The Prachakorn

ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล


ปราโมทย์ ประสาทกุล

11 เมษายน 2567
488



คงกลายเป็นประเพณีของตัวเองเสียแล้วที่จะขึ้นต้นบทความสำหรับ “ประชากรและการพัฒนา” ว่า “เวลาช่างผ่านไปเร็วเหลือเกิน” ผมมีความรู้สึกเช่นนั้นจริงๆ ทุกวันนี้วันคืนช่างผ่านไปเร็วเหลือเกิน วันขึ้นปีใหม่ 2567 เหมือนเพิ่งผ่านไปเมื่อไม่นานมานี้เอง ถึงวันนี้ก็เป็นเวลาในเดือนที่ 3 ของปีแล้ว เดือนที่ 3 เป็นเดือนเกิดของผม ผมไม่อยากจะเชื่อเลยว่า ระยะเวลาที่ผมมีชีวิตอยู่มาแล้วบนโลกจะยาวนานขนาดนี้ วันหนึ่งเมื่ออาทิตย์ก่อนผมนั่งนิ่งๆ ทำใจให้สงบแล้วถามตัวเองว่า “นี่เรามีอายุย่างเข้าปีที่ 76 แล้วจริงๆ หรือนี่ เวลาช่างผ่านไปเร็วเหลือเกิน”

ไม่น่าเชื่อนะครับว่าผมจะผ่านชีวิตมาได้นานถึง 75 ปีแล้ว ผมยังเห็นภาพเหตุการณ์ในวัยเด็กได้ชัดเจน บ้านท่าสะอ้าน อำเภอบางปะกง ที่ผมอยู่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่มีน้ำประปา ตอนเรียนชั้นประถม (ป.1-3) ผมเดินไปโรงเรียนประกอบราษฎร์บำรุง พอขึ้นชั้นมัธยม (ป.4-ม.1-3) ผมเดินไปท่าไข่เพื่อลงเรือยนต์แล่นไปตามลำคลองสำโรงถึงโรงเรียนมารดานฤมล ที่ตำบลบางวัว ผมยังจำได้ดีกับเหตุการณ์ที่แม่พาผมนั่งเรือเมล์จากบ้าน แล่นไปตามแม่น้ำบางปะกงที่คดเคี้ยว เพื่อไปหาคุณตาที่บ้านหนองตีนนก อำเภอบ้านโพธิ์

พอโตขึ้นอายุ 12 ขวบ ผมเข้ากรุงเทพฯ มาเรียนที่เทพศิรินทร์ สองปีแรก ปี 2503-2504 ยังได้นั่งรถรางจากต้นทางที่สะพานเฉลิมโลก ประตูน้ำ ไปสุดทางที่สะพานกษัตริย์ศึก ยศเส ถ้าไม่ขึ้นรถรางก็มีรถเมล์ขาวหรือที่เรียกว่า รถเมล์นายเลิศ วิ่งจากประตูน้ำไปโรงเรียนได้ จากบ้านท่าสะอ้าน ผมเดินทางเข้ากรุงเทพฯ โดยรถเมล์มาตามทางถนนสุขุมวิท ผ่านคลองด่าน ผ่านบางปู ปากน้ำ สมุทรปราการ มาลงที่สี่แยกราชประสงค์

ผมอาศัยอยู่กับป้าที่บ้านส่วนหนึ่งทำเป็นหอพักหญิง ทั้งหอมีโทรศัพท์อยู่เบอร์เดียวและเครื่องเดียว ผมตื่นเต้นสุดๆ เมื่อได้รับโทรศัพท์เป็นครั้งแรกในชีวิต ระหว่างหยุดเทอมผมเขียนจดหมายส่งทางไปรษณีย์ติดต่อกับเพื่อน ได้มีโอกาสไปเที่ยวกับกลุ่มเพื่อนโดยนั่งรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปเพชรบุรี
มาอยู่กรุงเทพฯ แม่ให้เงินเดือนผมโดยให้ไปเบิกเอาจากป้า หรือถ้าต้องการเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายพิเศษอะไร ก็ต้องทำตัวกระมิดกระเมี้ยนเข้าไปหาป้า ป้าก็จะอบรมสั่งสอนว่า “อย่าใช้เงินให้เปลืองนัก พ่อแม่ต้องทำงานยากลำบากเพื่อหาเงินมาให้เราใช้”

เมื่อเวลาผ่านไป

เดี๋ยวนี้บ้านท่าสะอ้านไม่เหมือนเมื่อ 60-70 ปีก่อนแล้ว ไม่มีร่องรอยบ้านที่ผมเกิด ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกงที่เคยเป็นลานกว้างจากบ้านไปถึงแม่น้ำก็ไม่มีเหลือแล้ว ตลิ่งถูกน้ำกัดเซาะจนพังไปหมด ตลาดท่าสะอ้านที่เคยคึกคักเพราะเป็นทั้งท่าเรือและเป็นที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอบางปะกง เดี๋ยวนี้เงียบเหงา แทบจะไม่มีคนเดิน เพราะไม่มีใครใช้การสัญจรทางน้ำ รถก็เปลี่ยนเส้นทาง ถนนหนทางเพิ่มขึ้น ตำบลบางวัวที่ผมเคยนั่งเรือยนต์ไปเรียนหนังสือก็มีถนนตัดตรงไปถึง ถนนสายบางนา-ตราดทั้งระดับพื้นราบและทางด่วนพิเศษยกระดับก็ตัดผ่านบางวัว มีมอเตอร์เวย์สายตะวันออกและสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกงตัดผ่านห่างจากบ้านผมไม่ถึง 500 เมตร

กรุงเทพฯ เองก็แทบไม่เหลือเค้ากรุงเทพฯ เมื่อ 60 ปีก่อน ไม่มีรถราง ไม่มีรถเมล์นายเลิศ ไม่มีรถสามล้อถีบ ไม่มีตู้โทรศัพท์สาธารณะสีแดงตามริมถนน ยังนึกว่าถ้าสมัยนั้นมีตู้เอทีเอ็มให้กดเงินสดเหมือนสมัยนี้ ผมคงไม่ต้องไปนั่งพับเพียบเรียบร้อยฟังคำสั่งสอนจากคุณป้าแล้วรับเงินสด

จากสังคมเยาว์วัย สู่ สังคมสูงวัย

ผมสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงประชากรของประเทศไทย ได้ติดตามข่าวสารข้อมูลความรู้เกี่ยวกับประชากรในไทยมานาน จนพอจะพูดได้ว่า ในช่วงเวลาครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ประชากรไทยเปลี่ยนไปมาก จากประชากรที่มีอายุน้อยกลายเป็นประชากรที่มีอายุมาก หรือพูดได้ว่าเราเปลี่ยนจากสังคมเยาว์วัยมาเป็นสังคมสูงวัย เมื่อผมยังเป็นเด็ก เช่น เมื่อปี 2503 ปีที่ผมเดินทางมาตั้งหลักเรียนหนังสือในเมืองกรุง ประเทศไทยมีประชากร 26 ล้านคนในจำนวนนี้เกือบครึ่งหนึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปี อยู่เพียงประมาณ 1 ล้านคนเท่านั้น

เมื่อ 50-60 ปี ที่ผ่านมา เป็นที่รู้กันว่าประเทศไทยมีวิกฤตที่มีเด็กเกิดมากและประชากรโดยรวมเพิ่มเร็วเกินไป เราพูดกันว่าอัตราเพิ่มประชากรร้อยละ 3 ต่อปีในตอนนั้นจะทำให้ประชากรเพิ่มจำนวนอีกเท่าตัวภายในเวลา 25 ปีเท่านั้น รัฐบาลจึงมีนโยบายส่งเสริมการวางแผนครอบครัว เพื่อชะลออัตราเพิ่มประชากร โครงการวางแผนครอบครัวของประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง อัตราเจริญพันธุ์ที่ผู้หญิงไทยคนหนึ่งมีบุตรโดยเฉลี่ยประมาณ 5 คนตลอดวัยมีบุตรของตนเมื่อ 50-60 ปีก่อน ได้ลดลงเหลือเพียงมีบุตรเฉลี่ย 1.2 คนในปัจจุบัน อัตราเพิ่มประชากรไทยได้ลดลงจนถึงขั้นติดลบมาเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกันแล้วและยังมีแนวโน้มที่ประชากรไทยจะลดลงต่อไปอีกเรื่อยๆ

นอกจากประชากรไทยจะมีอัตราเพิ่มติดลบแล้ว การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือโครงสร้างอายุของประชากร เมื่อมีเด็กเกิดน้อยลง และผู้คนชีวิตยืนยาวขึ้น สัดส่วนของประชากรวัยเด็กก็ลดต่ำลง และสัดส่วนของประชากรสูงอายุก็เพิ่มสูงขึ้นประเทศไทยได้กลายเป็น “สังคมสูงวัย” เมื่อมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปคิดเป็นสัดส่วนสูงวัยถึงร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมดในปี 2548 จากนั้นอีกเพียง 18 ปี สังคมไทยก็เปลี่ยนสภาพเป็น “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” เมื่อมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ในปี 2566 ประชากรไทยมีจำนวน 62.1 ล้านคน ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมีจำนวน 13 ล้านคน เรื่องที่ท้าทายของประเทศไทย คือ อีกไม่เกิน 15 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นเวลาอีกไม่นานแลย ผู้สูงอายุไทยจะมีจำนวนมากกว่า 20 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมด

อินเทอร์เน็ตจะมีบทบาทสำคัญในชีวิตของคนไทย

ในขณะที่ประชากรไทยกำลังมีอายุสูงขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น เทคโนโลยีต่างๆ ก็พัฒนาไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน มีเทคโนโลยีหลายอย่างที่ล้ำหน้าไปเกินกว่าที่คนรุ่นผมจะคาดคิด เช่น ยานไร้คนขับ(โดรน) หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ พลังงานทดแทน อินเทอร์เน็ต

ใครจะไปเชื่อว่าเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือที่ใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ตจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตจนเป็นเสมือนอวัยวะสำคัญของร่างกายของคนไทยมากมายอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธว่า มือถือและคอมพิวเตอร์ขนาดต่างๆ ที่ใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ตจะเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนไทยทุกเพศทุกวัยอย่างขาดเสียไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีคนไทยอีกไม่น้อยที่เข้าไม่ถึงหรือไม่มีโอกาสได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลนี้

อินเทอร์เน็ตในชีวิตของผู้สูงอายุไทย

ผมเชื่อว่าเพื่อนของผมเกือบทุกคนจะใช้โทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ขนาดพกพาที่ใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ต พวกเราใช้มือถือในกิจกรรมต่างๆ สำหรับผมขอยอมรับโดยดุษฎีว่าต่อไปนี้ผมคงจะมีชีวิตอยู่ยากเสียแล้วหากขาดมือถือ แต่ในขณะที่พวกเรามีอายุมากขึ้นนั้น เทคโนโลยีดิจิทัลก็ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วจนหลายครั้งที่ผมรู้สึกว่าตัวเองจะก้าวตามไม่ทันเทคโนโลยี คนเรายิ่งแก่ตัวลง สังขารทั้งหลายก็เสื่อมถอยลง สมองของพวกเราอาจจะเสื่อมลงบ้าง คิดอะไรทำอะไรก็ไม่ฉับไวเหมือนเมื่อยังเป็นหนุ่มสาว อวัยวะของร่างกายไม่ว่าจะเป็นหู ตา แขน ขา อาจทำงานได้ไม่คล่องแคล่วชัดเจนเหมือนก่อน ถ้าถึงวันที่เราใช้อุปกรณ์ดิจิทัลเหล่านี้ไม่ได้ เราก็จะเป็นเหมือนคนพิการ คงต้องพึ่งพาคนอื่น และถ้าไม่มีคนอื่นให้พึ่งพา ชีวิตของเราก็จะหมดความหมายไป

ผมคิดถึงสังคมไทยที่สูงวัยขึ้นอย่างรวดเร็ว จำนวนผู้สูงอายุนับวันจะเพิ่มขึ้นๆ ในขณะที่เทคโนโลยีดิจิทัลก็ซึมแทรกเข้าไปอยู่ในชีวิตของคนในสังคมไทยอย่างเข้มข้นขึ้น ผู้สูงอายุย่อมไม่มีโอกาสที่จะเข้าถึงหรือใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเท่าเทียมกัน บางพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลอาจอับสัญญาณอินเทอร์เน็ต คนยากจนอาจไม่มีเงินที่จะซื้อโทรศัพท์มือถือที่จะรับสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้ ผู้สูงอายุอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่รู้เรื่องการใช้แอปพลิเคชั่นในมือถือเลย ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อย (รวมทั้งผมคนหนึ่ง) เรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วไม่ทัน จะให้ลงทะเบียนรับสวัสดิการแบบออนไลน์ก็ทำได้ไม่ถนัด จะมีผู้สูงอายุจำนวนมากขึ้นที่ไม่สามารถใช้มือถือหรืออุปกรณ์ดิจิทัลได้เพราะเหตุความพิการที่เกิดขึ้นตามวัย

ในขณะที่มีผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ก็ยังมีผู้สูงอายุอีกจำนวนหนึ่งที่เข้าถึงแต่ตามไม่ทันความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีดิจิทัล ผู้สูงอายุ (รวมทั้งคนวัยอื่นๆ) ถูกหลอกลวงฉ้อฉลจากมิจฉาชีพที่ใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือ เมื่อสักครู่ก่อนที่ผมจะเขียนบทความเรื่องนี้มีผู้หญิงคนหนึ่งโทรมาถามว่า ผมจะอยู่ที่บ้านพรุ่งนี้หรือเปล่า จะมีเจ้าพนักงานของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมาที่บ้านเพื่อตรวจสอบมิเตอร์ไฟฟ้าที่บ้าน ผมก็บอกเธอไปว่า “แกมันพวกมิจฉาชีพ” แล้วก็วางสายโทรศัพท์ทันที ผมกำลังจะบอกว่า วันนี้ผมยังตามทันพวกมิจฉาชีพดิจิทัล และหวังว่าวันหน้าผมคงไม่พลาด!!

โอกาสที่ไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงหรือตามทันเทคโนโลยีดิจิทัลเหล่านี้ ย่อมนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำในคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุทั้งในด้านสุขภาพอนามัย ความมั่นคงด้านรายได้เพื่อยังชีพ และการมีส่วนร่วมในสังคม ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำเหล่านี้จะลดลงได้ ถ้านักพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลจะหันกลับมามองคนทุกวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เข้าไม่ถึงหรือตามไม่ทัน ดังคำขวัญวันผู้สูงอายุโลก (1 ตุลาคม) ของปี 2021 ที่รณรงค์ให้มี “ความเป็นธรรมทางดิจิทัลสำหรับคนทุกวัย” (Digital Equity for All Ages)

 
รูป: ภาพจาก Tik Tok แสดงวิวัฒนาการของโทรศัพท์

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th