ผมลงมือเขียนบทความนี้เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ตรงกับ “วันประชากรโลก” (World Population Day) พอดี สหประชาชาติประกาศให้ถือเอาวันที่โลกมีประชากรครบ 5,000 ล้านคน เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม (พ.ศ. 2530) เป็นวันประชากรโลกตั้งแต่ปีนั้นเป็นต้นมา
ผมอดภูมิใจไม่ได้ที่พวกเราคนไทยมีส่วนสำคัญที่เป็นแรงบันดาลใจให้สหประชาชาติประกาศให้มีวันประชากรโลกขึ้นมา ในปี 2527 พวกเราที่สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดกิจกรรมพิเศษในโอกาสที่ประชากรไทยจะมีจำนวนครบ 50 ล้านคนในปีนั้น จุดประสงค์ของพวกเราคือต้องการให้สาธารณชนคนทั่วไปได้รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับประชากรไทย รู้ว่าประชากรไทยเปลี่ยนแปลงมาอย่างไร เมื่อร้อยกว่าปีก่อน สยามมีประชากรเพียง 8 ล้านคน ตามการสำรวจสำมะโนครัวทั่วราชอาณาจักรครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2452-53 จากนั้นอีก 50 ปีต่อมา การสำรวจสำมะโนประชากรครั้งที่ 7 ในปี 2503 นับประชากรได้ 26 ล้านคน และประชากรไทยได้เพิ่มขึ้นครบจำนวน 50 ล้านคน ในปี 2527 ตอนนั้นเราไม่ได้คิดคำนวณว่าประชากรไทยคนที่ 50 ล้าน จะเกิดขึ้นเมื่อวันเวลาใด เราเพียงหยิบยกเอาตัวเลขจำนวนครึ่งร้อย คือ 50 ถ้วนๆ มาเป็นจุดสนใจ เพื่อไปโยงเข้ากับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของผู้คนในประเทศ
ผมเชื่อว่ากิจกรรมฉลองประชากรไทยครบ 50 ล้านคน ประสบความสำเร็จตามที่พวกเราตั้งใจไว้ กิจกรรมนี้น่าจะกระตุ้นให้คนทั่วไปตระหนักถึงความสำคัญของ “ประชากรกับการพัฒนา” มากยิ่งขึ้น จำนวน 50 ล้านคนถ้วนๆ กลายเป็นตัวเลขที่มีคนพูดถึงกันบ่อยครั้ง เราไม่ได้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการ “50 ล้านประชากรกับการพัฒนา” แต่เราก็ได้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นข่าวในสื่อมวลชน ทั้งวิทยุและหนังสือพิมพ์ในสมัยนั้นบ่อยครั้ง
พวกเราที่สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ทำงานใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ของ “กองทุนสหประชาชาติเพื่อกิจกรรมประชากร” (United Nations Fund for Population Activities - UNFPA) ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ” (United Nations Population Fund แต่ยังคงใช้อักษรย่อ UNFPA อย่างเดิม) เจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติ คุณซูโกะ คาโนะ น่าจะมีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดกิจกรรมปลุก “จำนวน” ประชากร ให้กลายเป็นประเด็นที่สาธารณชนสนใจ
ปกติ สหประชาชาติจะประกาศให้ข้อมูลเกี่ยวกับประชากรโลกเป็นประจำทุกปี โดยประกาศว่าในแต่ละปี โลกมีประชากร ณ วันกลางปีเป็นจำนวนเท่าไร สหประชาชาติน่าจะเอาแบบอย่างประเทศไทยในการนำตัวเลขถ้วนๆ ที่จะดึงความสนใจของคนทั่วไป คือ จำนวนครบ 5 พันล้านคน (ครึ่งหมื่น) มาเป็นตัวตั้ง แล้วคำนวณหาวันเวลาที่ประชากรโลกจะมีจำนวนครบ 5 พันล้านคนตามธงที่ปักไว้นั้น เพื่อประกาศให้สาธารณชนทั่วโลกได้รับทราบ
เมื่อเอาจำนวน 5 พันล้านถ้วนมาตั้งเป็นธงเอาไว้แล้ว นักประชากรศาสตร์ผู้มีความรู้เรื่องคณิตศาสตร์ก็จะคำนวณว่าประชากรโลกจะเพิ่มจนครบ 5 พันล้านคนเมื่อวันเวลาใด การคาดประมาณเฉพาะจำนวนรวมประชากรโลกในอนาคตนั้นไม่ยุ่งยากซับซ้อน วิธีการคาดประมาณมีหลักการว่า ณ วันนี้โลกมีประชากรอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งจะถือเป็นตัวเลขตั้งต้น ประชากรจำนวนนี้จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นเท่าไรในอนาคตขึ้นอยู่กับจำนวนคนเกิดลบจำนวนคนตายเท่านั้น ไม่มีการย้ายถิ่นที่อยู่เข้ามาเกี่ยวข้อง
สหประชาชาติได้คำนวณว่าประชากรโลกจะมีจำนวน 5 พันล้านคนในวันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ. 1987 (พ.ศ. 2530) มีการออกข่าวประชาสัมพันธ์ให้คนรู้เรื่องความสำคัญของประชากรกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม วันที่คาดประมาณว่าประชากรโลกมีจำนวนครบ 5 พันล้านคนกลายเป็นวันสำคัญทางประชากรขึ้นมา สหประชาชาติได้ประกาศให้วันที่ 11 กรกฎาคม เป็น “วันประชากรโลก” (World Population Day) ตั้งแต่ปี 1989 เป็นต้นมา
ผมได้บอกไว้แล้วว่าจำนวนประชากรโลกจะเปลี่ยนไปเพราะการเกิดการตายเท่านั้น เพราะไม่มีการย้ายถิ่นจากดาวดวงอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ลองเอาตัวเลขคาดประมาณประชากรของสหประชาชาติมาวางเรียงกัน โลกมีประชากร 5 พันล้านคนในปี 1987 ปี 2024 นี้ สหประชาชาติประกาศว่าประชากรโลกมีจำนวน 8.2 พันล้านคน เท่ากับว่าในเวลา 37 ปีนี้ ประชากรโลกเพิ่มขึ้น 3.2 พันล้านคน เฉลี่ยเพิ่มปีละ 86 ล้านคน เท่ากับว่าระหว่างปี 1987 ถึง 2024 ในแต่ละปี โลกของเรามีคนเกิดมากกว่าคนตาย เฉลี่ยประมาณปีละ 86 ล้านคน
เครดิตภาพจาก: AI Generator: Juggernaut XL
สหประชาชาติทำการฉายภาพประชากรโลกในอนาคตทั้งจำนวน โครงสร้างเพศและอายุ และการกระจายตัวตามภูมิภาคและประเทศต่างๆ สหประชาชาติคำนวณว่าอีกประมาณ 60 ปีข้างหน้า ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 10.3 พันล้านคน หรือเพิ่มจากปี 2024 นี้อีก 2.1 พันล้านคน แสดงให้เห็นว่าสหประชาชาติเชื่อว่าประชากรโลกจะเพิ่มช้าลง ทำให้อีก 60 ปี นับตั้งแต่ปีนี้ ประชากรเพิ่มเฉลี่ยปีละ 35 ล้านคนเท่านั้น ขณะที่ประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นในอนาคตจะเพิ่มในทวีปแอฟริกาเป็นส่วนมาก ประชากรในทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ และประเทศในเอเชียบางประเทศ มีแนวโน้มลดลงด้วยซ้ำ ดังนั้น ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นมากน้อยอย่างไรขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในทวีปแอฟริกา และในประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งอาจมีการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไปอย่างรวดเร็วขึ้นกว่าที่เราจะคาดคิด การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจะเป็นแรงผลักดันให้ประชากรในประเทศเหล่านี้มีภาวะเจริญพันธุ์ลดต่ำลงอย่างมากและรวดเร็ว ประชากรโลกในอีก 50-60 ปี ข้างหน้าจึงอาจมีจำนวนรวมไม่ถึงหมื่นล้านคนตามที่สหประชาชาติคาดประมาณไว้ในวันนี้ก็ได้
วันนี้ 11 กรกฎาคม 2567 ถ้านับเฉพาะประชากรที่มีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนราษฎร ประเทศไทยมีประชากรอยู่ประมาณ 66 ล้านคน ประชากรในทะเบียนเริ่มลดจำนวนลง ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา ในแต่ละปีมีเด็กเกิดใหม่น้อยกว่าคนตาย ทำให้อัตราเพิ่มประชากรของประเทศไทยติดลบ
ผมเน้นเรื่องประชากรที่มีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนราษฎรซึ่งถือเป็นประชากรตามกฎหมาย มีจำนวนประชากรเป็นจำนวนมากอาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยไม่มีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนราษฎรมีผู้เคยประมาณไว้เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ว่าแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านคือ เมียนมา กัมพูชา และลาว มีจำนวนไม่น้อยกว่า 4 ล้านคน ทุกวันนี้ก็เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่ามีคนต่างชาติเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมากมายจนยากที่จะนับ คนจากประเทศเมียนมาในประเทศไทยทั้งที่ถูกต้องตามกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย ทั้งที่เข้ามาเพราะต้องการทำงานที่จ่ายค่าแรงสูงกว่า และที่เข้ามาเพราะต้องการหนีภัยจากความไม่สงบเรียบร้อยทางการเมืองในประเทศของตน รวมแล้วน่าจะไม่น้อยกว่า 5 ล้านคน คนจีนระลอกใหม่ที่หลั่งไหลเข้ามาทำธุรกิจการค้าก็มีเป็นจำนวนมาก รวมทั้งคนชาติอื่นๆ ที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยโดยไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนอีกเป็นจำนวนมาก รวมคนที่มีชื่อและไม่มีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนราษฎรที่อาศัยในแผ่นดินไทยทุกวันนี้ต้องมีไม่ต่ำกว่า 70 ล้านคนอย่างแน่นอนแม้จะหักคนไทยที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนแต่ตัวไปอยู่ประเทศอื่นๆ อีกนับล้านคนแล้วก็ตาม
พวกเราที่สถาบันวิจัยประชากรและสังคม คาดประมาณว่าอีก 50 ปีข้างหน้า ประชากรไทยจะมีจำนวนประมาณ 43 ล้านคน และในอีก 100 ปีข้างหน้า จะเหลืออยู่เพียงไม่ถึง 30 ล้านคน ผมไม่อยากให้ตัวเลขคาดประมาณอย่างนี้ก่อความกังวลให้ผู้คน ต้องขอบอกว่าการฉายภาพประชากรทุกวิธีจะต้องมีข้อสมมุติ และข้อสมมุติสำคัญในการคาดประมาณคือการเปลี่ยนแปลงประชากรในเวลาข้างหน้าขึ้นอยู่กับการเกิดและการตายเป็นหลักการย้ายถิ่นเข้าและออกประเทศมีน้อยมาก ข้อสมมุตินี้ย่อมขัดกับความเป็นจริงที่เราเห็นๆ กันอยู่ว่ามีคนต่างชาติเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก เราคาดประมาณโดยใช้ข้อมูลจากทะเบียนราษฎรเป็นฐาน จึงไม่รวมคนที่มีตัวตนอยู่จริงๆ แต่ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียน
ดังนั้น ถ้าจะถามผมว่าประชากรไทยจะมีจำนวนถึง 70 ล้านคนเมื่อไร ผมก็จะตอบได้อย่างมั่นใจว่า ประชากรไทยที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎรน่าจะมีจำนวนไม่ถึง 70 ล้านคน ไม่ว่าอีกนานเท่าไหร่ แต่ถ้าจะนับจำนวนประชากรทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ทั้งที่มีชื่อและไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียน ทั้งถูกและไม่ถูกกฎหมาย ผมค่อนข้างมั่นใจว่าทุกวันนี้มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 70 ล้านคนอย่างแน่นอน