The Prachakorn

สุขภาพจิตนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย


อารยา ศรีสาพันธ์

16 กันยายน 2567
112



ที่มา: https://www.freepik.com

การพัฒนานักศึกษาให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความสามารถ มีคุณธรรมจริยธรรม และมีวิถีชีวิตที่เป็นสุขตามที่สังคมมุ่งหวังโดยผ่านกระบวนการทางการศึกษาและส่งเสริมสนับสนุนด้านการเรียนแล้ว การป้องกันและการช่วยเหลือแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดกับนักศึกษา รวมถึงการดูแลทางสังคมจิตใจก็เป็นสิ่งสำคัญ

สังคมไทยในปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงและแตกต่างจากอดีตหลายด้านทั้งในด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล พัฒนาการทางด้านเทคโนโลยี สภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงพฤติกรรมและค่านิยมของคนก็เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้นับเป็นความท้าทายของสังคมไทย ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว องค์กร ชุมชน และสังคม ที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสุขภาพจิตของคนในสังคมไทย อย่างไรก็ตาม พบว่ามีประชาชนไทยต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ผู้คนจำนวนมากกำลังใช้ชีวิตท่ามกลางความเครียด ความวิตกกังวล ความเศร้าหมองที่ซ่อนเร้น และอาการเจ็บป่วยจากปัญหาสุขภาพจิตและโรคจิตเวช และแม้ว่าความสนใจเรื่องบริการด้านสุขภาพจิตของคนไทยจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่กลับพบว่าการเข้าถึงบริการดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมนัก

จากข้อมูล Mental Health Check-in ของกรมสุขภาพจิต พบว่าสถานการณ์สุขภาพจิตคนไทยทุกช่วงอายุ ระหว่างปี 2563-2567 มีความเครียดสูง 8.04%  มีภาวะเสี่ยงซึมเศร้า 9.47% และเสี่ยงฆ่าตัวตาย 5.39% ประเด็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเยาวชนไทยอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่มีความเครียดสูงคิดเป็น 24.83% มีภาวะเสี่ยงซึมเศร้า 29.51% ในขณะเดียวกันกลุ่มเด็กและเยาวชนที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต พบว่ากำลังประสบปัญหาเช่นเดียวกัน โดย 1 ใน 7 ของวัยรุ่นอายุ 10-19 ปี มีความผิดปกติด้านจิตประสาทและอารมณ์ คาดประมาณว่าคนไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปป่วยด้วยโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน นอกจากนี้ ยังพบว่าร้อยละ 17.6 ของวัยรุ่นอายุ 13-17 ปี เคยคิดฆ่าตัวตาย ซึ่งการฆ่าตัวตายนี้นับเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ของวัยรุ่นไทย แต่ในปี 2565 กลับพบว่ามีเพียง 1 ใน 3 ของผู้ป่วยเท่านั้นที่เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา ในขณะที่จิตแพทย์เด็กมีจำนวนไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วย จากปัญหาสุขภาพจิตที่กล่าวมาข้างต้น หากผู้ป่วยไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องทันท่วงทีอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตที่รุนแรงขึ้น และนำไปสู่เหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายทั้งต่อตัวผู้ป่วย คนรอบข้าง และสังคมไทยอย่างน่ากังวล

ปีงบประมาณ 2565 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ในโครงการคู่เครือข่ายดูแลจิตใจก้าวสู่คนไทยคุณภาพ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนและบูรณาการการดำเนินงานดูแลช่วยเหลือทางด้านจิตใจ
ให้ครอบคลุมมหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทุกแห่ง เพื่อให้นักศึกษาและบุคลากรในมหาวิทยาลัยได้รับการส่งเสริม พัฒนา ป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดโรงพยาบาลคู่เครือข่ายหรือหน่วยงานที่มีศักยภาพในการดูแลทางด้านสุขภาพจิตให้กับมหาวิทยาลัย เพื่อการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตและการดูแลช่วยเหลือทางด้านสุขภาพจิตอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น การนำระบบดูแลช่วยเหลือนักศึกษามาประยุกต์ใช้และพัฒนาให้เหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษา จึงเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักศึกษา ให้มีความพร้อมอย่างเป็นองค์รวมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ความสามารถ จริยธรรม คุณธรรม ตลอดจนให้มีทักษะในการดำรงชีวิต ในทุกสถานศึกษา รวมทั้งสถานบริการสาธารณสุข ในฐานะหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบในการดำเนินการเพื่อสร้างเสริมคุณภาพผู้เรียน ดูแลสุขภาพกายใจให้สมดุล และแก้ปัญหาสังคมที่เกิดขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาที่จะเติบโตและใช้ชีวิตในสังคมต่อไป


อ้างอิง

  1. อนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย พ.ศ. 2576 (Futures of Mental Health in Thailand 2033) https://www.nia.or.th/bookshelf/view/237
  2. กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. (2566). แนวทางการดำเนินงานดูแลช่วยเหลือนักศึกษาในมหาวิทยาลัย (ฉบับเพิ่มเติม).

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th