กรุงเทพฯ และปริมณฑล (สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม และสมุทรสาคร) เป็นจังหวัดที่มีการพัฒนาสู่ความเป็นเมืองในระดับสูง จึงเป็นศูนย์กลางของความเจริญทุกด้าน ผู้คนมีความคิดที่อิสระ มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ซึ่งรวมไปถึงผู้สูงอายุที่มีอยู่เกือบ 1 ใน 5 ของผู้สูงอายุทั้งหมดทั่วประเทศในขณะนี้ ผู้สูงอายุไม่ว่าจะอาศัยอยู่พื้นที่ไหน ล้วนมีพื้นฐานแตกต่างกัน ทำให้ขีดความสามารถในการกระทำการใดๆ เพื่อให้บรรลุคุณค่าในการดำรงชีวิตตนเองแตกต่างกันด้วย และนี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ควรติดตามลักษณะการอยู่อาศัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อาศัยเพียงลำพังคนเดียวในครัวเรือนในแต่ละพื้นที่ สำหรับสถิติต่อไปนี้แสดงร้อยละของครัวเรือนที่ผู้สูงอายุอาศัยอยู่เพียงลำพังคนเดียว (จำนวนครัวเรือนที่ผู้สูงอายุอาศัยอยู่เพียงลำพังคนเดียว หารด้วยจำนวนครัวเรือนทั้งหมดในแต่ละพื้นที่ คูณด้วย 100)
แผนที่: เปรียบเทียบร้อยละครัวเรือนที่ผู้สูงอายุอาศัยเพียงลำพังคนเดียวในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปี 2560 และ 2565
จากแผนที่ แสดงให้เห็นว่า ในปี 2560 มีครัวเรือนที่ผู้สูงอายุอาศัยเพียงลำพังคนเดียวในกรุงเทพฯ และปริมณฑลอยู่ระหว่างร้อยละ 3.30–5.41 โดยมีร้อยละสูงสุดอยู่ที่ จ.นนทบุรี (ร้อยละ5.41) และต่ำสุดอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ (ร้อยละ 3.30) อีก 5 ปีต่อมา คือ ปี 2565 ร้อยละครัวเรือนที่ผู้สูงอายุอาศัยเพียงลำพังคนเดียวในพื้นที่นี้มีค่าอยู่ระหว่างร้อยละ 2.56–7.22 (ร้อยละต่ำสุดลดลง ขณะที่ร้อยละสูงสุดเพิ่มขึ้น)
ในช่วงเวลาดังกล่าว มี 4 จังหวัด ที่ร้อยละครัวเรือนที่ผู้สูงอายุอาศัยเพียงลำพังคนเดียวเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ กรุงเทพฯ เพิ่มจากร้อยละ 4.83 เป็นร้อยละ 6.86 สมุทรปราการเพิ่มจากร้อยละ 3.30 เป็นร้อยละ 5.38 นนทบุรีเพิ่มจากร้อยละ 5.41 เป็นร้อยละ 7.22 และนครปฐมเพิ่มจากร้อยละ 5.25 เป็นร้อยละ 6.74 ขณะที่อีก2 จังหวัดที่เหลือมีสัดส่วนครัวเรือนที่ผู้สูงอายุอาศัยเพียงลำพังคนเดียวลดลง กล่าวคือ สมุทรสาครลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 3.81 เหลือร้อยละ 3.50 แต่ปทุมธานีมีสัดส่วนลดลงค่อนข้างมากจากร้อยละ 4.02 เหลือเพียงร้อยละ 2.56
อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุอยู่คนเดียวอาจยังไม่ใช่เรื่องน่ากังวลมากนัก หากผู้สูงอายุเหล่านั้นเป็นผู้สูงอายุวัยต้นๆ ที่ยังสามารถดูแลตัวเองได้ แต่เมื่อสูงวัยมากขึ้นจนเป็นผู้สูงอายุวัยปลายๆ ปัญหาต่างๆ คงชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะความต้องการการดูแล ดังนั้น การติดตามสถานการณ์เพื่อเตรียมการรับมือและแก้ไขปัญหา จึงจำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดภาวะที่ผู้สูงอายุ ต้องเผชิญกับความทุกข์ยากต่างๆ ตามลำพัง
แหล่งข้อมูล:
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2566). ข้อมูลดัชนีความก้าวหน้าของคน ปี 2565. (ตารางที่ 23 หน้า ส.3-46) https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=14403 สืบค้นเมื่อ 5 มีนาคม 2567