คนไทยมีอายุยืนยาวกว่าในอดีต จากอายุคาดเฉลี่ย (เมื่อแรกเกิด) อยู่ที่ 75 ปี ในขณะที่อายุคาดเฉลี่ยเมื่ออายุ 60 ปี อยู่ที่ 21 ปี การมีอายุยืนยาวขึ้นส่งผลให้ประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้ว อีก 1-2 ปีจากนี้ มองไปทางไหนก็จะเห็นผู้สูงอายุกันมากขึ้น จากข้อมูลในปี 25651 พบว่า ในจำนวนประชากรไทย 66.1 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) 12.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 19 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นผู้สูงอายุวัยต้น (60-69 ปี) 7 ล้านคน ผู้สูงอายุวัยกลาง (70-79 ปี) 3.6 ล้านคน และผู้สูงอายุวัยปลาย (80 ปีขึ้นไป) 1.9 ล้านคน
บางคนอาจจะสงสัยว่า เหตุใดจึงต้องสนใจและให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงที่ประเทศไทยมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคตเช่นนี้
การที่คนครองตัวเป็นโสดกันมากขึ้น แต่งงานกันช้าลง มีลูกกันน้อยลง บ้างก็ไม่มีลูกเลย รวมทั้งการที่คนไทยมีอายุยืนยาวขึ้นหรือการที่ผู้สูงอายุมีอายุยืนยาวมากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้จำนวนประชากรวัยแรงงานลดน้อยลงอย่างแน่นอน คนวัยแรงงานจึงต้องแบกรับภาระในการดูแลผู้สูงอายุมากกว่าในอดีต ขณะที่ตนเองก็กำลังก้าวเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุด้วย สถานการณ์เหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินของผู้สูงอายุไทยตามไปด้วย
ข้อมูลจากรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย ปี 25652 ระบุว่า เกือบ 20 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนของผู้สูงอายุที่ยังคงทำงานมีแนวโน้มลดลง จากร้อยละ 38.9 ในปี 2547 เป็นร้อยละ 36.1 ในปี 2565 โดยผู้สูงอายุที่ยังคงทำงาน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุวัยต้น (60-69 ปี) และสัดส่วนการทำงานของผู้สูงอายุจะลดลงเมื่ออายุมากขึ้น สัดส่วนของผู้สูงอายุชายยังคงทำงานมากกว่าผู้สูงอายุหญิง ทั้งนี้การทำงานของผู้สูงอายุส่วนใหญ่เป็นการทำงานส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้าง (64.5%) หรือเป็นผู้ช่วยธุรกิจในครัวเรือน (19.7%) อาจกล่าวได้ว่า “ผู้สูงอายุไทยที่ยังคงทำงาน ส่วนใหญ่เป็นการทำงานนอกระบบที่อาจไม่ได้รับการคุ้มครองด้านแรงงานที่เหมาะสม”
นอกจากนี้ ข้อมูลการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย พ.ศ. 25643 พบว่า ผู้สูงอายุไทยเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น (54.3%) ที่มีเงินออม (ซึ่งในที่นี้ หมายถึง การสะสมเงิน ทรัพย์สินและการลงทุนในรูปแบบต่างๆ ไม่รวม บ้าน ที่ดิน และยานพาหนะ) โดยในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีเงินออมนี้ มีมากถึงร้อยละ 41.4 ที่มีเงินออมต่ำกว่า 5 หมื่นบาท (ดูแผนภูมิ) นอกจากนี้ ผู้สูงอายุประมาณ 3 ใน 4 มีทรัพย์สินที่เป็นบ้าน ที่ดิน และยานพาหนะ
จากข้อมูลสถานการณ์การสูงวัยของสังคมไทย สภาะการทำงานและเงินออมของผู้สูงอายุไทยที่ได้กล่าวมาในข้างต้น ตลอดจนผลกระทบอื่นๆ ที่เห็นได้บ่อยขึ้นตามข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์และโซเชียลมีเดียต่างๆ อาทิ ผู้สูงอายุถูกทิ้ง ผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวโดดเดี่ยว และยากจน ผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังและเกิดอุบัติเหตุไม่ได้รับการช่วยเหลือขณะที่ภาครัฐเองต้องแบกรับกับปัญหาความแออัดของการให้บริการด้านสาธารณสุข ปัญหาการเงินการคลังในการดูแลผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น เหล่านี้เป็นสถานการณ์ที่ช่วยสะท้อนให้หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งหามาตรการเพื่อรองรับกับจำนวนผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปฏิรูประบบบริการสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ รวมทั้งสนับสนุนการทำงานและการคุ้มครองแรงงาน เพื่อสร้างหลักประกันทางด้านการเงินเพื่อเสริมสร้างให้ผู้สูงอายุดำรงชีวิตได้อย่างดีต่อไป
เอกสารอ้างอิง