The Prachakorn

เยาวชนไม่เรียน ไม่ทำงาน: ผลผลิตของการพัฒนาที่ไม่ตรงจุด


กัญญาพัชร สุทธิเกษม

04 กันยายน 2567
133



ปรากฏการณ์การไม่เรียนหนังสือและไม่ทำงานของเด็กและเยาวชน กำลังกลายเป็นปัญหาของทั่วโลก ในขณะที่ประเทศทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร และเข้าสู่สังคมสูงอายุ ซึ่งต้องการแรงงานทดแทนจากคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ แต่ความคาดหวังว่าคนวัยหนุ่มสาวที่จะเป็นพลังในอนาคตอาจต้องดับวูบไป เพราะไม่สามารถเป็นที่พึ่งพิงได้ เพราะคนกลุ่มนี้เดินเล่นเตร็ดเตร่ตามท้องถนน นั่งเล่นเกมทั้งวันทั้งคืน เก็บตัวอยู่ในบ้านเฉยๆ หรือท่องเที่ยวไปวันๆ โดยไม่ไปเรียนหนังสือหรือทำงาน ปรากฏการณ์นี้สะท้อนปัญหาอะไรของสังคมบ้าง และจะส่งผลกระทบมากน้อยเพียงใด เป็นสิ่งที่น่าคิด

แนวโน้มของเยาวชนที่ไม่เรียนและไม่ทำงาน หรือ NEET (นีท) ย่อมาจาก Youth Not in Employment, Education or Training กำลังสูงขึ้นในหลายประเทศ การสำรวจในอังกฤษ พบว่า เยาวชนอายุระหว่าง 16-24 ปี ที่ไม่เรียนและไม่ทำงานมีจำนวนมากถึง 872,000 คน ในช่วงเดือนเมษายน - มิถุนายน 25671  ชาวเกาหลีใต้อายุระหว่าง 15-29 ปี ที่ว่างงาน ไม่ได้เรียนหนังสือหรือทำงานที่บ้าน และไม่หางานทำ เมื่อปี 2564 เพิ่มขึ้นประมาณ 35% เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยในเดือนพฤษภาคม 2564 มีมากกว่า 9.6 หมื่นคน2 ส่วนในประเทศไทย มีการสำรวจของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เมื่อปี 2562 พบว่า มีกลุ่มเยาวชนที่เป็น NEET ประมาณ 1.3 ล้านคน คิดเป็น 14% ของเยาวชนทั้งหมด เฉลี่ยอัตราเพิ่มขึ้นปีละ 1% สวนทางกับจำนวนเยาวชนที่ลดลงเฉลี่ย 1.2%

ที่มา https://www.eef.or.th/article-8-lost-months-071221/

ทำไมเด็กและเยาวชนเหล่านี้ จึงกลายเป็น NEET คำตอบมีหลากหลาย และเป็นปัญหาเฉพาะบุคคล ในต่างประเทศสามารถจัดกลุ่มอย่างกว้างๆ ได้ 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือเป็นวิถีชีวิต (life style) ที่ตั้งใจจะทำด้วยเหตุผลส่วนบุคคล วางแผนที่จะเรียนหรือทำงานในช่วงที่เหมาะสมหรือเมื่อตนเองมีความพร้อม เช่น การใช้เวลาว่างจากการเรียน 1 ปี ก่อนจะเรียนต่อหรือทำงาน การทำงานอดิเรกส่วนตัว กลุ่มที่สอง เกิดจากอิทธิพลทางสังคมและจิตวิทยา NEET บางคนประสบปัญหาทางสังคมและจิตวิทยา เช่น มีปัญหาครอบครัว ปัญหาสุขภาพจิต ท้อแท้ หมดหวังในชีวิต ทำให้แยกตัวจากสังคม ขาดเครือข่ายสนับสนุน3 การวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับเยาวชนที่ไม่ได้อยู่ในการทำงาน การศึกษาหรือการฝึกอบรม ในประเทศไทย พบว่า ปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรม เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เยาวชนกลายเป็น NEET เยาวชนหญิงมีความเสี่ยงมากกว่าชาย โดยพบว่า มีเยาวชนหญิงถึงร้อยละ 70 ที่เป็น NEET ส่วนใหญ่ต้องเลิกเรียนกลางคันเพราะตั้งครรภ์และต้องดูแลครอบครัว การศึกษานี้ ยังพบว่า เยาวชนหญิงที่เป็น NEET มีแนวโน้มที่จะต้องทำงานบ้าน เลี้ยงดูทารกและเด็ก รวมถึงผู้สูงอายุมากกว่าเยาวชนชาย และไม่สามารถออกไปทำงานนอกบ้านเนื่องจากผู้ปกครองไม่ยินยอม เยาวชนที่เป็น NEET ส่วนใหญ่ อายุระหว่าง 20-24 ปี มีจำนวนมากกว่ากลุ่มอายุ ระหว่าง 15-19 เหมือนในหลายๆ ประเทศ สาเหตุหลักมาจากการที่เยาวชนในประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระบบการศึกษานานขึ้น เนื่องจากนโยบายของประเทศที่ส่งเสริมการเรียนฟรี อย่างไรก็ตาม พบว่า เยาวชน NEET ส่วนใหญ่ สำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมต้นเท่านั้น ดังนั้น การออกจากระบบการศึกษาก่อนกำหนดหรือไม่ได้ศึกษาต่อ ทำให้ขาดโอกาสในการมีงานทำ นอกจากนี้ เยาวชนที่พิการ กลุ่มที่เป็นผู้ย้ายถิ่น และกลุ่มที่มาจากครัวเรือนรายได้น้อย มีโอกาสที่จะเป็น NEET มากกว่ากลุ่มอื่นๆ4

เยาวชนที่เป็น NEET สะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำ และคุณภาพของการพัฒนาหลายด้าน เช่น เศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา ยืนยันจากงานวิจัยนี้ซึ่งพบว่า จังหวัดที่ยากจนและพื้นที่ชนบทของประเทศไทย มีสัดส่วนของเยาวชน NEET สูงกว่าจังหวัดและเขตเมืองที่มีความเจริญมากกว่า โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเยาวชน NEET มากที่สุด ส่วนกรุงเทพมหานคร มีเยาวชน NEET น้อยที่สุด แม้ไทยได้ปฏิรูประบบการศึกษา โดยใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ตั้งแต่ปี 2564 แต่ที่ผ่านมา หลายฝ่ายมีข้อเสนอแนะว่าหลักสูตรในโรงเรียนไม่สามารถพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับเยาวชนได้ รวมไปถึงไม่สามารถพัฒนาทักษะพฤติกรรม (non-cognitive skills) ที่จะส่งเสริมให้เยาวชนมีความสามารถและทัศนคติการเรียนรู้ตลอดชีวิต4 ความเหลื่อมล้ำจึงเป็นปัญหาสำคัญอันหนึ่งที่ต้องเร่งแก้ไข หากต้องการสร้างคุณภาพของเด็กและเยาวชนเพื่อเป็นกำลังของประเทศในอนาคต นอกจากนี้ ปัญหาอื่นๆ เช่น การแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ก็เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งพัฒนา เพื่อเพิ่มโอกาสให้เด็ก เยาวชน และคนทุกกลุ่มในสังคมมีความหวัง และสามารถพัฒนาตนเองเพื่อเป็นกำลังในการแข่งขันของประเทศไทยในอนาคต  


อ้างอิง

  1. BBC News. Youngsters not in work or education rise to 870,000. BBC News. 2024. https://www.bbc.com/articles/cz55mjj4rlgo. (accessed 25 สิงหาคม 2567)
  2. The Momentum. เยาวชนและคนหนุ่มสาวเกาหลีใต้ ว่างงานเพิ่มขึ้น 35% อายุ 25-29 ปี สัดส่วนมากที่สุด. 2021. https://themomentum.co/report-southkorea/ (accessed 26 สิงหาคม 2567).
  3. Medium. NEET vs. Hikikomori: Understanding Japan’s Social Phenomena. 2023. https://medium.datadriveninvestor.com/neet-vs-hikikomori-understanding-japans-social-phenomena-47b3500269c3 (accessed 25 สิงหาคม 2567).
  4. ยูนิเซฟ, วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม. (2566). การวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับเยาวชนที่ไม่ได้อยู่ในการทำงาน การศึกษาหรือการฝึกอบรม ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: ยูนิเซฟ

 

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th