The Prachakorn

อายุวัฒนวิธี และ ศาสตร์แห่งการชะลอวัย


ปัณณวัฒน์ เถื่อนกลิ่น

04 มิถุนายน 2567
647



ทำความเข้าใจ อายุวัฒนวิธี กับ ศาสตร์แห่งการชะลอวัย ที่นำสองเรื่องนี้มาเรียบเรียงร่วมกัน เพื่อชวนให้ผู้อ่านทุกท่านได้ลองทำความเข้าใจว่า แม้พุทธศาสนาที่เจริญอายุมาได้กว่า 2500 ปี กับวิทยาการที่เป็นวิทยาศาสตร์และการแพทย์ปัจจุบัน ก็ให้สาระในเรื่องของการดูแลชีวิตให้ดำรงอยู่เป็นปกติและยืนยาวในวิถีทางใกล้เคียงกัน และในวันที่สังคมไทยเปลี่ยนเป็นสังคมสูงวัย ในวันที่ข้อมูลอยู่บนคลาวด์ (Cloud Storage) เข้าถึงได้เพียงปลายนิ้ว หากเราจะลองใช้ธรรมและทำตามวิธีนี้กันดู ชีวิตเราก็น่าจะดีและมีสุขได้ตามสมควร เนื้อหาของบทความนี้เป็นการรีวิวสิ่งที่ได้ เมื่อได้อ่านหนังสือ “ถ้าสูงอายุเป็น ก็น่าเป็นผู้สูงอายุ”

เริ่มต้นที่ปัจจุบัน ศาสตร์แห่งการชะลอวัย หรือ Anti-Aging Medicine เวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ (Anti-Aging and Regenerative Medicine) เป็นการแพทย์สมัยใหม่ที่มุ่งเน้นป้องกันและชะลอความเสื่อมของร่างกายโดยพื้นฐาน โดยการป้องกันไม่ให้เสื่อมลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงสามารถฟื้นฟูสภาพความเสื่อมให้กลับคืนมาในส่วนที่ทำได้ เป็นการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม (Holistic Approach) โดยใช้วิธีการดูแลการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทันสมัย เป็นการรวมเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อเข้ามาใช้ในการยืดอายุ ชะลอความชรา รวมถึงการตรวจสภาวะของร่างกายโดยละเอียด โดยมุ่งหวังจะให้มีชีวิตที่ยืนยาว มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งมีแนวทางการดูแลทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีร่วมด้วย (เวชศาสตร์ [เวดชะสาด] น. ชื่อตำรารักษาโรคแผนโบราณ, วิชาว่าด้วยการรักษาโรคโดยการใช้ยา. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554)

พอเข้าใจหลักของ Anti-Aging เบื้องต้นแล้ว หลังจากนี้จะชวนผู้อ่านมารู้จักกับหนังสือเล่มหนึ่ง ที่แต่งโดยพระสูงอายุ ที่ชวนทำความเข้าใจหลักคิด ทบทวนความหมาย และแทรกธรรมะไว้ในแต่ละบท แต่ละตอนอย่างน่าสนใจ

กล่าวถึงหนังสือ “ถ้าสูงอายุเป็น ก็น่าเป็นผู้สูงอายุ” เป็นหนังสือธรรมทาน ที่ควรค่าต่อการอ่านและทำความเข้าใจ ในวันที่สังคมสูงวัยขึ้นเรื่อยๆ ถ่ายทอดและประพันธ์โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) ได้แทรกวิธีคิด วิธีมองแบบใหม่ โดยแทรกสาระธรรม ที่เข้าใจได้ไม่ยากนักสำหรับผู้เริ่มต้นอ่านหนังสือแนวธรรมะ อาจจะมีข้อธรรมที่ต้องทำความเข้าใจอยู่บ้าง แต่ช่วยให้ผู้อ่านได้ลองเรียนรู้ว่า “ถ้าสูงอายุเป็น” จะต้องเป็นอย่างไร

หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ 10 เมษายน 2560 เนื้อหาภายในประมาณ 44 หน้า จัดวางด้วยตัวหนังสือขนาดอ่านได้ง่าย อ่านได้ทุกวัย มีบทย่อยภายในที่น่าสนใจ เช่น สูงอายุไม่ใช่ง่อนแง่นงอแง แต่เป็นหลักใหญ่แท้ที่มั่นคง...., สูงอายุ คือได้ ไม่ใช่เสียอายุ  และ สังคมอย่างไร   คือรู้เข้าใจคุณค่าของผู้สูงอายุ เป็นต้น

ชวนทำความรู้จักผู้ประพันธ์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) สมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระราชาคณะ ปัจจุบันท่านมีอายุ 86 ปี เกิดเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2481 ได้รับประกาศสดุดีเป็น ผู้สูงอายุแห่งชาติ พุทธศักราช 2560 เป็นคนไทยคนแรก และพระภิกษุรูปแรกของโลก ที่ได้รับรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ จากองค์การยูเนสโก  (UNESCO "Prize for Peace Education") และเป็น ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์

3 สิ่งที่ได้ เมื่อได้อ่านหนังสือ

  1. ทำให้เข้าใจว่าอายุ ไม่ใช่เรื่องของความแก่ชรา แต่เป็นตัวแสดงแทนเวลาที่สะสมถึงปัจจุบัน
    “อายุ” แปลว่า พลังสืบต่อหล่อเลี้ยงชีวิต หรือแปลให้สั้นว่า พลังชีวิต ใครมีอายุมาก คือมีพลังชีวิตมาก ก็จะมีชีวิตอยู่ได้นาน อย่างที่คนไทยเรียกว่ามีอายุยืน

    ความหมายของ อายุ ที่ถูกเขียนในบท “สูงอายุ คือได้ ไม่ใช่เสียอายุ” ชวนให้คิดถึงคำที่ปัจจุบันเรานำมาใช้กันคือ Active aging แปลเป็นไทยคือ การสูงวัยอย่างมีพลัง หรือพฤฒิพลัง ซึ่งชวนให้คิดว่าถ้าอย่างนั้นอายุปีที่เพิ่มขึ้นจากการนับ ควรจะควบคู่ไปกับพลัง อาจจะทั้งพลังกายและพลังใจ เป็นสิ่งที่เราจะต้องพยายามรักษา ดูแล และฟื้นฟูให้เป็นปกติอยู่ได้ หรือดำรงอยู่ได้
     
  2. เข้าสู่หลักธรรมะ ที่ชวนให้กลับมาดูแลร่างกาย จิตใจ ให้เหมาะสมพอดี
    สาระที่น่าสนใจของหนังสือเล่มนี้แทรกหลักธรรมที่เข้าใจได้ไม่ยาก เรียกว่า ข้อปฏิบัติเพื่อส่งเสริมสุขภาพก็ได้ หรือเรียกว่า อายุสสธรรม หรือ อายุวัฒนธรรม 5 ประการ (พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) เป็นพุทธพจน์อีกแห่งหนึ่ง ธรรมที่ช่วยให้อายุยืน มี 5 ประการ จึงได้ลองนำมาเทียบเคียงกับหลักการสำคัญของศาสตร์ชะลอวัย ดังนี้
     
    ข้อปฏิบัติที่เกื้อกูลแก่อายุ สรุปหลักการสำคัญของศาสตร์ชะลอวัย
    สัปปายการี สร้างสัปปายะ คือ ทำอะไรๆ ให้เป็นที่สบายเกื้อกูลแก่สุขภาพ ลดความเครียด
    สัปปาเย มัตตัญญู แม้ในสิ่งที่สบายนั้น ก็รู้จักประมาณทำแต่พอดี กินพอดี นอนพอดี อารมณ์ดี
    ปรณตโภชี บริโภคสิ่งที่ย่อยง่าย (เช่น เคี้ยวให้ละเอียด) เลือกสารอาหารที่ดี
    กาลจารี ปฏิบัติตนให้เหมาะในเรื่องเวลา เช่น รู้จักจัดเวลา ทำพอดีเวลา การนอน นอนให้มีประสิทธิภาพ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารให้เป็นเวลา
    พรหมจารี รู้จักถือพรหมจรรย์ตามควร การดูแลสุขภาพจิต การรักษาอารมณ์ให้แจ่มใสอยู่เสมอ

    ทั้งสองหลักอาจพูดกันต่างเวลา ต่างภาษาที่ใช้ แต่ไม่ทิ้งห่างกันในแง่ของประโยชน์ และผลลัพธ์ หากใครสามารถดำเนินชีวิตบนหลักการนี้ได้ ซึ่งสมเด็จท่านใช้คำอย่างทันสมัยว่า “ข้อปฏิบัติเพื่อส่งเสริมสุขภาพ” (ทำความเข้าใจเพิ่มเติมได้จาก อายุวัฒนกถ ภาค 1 ชีวิตกับสังคม)
     
  3. เราเตรียมตัวสูงอายุ ได้ตั้งแต่ตอนไหน
    กระแสคลื่นของสังคมสูงวัย กำลังเปล่งเสียงให้ผู้คนที่อยู่ในวัยก่อนอายุ 60 ปี ได้เริ่มตื่นตัว รับรู้ และเริ่มทำความเข้าใจ เพื่อเตรียมตัวเองอย่างรอบด้านทั้งที่อยู่อาศัย เงินที่จะต้องใช้ รวมถึงงานหรือกิจกรรมที่จะใช้เวลาทำหลังจากเกษียณอายุ เพื่อให้สามารถเป็นผู้สูงอายุที่สามารถยืดระยะเวลาของการพึ่งพิงออกไปให้นานที่สุด แต่เมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องรักษาให้ดีมาตลอดในทุกๆ การเพิ่มขึ้นของอายุ นั่นคือธรรมะประจำใจ ธรรมะที่อาจไม่ใช่หลักธรรมที่ว่ากันตามคัมภีร์ แต่เป็นทัศนคติที่ดี เป็นพลังงานบวกและเป็นความสุขสำหรับตนเอง ที่สามารถแผ่ขยายให้กับคนรอบข้างได้อย่างไม่สิ้นสุด และเราสามารถเตรียมตัวสูงอายุได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

ทิ้งท้ายชวนคิด

  1. ผู้สูงอายุนั้น ดังที่ว่าแล้ว ได้เรียนรู้มาก่อน มีประสบการณ์ที่ได้ผ่านมาหรือสะสมไว้ จึงเป็นประโยชน์อย่างง่ายๆ แก่คนผู้ตามมา...
  2. อายุเป็นพรอย่างหนึ่งใน จตุรพิธพร (อายุ วรรณะ สุขะ พละ) “สูงอายุ ควรหมายความว่า มีพลังชีวิตมาก”

(If you know how to be elderly, then it is worth being an elder)


อ้างอิง

  • นันทพร ระบิน. สุขภาพดี คุณภาพชีวิตดี ด้วยศาสตร์ชะลอวัย https://www.med.cmu.ac.th/web/suandok/article-suandok/11301/
  • BDMS Wellness Clinic . "การป้องกันคือกุญแจสำคัญแห่งการมีชีวิตที่ยืนยาว" คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู
  • ประวัติสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) https://www.watnyanaves.net/th/web_page/papayutto
  • พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). 2527.  ค่านิยมแบบพุทธ. https://www.watnyanaves.net/en/book-reading/100/1
  • อาริสา เพียนชะกรณ์ 20 ธ.ค. 66 29 ปี สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) คนไทยคนแรก... รับรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ จากยูเนสโก https://www.thaipbs.or.th/now/content/595
  • KIN (คิน) - Rehabilitation & Homecare. การให้บริการทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีทางการแพทย์อันทันสมัย. https://kinrehab.com/anti-aging_medicine
  • โรงพยาบาลยันฮี. Anti-Aging Medicine ศาสตร์ใหม่ทางการแพทย์. https://th.yanhee.net/เกร็ดความรู้/anti-aging-medicine-ศาสตร์ใหม่ทางการแพทย์
  • พลกฤต ทีฆคีรีกุล. 17 มีนาคม 2565. Transforming Healthcare in the Era of Precision Medicine บำรุงราษฎร์ จีโนมิกส์ พลิกโฉมการดูแลสุขภาพในยุคการแพทย์แม่นยำ

เล่มหนังสือ

  • ถ้าสูงอายุเป็น ก็น่าเป็นผู้สูงอายุ https://www.watnyanaves.net/th/book_detail/636  

ภาพปก freepik.com (premium license)


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th