The Prachakorn

คุยกับคนเจนวาย เรื่องสังคมสูงวัย


มนสิการ กาญจนะจิตรา

30 เมษายน 2561
266



เมื่อวันก่อน มีโอกาสได้คุยกับเด็กรุ่นใหม่กลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง เกี่ยวกับสังคมสูงอายุ เด็กกลุ่มนี้อายุราว 20 ต้นๆ เพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัยมาหมาดๆ และเพิ่งเริ่มชีวิตวัยทำงาน เด็กกลุ่มนี้ไม่ได้จบด้านประชากรศาสตร์ แต่เคยได้ยินข่าวการเป็นสังคมสูงอายุของประเทศไทยจากสื่อต่างๆ มาค่อนข้างมากจนเกิดความสนใจ เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกัน เด็กๆ กลุ่มนี้จึงมีคำถามมากมายเกี่ยวกับสังคมสูงอายุ ซึ่งแต่ละคำถามสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองของเด็กรุ่นใหม่ที่น่าสนใจทีเดียว ฉบับนี้จึงอยากแบ่งปันคำถามบางส่วนของคนเจนวายกลุ่มนี้ในประเด็นสังคมสูงอายุ

สังคมสูงอายุคืออะไร และน่ากลัวอย่างที่ได้ยินมา จริงหรือไม่?

สังคมสูงอายุ คือ การที่สัดส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นเนื่องจากการเกิดที่ลดลงและคนมีอายุยืนยาวขึ้น ตามคำนิยามสากล สังคมสูงวัยหมายถึง สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุประมาณร้อยละ 17 ของประชากรทั้งหมด ดังนั้นประเทศไทยจึงถือได้ว่าเป็นสังคมสูงอายุ

จากคำนิยามในข้างต้น จะเห็นได้ว่า การเป็นสังคมสูงอายุ เป็นเพียงการสะท้อนถึงสัดส่วนผู้สูงอายุต่อประชากร แต่ไม่ได้สะท้อนถึงความเป็นดีอยู่ดีของสังคมเสมอไป ประเทศจะได้รับผลกระทบอย่างไรจากการเป็นสังคมสูงวัยขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านคุณภาพประชากร ถึงแม้ว่าในอนาคตกำลังแรงงานจะมีขนาดเล็กลง แต่หากคนวัยแรงงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผลิตผลของประเทศก็จะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ในขณะเดียวกัน หากผู้สูงอายุดูแลสุขภาพตนเองให้ดี ความจำเป็นในการพึ่งพิงวัยแรงงานก็จะลดลง เป็นต้น ดังนั้น การเป็นสังคมสูงอายุไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว เพียงแต่สังคมต้องเตรียมตัวอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการส่งเสริมคุณภาพของประชากร

เมื่อประเทศไทยเป็นสังคมสูงอายุแล้ว จะหายได้หรือไม่?

บางครั้งสื่อก็ทำให้การเป็นสังคมสูงวัยฟังเหมือนการเป็นโรคร้าย ซึ่งการเป็นสังคมสูงอายุไม่ใช่โรคที่ต้องหาทางรักษาให้หาย แต่เป็นเพียงคำนิยามลักษณะหนึ่งของโครงสร้างอายุประชากร หากประเทศใดก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุแล้ว โดยมากจะไม่ย้อนกลับมาได้ เพราะนั่นหมายถึงสัดส่วนผู้สูงอายุต้องลดลงจนกระทั่งต่ำกว่าตามที่นิยามกำหนดไว้ ซึ่งในทางปฏิบัติโอกาสที่จะเป็นเช่นนั้นน้อยมาก เนื่องจากนับวันคนมีแต่จะอายุยืนยาวขึ้น และแนวโน้มการเกิดนับวันมีแต่จะลดลง เป็นไปได้ยากอย่างมากที่จะรณรงค์ให้คนมีลูกมากพอที่จะทำให้สังคม “หาย” จากการเป็นสังคมสูงวัยได้

นอกจากนั้น การส่งเสริมการเกิด ไม่ได้เป็นไปเพื่อป้องกันหรือรักษาการเป็นสังคมสูงอายุ แต่เป็นการช่วยชะลอไม่ให้การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างอายุประชากรเป็นไปด้วยความรวดเร็วจนเกินไป การส่งเสริมการเกิดเป็นการช่วยให้การเปลี่ยนแปลงทางประชากรเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปมากขึ้น เพื่อให้สังคมได้มีเวลาในการปรับตัว ซึ่งการส่งเสริมการเกิดนั้น ไม่ควรเน้นเพียงปริมาณการเกิด แต่จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพการเกิดด้วย

ในฐานะที่ประเทศของเราเป็นสังคมสูงอายุ สิ่งสำคัญไม่ใช่การหาทางแก้ไขหรือรักษา แต่เป็นการสร้างความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน

แล้วพวกเรา (คนเจนวาย) ควรต้องเตรียมตัวอย่างไรในการเป็นผู้สูงอายุ?

สิ่งสำคัญที่สุดที่อยากให้คนเจนวายเริ่มเตรียมตัวตั้งแต่วันนี้ คือ ด้านสุขภาพและการเงิน เป็นสองสิ่งที่ต้องเตรียมตัวตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะเมื่ออายุมากบางอย่างก็สายเกินไปแล้ว ตอนนี้ทุกคนยังมีสุขภาพดี ก็ต้องรักษาสุขภาพที่ดีนี้ให้นานที่สุด เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนอย่างเพียงพอ ในเรื่องการเงิน ถึงแม้ว่าตอนนี้จะเพิ่งเริ่มมีรายได้ แต่ควรที่จะวางแผนเรื่องการออมแต่เนิ่นๆ ยิ่งเริ่มออมเร็วเท่าไหร่ยิ่งได้เปรียบเท่านั้น อาจเริ่มทีละน้อยเพื่อฝึกการออมให้เป็นนิสัย และเพิ่มสัดส่วนการออมขึ้นเรื่อยๆ ตามเงินเดือนที่เพิ่มขึ้น การเตรียมตัวให้พร้อมในทั้งสองด้านนี้ จะช่วยให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ในช่วงบั้นปลายชีวิต

โดยรวมแล้ว ไม่อยากให้มองว่าการเป็นสังคมสูงวัยเป็นปัญหาที่ต้องการการแก้ไข แต่ให้มองว่าเป็นเพียงลักษณะหนึ่งทางประชากรที่เราต้องเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะตามมา เพื่อการเตรียมตัวรับมือและปรับตัวอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนเจนวาย ที่กำลังก้าวมาเป็นแรงงานสำคัญของประเทศและจะกลายเป็นผู้สูงอายุต่อไปในอนาคต


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th