณ 7 แสน 2 หมื่นคน หรือคิดเป็นร้อยละ 0.0089 ของประชากรทั้งหมด เป็นชาย 1 แสน 4 หมื่นคน และหญิง 5 แสน8 หมื่นคน คิดเป็นอัตราส่วนเพศชาย 24 คน ต่อหญิง 100 คน โดยประเทศญี่ปุ่น มีจำนวนคนร้อยปีมากที่สุดในโลก ซึ่งตอนนี้มีมากกว่าหนึ่งแสนคนไปแล้ว รองลงมาคือ ประเทศสหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย และไทยตามลำดับ
ตาราง: จำนวนและสัดส่วนศตวรรษิกชนของโลก ของ 5 อันดับที่สูงที่สุด ในปี 2024
ประเทศ | จำนวนศตวรรษิกชน (คน) | ร้อยละ (ต่อประชากรทั้งหมด) |
โลก | 722,075 | 0.0089 |
ญี่ปุ่น | 145,521 | 0.1154 |
สหรัฐอเมริกา | 107,706 | 0.0278 |
จีน | 59,523 | 0.0042 |
อินเดีย | 48,085 | 0.0031 |
ไทย | 37,997 | 0.0529 |
ที่มา: United Nations World Population Prospects, 2022
(https://population.un.org/wpp/Download/ สืบค้นเมื่อ 9 มกราคม 2567)
สำหรับประเทศไทย แหล่งข้อมูลจำนวนศตวรรษิกชนไทยแหล่งเดียวที่มีการนำตัวเลขมาใช้คือ ทะเบียนราษฎร ของสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่รายงานว่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 มีจำนวนคนร้อยปีในประเทศไทยอยู่ 36,845 คน (ร้อยละ 0.0557 ของประชากรทั้งหมด) ซึ่งเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลคาดประมาณของ UN ข้างต้น พบว่า มีจำนวนคนร้อยปีสูงใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตาม ยังมีคำถามเกิดขึ้นอยู่เสมอว่า ข้อมูลจำนวนคนร้อยปีตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรถูกต้องเพียงไร และแท้ที่จริงแล้ว ประชากรอายุร้อยปีขึ้นไปในประเทศไทยมีอยู่ประมาณเท่าไร
การรอดชีพที่มีผลต่อความยืนยาวของชีวิตมนุษย์คือ การรอดชีพของคนร้อยปี ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว การรอดชีพที่เพิ่มขึ้นของคนอายุ 80 ปี ไปเป็น 100 ปีนั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลทำให้จำนวนคนร้อยปีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งนี้เป็นเพราะการพัฒนาทางด้านการแพทย์ การสาธารณสุข ที่อยู่อาศัย ความเป็นอยู่ และอาหารการกินที่ดีขึ้น นอกจากนี้ การรอดชีพที่เพิ่มขึ้นมีความแตกต่างระหว่างเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้สูงอายุวัยปลาย โดยพบว่า คนร้อยปีหญิงจะมีแนวโน้มรอดชีพมากกว่าคนร้อยปีชาย
แนวโน้มของสัดส่วนศตวรรษิกชนโลก จากข้อมูลการคาดประมาณของสหประชาชาติ (2022) พบว่า คนร้อยปีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเกือบแตะ 1 ล้านคนในปี 2030 โดยเฉพาะสัดส่วนคนร้อยปีหญิงที่พบว่า มีมากกว่าคนร้อยปีชายมาโดยตลอด นอกจากนี้ ยังสังเกตเห็นความห่างของเส้นอัตราส่วนคนร้อยปีระหว่างเพศที่พบว่า แนวโน้มมีความห่างมากขึ้น
แผนภูมิ: จำนวนคนร้อยปีของโลก ปี 1950-2100
ที่มา: United Nations World Population Prospects, 2022
สืบค้นเมื่อ 9 มกราคม 2567
เมื่อคนมีอายุยืนยาวขึ้น ทุกคนคงมีคำถามอยู่ในใจว่า แล้วคนเราจะมีอายุยืนยาวได้จนถึงกี่ปี กินเนสบุ๊คได้มีการบันทึกไว้ว่า คนที่เคยมีชีวิตอยู่ยาวนานที่สุดของโลก และมีหลักฐานยืนยันได้มีอายุสูงถึง 122 ปี ได้แก่ Jeanne Louise Calment เป็นชาวฝรั่งเศส ซึ่งได้เสียชีวิตในปี 1997 ในวัย 122 ปี (รูปซ้าย) สำหรับบุคคลที่มีอายุยืนยาวที่สุดในโลกในปัจจุบันที่ยังมีชีวิตอยู่ คือ Maria Branyas Morera ชาวสเปน เกิดวันที่ 4 มีนาคม 1907 และปัจจุบันในปี 2024 มีอายุ 116 ปี (รูปขวา)
จะเห็นได้ว่า การมีอายุที่ยืนยาวขึ้น รวมถึงการตายที่มีแนวโน้มลดลง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จำนวนศตวรรษิกชนมีมากขึ้นในปัจจุบัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ศตวรรษิกชนถือว่าเป็นกลุ่มบุคคลที่มีอายุเกินกว่าอายุคาดเฉลี่ยของโลกที่มีอายุยืนยาวเป็นพิเศษ และอาจมีชีวิตอยู่ได้จนถึงอายุสูงสุดเท่าที่มนุษย์จะสามารถมีชีวิตอยู่ได้
รูป: ซ้าย: บุคคลที่มีอายุยืนยาวที่สุดในโลกที่เคยมีมาในอดีตที่มีหลักฐานยืนยันได้
ขวา: บุคคลที่มีอายุยืนยาวที่สุดในโลกในปัจจุบันที่มีหลักฐานยืนยันได้
ที่มา: https://www.guinnessworldrecords.com/world-records/oldest-person,
https://www.guinnessworldrecords.com/world-records/84549-oldest-person-living สืบค้นเมื่อ 9 มกราคม 2567