The Prachakorn

จำนวนราวจับในบ้านสำหรับผู้สูงอายุ: เพิ่มหรือลดภาระทางกายให้กับผู้ดูแล


ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์

09 เมษายน 2567
163



ผู้สูงอายุกับผู้ดูแลผู้สูงอายุเป็นของคู่กัน ภาระที่เกิดกับผู้ดูแลเมื่อต้องให้การดูแลเป็นระยะเวลานานๆ มีได้ทั้งภาระทางกายและทางใจ การมีอุปกรณ์ช่วย อุปกรณ์เสริม อาจไม่ได้ช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ดูแลเสมอไป

ย้อนไปในปี 2565 ผู้เขียนได้เขียนบทความเกี่ยวกับผู้สูงอายุกับราวจับลงในประชากรและการพัฒนา ปีที่ 42 ฉบับที่ 3 เนื้อหาชี้ถึงความจำเป็นที่ควรมีราวจับไว้ในครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ เพื่อให้ผู้สูงอายุใช้เป็นอุปกรณ์พยุงตัว ช่วยการทรงตัว ท้ายสุดคือ เพื่อป้องกันการพลัดตกหกล้มของผู้สูงอายุ อันเนื่องมาจากความเสื่อมถอยของร่างกาย แต่สำหรับครั้งนี้ ผู้เขียนขอเขียนในมุมของผู้ดูแลผู้สูงอายุกับราวจับ จุดประสงค์หลักๆ คือ ต้องการชี้ให้เห็นว่า การมีราวจับในบ้านที่มีผู้สูงอายุเป็นสิ่งจำเป็น แต่ควรจะมีด้วยจำนวนที่เหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินไป นั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

ความต้องการการดูแลสำหรับผู้สูงอายุ  

เมื่อถามว่าความต้องการการดูแลสำหรับผู้สูงอายุเกิดขึ้นเมื่อใด คำตอบคือ จะเกิดขึ้นเมื่อผู้สูงอายุดูแลตนเองได้ไม่ดี หรือดูแลตนเองไม่ได้ ซึ่งคนที่จะบอกเช่นนี้คือตัวผู้สูงอายุเอง หรืออาจเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้สูงอายุ (เช่น คู่สมรส ลูก หลาน ญาติพี่น้อง) หรือเป็นคนอื่นไปเลย สำหรับผู้สูงอายุนั้น แม้ว่าบางท่านที่ยังดูแลตนเองได้ดี แต่ท่านเหล่านั้นรู้สึกว่าต้องการการดูแลเอาใจใส่จากใครสักคน เป็นความต้องการตามความรู้สึก ที่ไม่มั่นคงปลอดภัยเมื่อต้องทำอะไรๆ ด้วยตนเอง (แม้ว่ายังสามารถทำได้เอง) เพราะกลัวการลื่นล้ม หากมีใครสักคนเป็นเพื่อนและให้การดูแล ย่อมสร้างความมั่นใจ ความอบอุ่นใจ ซึ่งส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของท่าน

ผู้ดูแลผู้สูงอายุกับภาระที่เกิดขึ้น

การศึกษาภาระของผู้ดูแลอย่างเป็นรูปธรรมมีมานานกว่า 5 ทศวรรษแล้ว โดยเริ่มต้นในสังคมตะวันตกที่มีการให้การดูแลผู้ที่มีอาการป่วยทางจิตอยู่ที่บ้าน มีการให้คำจำกัดความ “ภาระของผู้ดูแล” ว่า เป็นผลกระทบด้านลบของการดูแลที่สมาชิกในครอบครัวรับรู้ และถือว่าภาระของผู้ดูแลเป็นต้นทุนของครอบครัวในการดูแล จะเห็นว่า แม้มีคำจำกัดความแล้ว แต่ก็ยังต้องตีความต่ออีกว่าผลกระทบด้านลบคืออะไรบ้าง มีนักวิชาการ นักวิจัย มากมายที่พยายามให้ความหมายและรวมไปถึงสร้างเครื่องมือวัด มีทั้งการวัดที่รูปธรรม (เห็นได้ จับต้องได้) และที่เป็นนามธรรม (รับรู้ ความรู้สึก) แม้กระทั่งบางรายได้สร้างเป็นโมเดลเชิงทฤษฎีเพื่ออธิบายภาระในลักษณะของสมการทางคณิตศาสตร์ก็มี อย่างไรก็ตาม การวัดที่สามารถสะท้อนภาระแบบรูปธรรมได้หลากหลายมิติมักได้รับความนิยมนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย

ตัวอย่างหนึ่งของเครื่องมือวัดภาระของผู้ดูแลที่เป็นรูปธรรมและหลากหลายมิติ คือ เครื่องมือที่ชื่อ Caregiver BurdenInventory (CBI)1 เมื่อนำมาใช้ในการศึกษาวิจัยในไทย บ้างก็เรียกว่า แบบประเมินภาระผู้ดูแล บ้างก็เรียกว่า แบบประเมินความเหนื่อยล้าของผู้ดูแล เครื่องมือนี้ประกอบด้วยข้อความต่างๆ (รวม 24 ข้อ) เพื่อประเมินสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ดูแล (อีกนัยหนึ่ง คือ ภาระ) ขณะให้การดูแลผู้สูงอายุ ในมิติต่างๆ 5 มิติ ได้แก่ มิติด้านเวลา ด้านการพัฒนา ด้านสุขภาพกาย ด้านสุขอารมณ์ และด้านความสัมพันธ์ทางสังคม แต่ละมิติมีข้อความที่ใช้ประเมิน 5 ข้อ ยกเว้นมิติด้านสุขภาพกายที่มีเพียง 4 ข้อ แต่ละข้อมีตัวเลือกเป็นค่าคะแนน 5 ระดับ จาก 0 = ไม่มีความรู้สึกตามข้อความนั้นเลยถึง 4 = มีความรู้สึกตามข้อความนั้นเกิดขึ้นเกือบทุกวัน เครื่องมือนี้สามารถแปลผลได้ว่า คะแนนยิ่งสูงยิ่งแสดงถึงภาระที่เกิดขึ้น

ผู้ดูแลผู้สูงอายุกับราวจับ

ตามหลักการการออกแบบอาคารสถานที่ ที่อยู่อาศัย สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เพื่อให้คนทุกคนในสังคมสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้นได้อย่างเต็มที่ เท่าเทียมกัน หรือเรียกว่า Universal Design (UD หรือ ยูดี) นั้น ราวจับเป็นอุปกรณ์หนึ่งที่จำเป็นต้องมีในครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ อย่างไรก็ตาม ได้มีงานศึกษาที่ขัดแย้งกัน เช่น การปรับปรุงสภาพที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุสามารถลดปริมาณงานให้การดูแลผู้สูงอายุได้ แต่บางการศึกษาระบุว่า การจัดหาอุปกรณ์เสริม/อุปกรณ์ช่วยเหลือ เพื่อเสริมการให้การดูแลผู้สูงอายุ จะไปเพิ่มจำนวนชั่วโมง หรือเพิ่มปริมาณงานการให้การดูแล ดังนั้น การมีจำนวนอุปกรณ์เสริม/อุปกรณ์ช่วยเหลือ ซึ่งในที่นี้เน้นที่ราวจับ ควรได้รับความสนใจ และนี่จึงเป็นที่มาที่ทำให้ลูกศิษย์ปริญญาเอกคนหนึ่งของผู้เขียน ซึ่งปัจจุบันสอนหนังสืออยู่ที่คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาต่อยอดวิทยานิพนธ์ที่ได้ทำไว้ โดยขยายการวิเคราะห์จากข้อมูลเดิมที่เก็บรวบรวมจากผู้สูงอายุและผู้ดูแลผู้สูงอายุในครัวเรือนต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของคณะกายภาพฯ (ในเขต อ. พุทธมณฑล จ.นครปฐม)

รูป: หญิงสาวกำลังประคองผู้สูงอายุเดินขึ้นบันไดบ้าน
ถ่ายภาพโดย: ภคพร พุทธโกษา (ได้รับอนุญาตจากเจ้าของภาพให้เผยแพร่ได้)

งานศึกษาต่อยอดข้างต้น2 ชี้ให้เห็นว่า ร้อยละ 43 ของครัวเรือนผู้สูงอายุทั้งหมดเป็นครัวเรือนที่ไม่มีราวจับ ร้อยละ 36 เป็นครัวเรือนที่มีราวจับอยู่ 1 ตำแหน่งในบ้าน ขณะที่ร้อยละ 21 เป็นครัวเรือนที่มีราวจับอยู่มากกว่า 1 ตำแหน่งในบ้าน เมื่อวัดภาระของผู้ดูแลโดยใช้เครื่องมือ CBI ทั้งชุด (24 ข้อ) และเลือกชุดข้อความที่สะท้อนมิติด้านสุขภาพกาย จำนวน 4 ข้อ คือ 1) ท่านนอนหลับไม่เพียงพอ 2) ท่านเป็นทุกข์กับสุขภาพของท่าน 3) การดูแลผู้สูงอายุทำให้ท่านมีอาการเจ็บป่วยทางกาย 4) ท่านรู้สึกเหนื่อย/อ่อนล้าจากการดูแลผู้สูงอายุ คะแนนจากคำตอบที่ได้รับสามารถบอกระดับภาระทางกายที่เกิดขึ้นกับผู้ดูแลว่ามากน้อยเพียงใด ซึ่งความเป็นไปได้ของคะแนนในชุดข้อความนี้มีค่าตั้งแต่ 0 – 16 ถ้าคะแนนเป็น 0 แสดงว่าไม่มีภาระเลย ส่วนถ้าคะแนนเป็น 16 แสดงว่ามีภาระสูงสุด

หลังจากพิจารณาคะแนนภาระทางกายของผู้ดูแลแล้ว พบว่าร้อยละ 17 ของผู้ดูแลไม่มีภาระทางกาย ร้อยละ 37 มีภาระในระดับต่ำ ขณะที่ร้อยละ 46 หรือเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ดูแลมีภาระในระดับสูง นอกจากนั้นยังพบสิ่งที่น่าสนใจกว่า คือคะแนนภาระทางกายเฉลี่ยของผู้ดูแลมีค่าสูงสุดในครัวเรือนที่มีราวจับมากกว่า 1 ตำแหน่งในบ้าน (5.7 คะแนน) รองลงมาเป็นของผู้ดูแลในครัวเรือนที่ไม่มีราวจับเลย (5.3 คะแนน) ขณะที่ผู้ดูแลในครัวเรือนที่มีราวจับ 1 ตำแหน่งในบ้านมีคะแนนภาระทางกายเฉลี่ยต่ำที่สุด (4.3 คะแนน) ซึ่งเมื่อนำมาทดสอบความสัมพันธ์ด้วยวิธีทางสถิติโดยมีการควบคุมปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดภาระ (พูดง่ายๆ คือ ทำให้ปัจจัยเหล่านั้นเท่ากันยกเว้นปัจจัยเรื่องจำนวนราวจับ) การทดสอบยังคงยืนยันว่า ผู้ดูแลที่ให้การดูแลผู้สูงอายุในครัวเรือนที่มีราวจับ 1 ตำแหน่งในบ้าน มีแนวโน้มการเกิดภาระทางกายต่ำกว่าผู้ที่ให้การดูแลผู้สูงอายุในครัวเรือนที่ไม่มีราวจับ ส่วนผู้ที่ให้การดูแลผู้สูงอายุในครัวเรือนที่มีราวจับมากกว่า 1 ตำแหน่งในบ้าน มีแนวโน้มการเกิดภาระทางกายไม่ต่างจากผู้ดูแลในครัวเรือนที่ไม่มีราวจับเลย คำอธิบายง่ายๆ คือ ราวจับเป็นเพียงอุปกรณ์เสริมเพื่อช่วยพยุงตัวผู้สูงอายุในอิริยาบทต่างๆ แต่ไม่สามารถเป็นเครื่องทดแทนการดูแลจากผู้ดูแลได้ การไม่มีราวจับเลย ผู้ดูแลจะเหนื่อยเพราะจะต้องใช้แรงของตนล้วนๆ เพื่อช่วยประคับประคอง พยุงตัวผู้สูงอายุ แต่การมีราวจับที่มากเกินไป ไม่ได้ช่วยลดภาระ ก็เพราะผู้ดูแลต้องระแวดระวัง หรือจดจ่ออยู่กับกิจกรรมการใช้ราวจับที่มีมากเหล่านั้น จึงเป็นการเพิ่มภาระทางกายให้กับผู้ดูแลนั่นเอง


แผนภูมิ: คะแนนเฉลี่ยภาระทางกายของผู้ดูแล
จำแนกตามจำนวนราวจับในครัวเรือนผู้สูงอายุที่ดูแล

ส่งท้าย

ในสังคมสูงวัย สิ่งที่ทุกคนล้วนตระหนัก คือ ความสามารถในการดูแลตนเองของผู้สูงอายุ การจัดหรือปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อผู้สูงอายุเป็นความจำเป็นที่ต้องมี และเมื่อไรที่ผู้สูงอายุไม่สามารถดูแลตนเองได้ดีเท่าที่ควร ผู้ดูแลก็คือความจำเป็นที่ต้องมีอีกเช่นกัน ภาระของผู้ดูแลมีเหตุปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งสิ่งที่บทความนี้เสนอไว้ คือ การไม่มี หรือมีราวจับในบ้านจำนวนมากเกินไปสำหรับผู้สูงอายุ สามารถเพิ่มภาระทางกายให้กับผู้ดูแลในขณะที่การมีด้วยจำนวนที่พอเหมาะสามารถลดภาระทางกายได้ หรือ หากจะบอกว่า ‘ทางสายกลางเป็นสิ่งที่ดีที่สุด’ คงจะไม่ผิดนัก


เอกสารอ้างอิง

1. Novak, M., and Guest, C. (1989). Application of a multidimensional caregiver burden inventory. The Gerontologist, 29(6), 798-803. https://doi.org/10.1093/geront/29.6.798.
2. Phetsitong, R., and Vapattanawong, P. (2022). Reducing the physical burden of older persons’ household caregivers: The effect of household handrail provision. International Journal of Environmental Research and Public Health, 19, 2272. https://doi.org/10.3390/ ijerph19042272.

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th