The Prachakorn

ผู้สูงอายุญี่ปุ่น ล้นคุก เพราะสังคมไร้ที่พึ่ง


อมรา สุนทรธาดา

24 เมษายน 2567
575



ประเทศไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบภายใน 10 ปีข้างหน้า คาดประมาณว่าจะมีประชากรสูงอายุ 20 ล้านคน หรือร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมด การเสริมพฤฒิพลังผู้สูงอายุไทยด้านกายภาพและจิตปัญญาจะเป็นทางเลือกที่แตกต่างจากญี่ปุ่น

ผู้สูงอายุ หรือประชากรกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไปในประเทศญี่ปุ่น มีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 1975 ถึงปี 2022 และในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประชากรกลุ่มนี้ต้องโทษเพิ่มขึ้นอย่างน่าวิตก สาเหตุสำคัญคือ ผู้สูงอายุไม่สามารถแบกรับค่าครองชีพที่สูงมากกว่ารายได้ รวมทั้งระบบสวัสดิการจากภาครัฐที่ไม่เอื้อต่อค่าใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีพ ดังนั้น การกระทำผิดโดยตั้งใจ เช่น ขโมยสิ่งของ อาหารสำเร็จรูป ในร้านค้าปลีกที่ไปซื้อเป็นประจำ ขี่จักรยานไปสถานีตำรวจ แล้วอ้างว่าขโมยมาจากที่ใดที่หนึ่งเพื่อให้ตำรวจจับกุมหรือสอบสวน หรือบางรายใช้วิธีหวาดเสียวกว่านี้ เช่น พกมีดไปสวนสาธารณะมองหาเหยื่อซึ่งมักเป็นผู้หญิงสูงอายุ แล้วขู่ว่าจะทำร้ายร่างกาย เพียงหวังให้ผู้เคราะห์ร้ายโต้ตอบ ขัดขวาง และขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ หรือผู้คนที่เห็นเหตุการณ์ เพื่อให้ตนเองถูกจับกุมในข้อหามีเจตนาทำร้ายร่างกายผู้อื่น เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง

การกระทำผิดของผู้สูงอายุญี่ปุ่นกับบทลงโทษ

ผู้สูงอายุญี่ปุ่นที่ก่อเหตุลักทรัพย์หรือทำร้ายร่างกายผู้อื่นเพื่อให้ถูกจับดำเนินคดี ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่อยู่บ้านตามลำพัง มีจำนวนมากกว่าสองเท่าเมื่อเปรียบเทียบกับผู้สูงอายุชายในกลุ่มอายุเดียวกัน การมีชีวิตโดดเดี่ยวแม้มีบุตรหรือญาติแต่ไม่มีการติดต่อดูแลเท่าที่ควร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะค่านิยมเชิงวัฒนธรรมของชาวอาทิตย์อุทัยที่ยึดมั่นว่า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ไม่ควรรบกวนผู้อื่นถ้าไม่จำเป็น หรืออีกนัยยะคือ “น่าละอายถ้าเพียงหวังพึ่งแต่ผู้อื่น”

สำหรับบทลงโทษต่อการกระทำผิดนั้นนับว่าสูงทีเดียวเมื่อเทียบกับลักษณะของความผิดที่กระทำ เช่น ขโมยอาหารที่มีราคา 200 เยน หรือประมาณ 48 บาท ขโมยพริกไทย 1 ขวด ราคาประมาณ 87 บาท ต้องโทษจำคุก 2 ปี กรณีกระทำความผิดร้ายแรงเช่น ลอบวางเพลิงและมีผู้เสียชีวิต ต้องโทษประหารชีวิต

ผู้สูงอายุญี่ปุ่นมุ่งหน้าเข้าคุกเพราะสังคมภายนอกสิ้นหวัง วังเวง ตั้งใจกระทำผิดกฎหมายซ้ำๆ เพียงเพื่อถูกส่งเข้าคุก

การเข้าคุกเพราะจงใจกระทำผิดกฎหมายไม่ได้เป็นเหตุการณ์เพียงครั้งเดียวในชีวิต ผู้สูงอายุจะกระทำซ้ำๆ เพื่อกลับเข้าคุก บางรายมีประสบการณ์ 4-5 ครั้ง เพียงเพื่อต้องการกลับไปใช้ชีวิตผู้ต้องโทษเพราะว่าความเป็นอยู่ในคุกไม่ได้เลวร้ายจนเกินไป มีอาหาร 3 มื้อ มีเพื่อนๆ คลายเหงา มีกิจกรรมกลุ่ม เช่น ร้องเพลงคาราโอเกะ มีเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างใกล้ชิดกรณีที่มีโรคประจำตัว มีอุปกรณ์เสริม เช่น เก้าอี้นั่งล้อเลื่อนสำหรับผู้ที่มีปัญหาในการเดิน

รูป 1: หญิงโสดสูงวัยในเรือนจำของประเทศญี่ปุ่นกำลังเพิ่มจำนวนขึ้น
ที่มา: NHK World-Japan. “Japan’s Jails: A Sanctuary for Seniors?” https://www.youtube.com/watch?v=0o7A-ZTXU3k
สืบค้นเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2567

ชีวิตประจำวันของผู้ต้องโทษสูงวัย

ผู้ต้องโทษทุกคนช่วยทำงานที่สามารถทำได้โดยมีเจ้าหน้าที่ดูแลใกล้ชิด ไม่พูดคุยขณะรับประทานอาหาร/อาบน้ำ/ทำงานที่ได้รับมอบหมาย นอกเวลาการทำงานทุกคนมีอิสระ ใช้เวลาว่างอ่านหนังสือ/หนังสือพิมพ์/ดูรายการโทรทัศน์ ในระยะเวลาสั้นๆ หลังมื้ออาหารกลางวันและก่อนเวลานอน

รูป 2: อาหาร 3 มื้อ บริการผู้ต้องโทษสูงวัยในญี่ปุ่น
ที่มา: https://qz.com/1231752/20-of-women-prisoners-in-japan-are-senior-citizens
สืบค้นเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2567

เมื่อผู้สูงอายุต้องการ คุกเป็นบ้านหลังที่สอง โดยการจงใจกระทำผิดกฎหมาย รัฐบาลญี่ปุ่นจึงนิ่งนอนใจไม่ได้แล้ว นโยบายปรับ คุก ให้เป็น บ้านพักผู้สูงอายุ เป็นมาตรการเร่งด่วน ให้มีผลในทางปฏิบัติทั้งประเทศ เช่น ดูแลรักษาพยาบาลในกรณีที่มีโรคประจำตัว ดูแลด้านจิตใจ ปรับเปลี่ยนสภาพที่อยู่และสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม เพิ่มอุปกรณ์พื้นฐาน เช่น ราวจับสำหรับพื้นที่ต่างระดับจัดเตรียมห้องสุขาที่เหมาะสม ดูแลจัดเตรียมอาหารสำหรับผู้ที่มีการเจ็บป่วย รักษาทางคลินิกสำหรับผู้สูงอายุที่มีอาการหลงลืมและอาการป่วยเรื้อรังอื่นๆ รวมทั้งจัดกิจกรรมกลุ่มเพื่อเพิ่มทักษะชีวิตหลังพ้นโทษ และการปรับเปลี่ยนทัศนคติการกระทำผิดกฎหมายโดยตั้งใจเพียงเพื่อให้หวนกลับสู่คุกเป็นทางเลือกสำหรับการใช้ชีวิตที่มีทั้งเพื่อน ที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัยพร้อมอาหาร

เนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุที่ต้องโทษมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วการบริหารจัดการต้องยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น การคัดเลือกผู้ต้องขังที่มีศักยภาพ ให้ได้รับการอบรมและฝึกภาคปฏิบัติ เพื่อทำหน้าที่ช่วยเจ้าหน้าที่ดูแลผู้ต้องขังสูงอายุที่ช่วยตนเองไม่ได้เท่าที่ควร
 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th