The Prachakorn

เกิดน้อย...ก็ดีนะ


มนสิการ กาญจนะจิตรา

22 เมษายน 2567
749



กว่า 50 ปีแล้ว ที่จำนวนเกิดในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จวบจนถึงวันนี้ ที่จำนวนเกิดลดลงจนต่ำกว่าจำนวนตายเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย ส่งผลให้ขนาดประชากรเริ่มลดจำนวนลง เท่านั้นยังไม่พอ ประชากรในรุ่นเกิดล้านเริ่มทยอยเข้าสู่วัยสูงอายุ ส่งผลให้จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เมื่อจำนวนประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้น สวนทางกับขนาดประชากรวัยเด็กและวัยแรงงานที่ลดลง หลายภาคส่วนจึงเกิดความหวาดหวั่นต่ออนาคตความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ สัดส่วนผู้สูงอายุที่สูงจะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ บำเหน็จบำนาญ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่รายได้ของรัฐ ระดับการออม และการลงทุนของประเทศมีแนวโน้มลดลง อันจะเป็นผลลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

จากการคาดคะเนผลเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หลายภาคส่วนจึงพยายามผสานกำลังเพื่อหาแนวทางส่งเสริมให้คนไทยมีลูกกันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ความหวังพึ่งนโยบายดังกล่าวเพื่อพลิกผันโครงสร้างอายุประชากรอย่างมีนัยสำคัญนั้นมีน้อยจนริบหรี่ บทเรียนจากนานาประเทศแสดงให้เห็นว่า การกระตุ้นให้ประชาชนมีลูกเพิ่มขึ้นนั้นทำได้ยาก และแทบไม่มีประเทศใดเลยที่กระตุ้นการเกิดได้สำเร็จ

หากการเกิดที่ลดลงคืออนาคตที่ประเทศไทยต้องเผชิญโดยแน่ การพิจารณาผลกระทบของการเกิดน้อยให้ละเอียดถี่ถ้วนในทุกมิติ ทั้งในด้านบวกและลบ อาจช่วยในการวางแผนเพื่อลดผลกระทบด้านลบ และเพิ่มโอกาสให้เกิดผลกระทบด้านบวกได้มากที่สุด

รูป: เปลเด็กที่ว่างเปล่าในห้องทารกแรกคลอด เนื่องจากการเกิดที่ต่ำลง
ที่มา: https://images.app.goo.gl/JudXqx7zikXEproWA 
สืบค้นเมื่อ 12 มีนาคม 2567

การเกิดน้อย มีข้อดีอย่างไร? เราได้ยินข้อเสียของการเกิดน้อยมาอย่างคุ้นหู แต่น้อยคนที่จะกล่าวถึงข้อดีของการเกิดน้อย งานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ The Lancet ได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่าการเกิดน้อยอาจไม่ได้ส่งผลต่อเสียต่อเศรษฐกิจมากเท่าที่ทุกคนคาดคิด ที่จริงแล้ว การเกิดน้อยอาจมีบทบาทช่วยลดผลกระทบของสังคมสูงวัยได้ด้วยซ้ำ

ประการแรก คือ การเกิดน้อยมีโอกาสช่วยให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในตลาดแรงงาน และทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นการมีลูกส่งผลต่อการทำงานของผู้หญิงโดยตรง เพราะมักนำไปสู่การปรับเปลี่ยนการทำงาน หลายคนเลือกออกจากงานเพื่อได้มีเวลาดูแลลูกอย่างเต็มที่ หลายคนเลือกเปลี่ยนงานให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อเพิ่มอิสรภาพในการบริหารจัดการเวลา และแม้กระทั่งคุณแม่ที่ไม่ได้ออกจากงานหรือเปลี่ยนงาน การมีภาระในการดูแลเลี้ยงดูลูกเพิ่มเติม มักส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงานไม่มากก็น้อย

ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานของผู้หญิงค่อนข้างสูงหากเทียบกับหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น และเกาหลี แต่ก็ยังมีความแตกต่างที่เห็นได้ชัดระหว่างชายและหญิงในปี 2565 ผู้หญิงร้อยละ 60 มีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน เปรียบเทียบกับผู้ชายที่ร้อยละ 77 หากการเกิดลดลง อาจทำให้ตัวเลขการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน รวมถึงผลิตภาพจากการทำงานของผู้หญิงเพิ่มขึ้นได้

ผลจากการเกิดน้อยประการที่สอง คือ โอกาสในการผลิตประชากรที่มีคุณภาพมากขึ้น ปัจจุบันต้นทุนในการเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนอายุ 21 ปี ตกอยู่ที่ราว 3 ล้านบาทต่อคน แต่ตัวเลขนี้เป็นเพียงค่าเฉลี่ยของทั่วประเทศ เพราะปัจจุบันยังมีความแตกต่างของต้นทุนระหว่างครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวยกับครอบครัวที่ยากจนหลายเท่าตัว การมีจำนวนเด็กน้อยลงหมายถึง ทั้งภาครัฐและครอบครัวจะสามารถลงทุนในเด็กได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรมยิ่งขึ้น ทำให้ประชากรในอนาคตถึงแม้จะมีขนาดเล็กลง แต่จะมีคุณภาพสูงขึ้น

ประการสุดท้าย การเกิดน้อยจะช่วยลดอัตราส่วนพึ่งพิงทางอายุ หมายถึงการพึ่งพาระหว่างกลุ่มอายุประชากรจะลดลง อัตราส่วนพึ่งพิงทางอายุ มีข้อสมมุติว่าประชากรในวัยเด็กและวัยสูงอายุ เป็นวัยที่ต้องพึ่งพิงทางเศรษฐกิจ การที่เด็กเกิดน้อยลงจึงเป็นการลดภาระของภาครัฐและวัยแรงงานในการเลี้ยงดู อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนพึ่งพิงวัยเด็กของประเทศไทยทุกวันนี้อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว คือ ประมาณ 25 (วัยแรงงาน 100 คน ต้องดูแลเด็ก 25 คน) และคงลดลงกว่านี้ไม่มากนัก ประเทศไทยจึงอาจไม่ได้รับประโยชน์จากตรงนี้

หากการเกิดน้อยเป็นสิ่งที่ประเทศไทยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การกำหนดนโยบายต้องเน้นการใช้ข้อดีของการเกิดน้อยให้เกิดประโยชน์สูงสุด ท้ายที่สุดแล้ว การเกิดน้อย...อาจไม่แย่เท่าที่เราคิด


เอกสารอ้างอิง

Bloom, D. E., Chatterji, S., Kowal, P., Lloyd-Sherlock, P., McKee, M., Rechel, B., et al. (2015). Macroeconomic implications of population ageing and selected policy responses. The Lancet, 385(9968), 649-657.

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th