The Prachakorn

การบำบัดด้วยสัตว์ (Animal Assisted Therapy)


ณัฐพร โตภะ

04 ตุลาคม 2567
356



การบำบัดด้วยสัตว์ หมายถึง การนำสัตว์ที่ผ่านการฝึกพร้อมนักบำบัดเข้าร่วมกระบวนการรักษา โดยสัตว์ทำหน้าที่เป็นตัวเสริมร่วมกับนักบำบัด และส่วนใหญ่นักบำบัดจะเป็นผู้ควบคุมสัตว์ และมักจะเป็นสัตว์เลี้ยงส่วนตัวของนักบำบัด แต่บางครั้งก็เป็นสัตว์เลี้ยงของผู้ฝึกซึ่งเป็นอาสาสมัครที่ผ่านการฝึกอบรมและทำงานภายใต้การดูแลของนักบำบัดมืออาชีพ1 สัตว์เลี้ยงบำบัดเป็นวิธีการรักษาด้านสุขภาพที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงการทำงานทางร่างกาย สังคม อารมณ์ หรือการรับรู้ โดยให้สัตว์เป็นส่วนสำคัญของการรักษา ซึ่งมีการนำมาใช้อยู่หลากหลายวัตถุประสงค์ และหลากหลายรูปแบบ โดยมีหลายงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า การเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว นก หรือปลา นั้น สามารถช่วยเยียวยาผู้ป่วยได้จริง2


ที่มา freepik.com

งานวิจัยหนึ่งในประเทศกรีซ พบว่า การใช้สัตว์เพื่อช่วยในการบำบัดกับผู้ป่วยนั้นสัมพันธ์กับการลดการแสดงออกของอาการเชิงลบของโรค และยังทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นอีกด้วย3 นอกจากนี้ยังมีการทบทวนระบบเกี่ยวกับการบำบัดด้วยสัตว์ และผลกระทบต่อผลลัพธ์ทางจิตสังคม (psychosocial outcomes) ผลการศึกษาพบว่า การบำบัดด้วยสัตว์ช่วยลดระดับความวิตกกังวลและซึมเศร้าได้ และช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิต โดยผลลัพธ์ของการบำบัดด้วยสัตว์แตกต่างกันไปตามประเภทของสัตว์ ระยะเวลาในการบำบัด และลักษณะของผู้ป่วย4

การบำบัดด้วยสัตว์เป็นประโยชน์อย่างไรบ้าง5

1. สุขภาพจิต: องค์กร Pet Partners6 กล่าวไว้ว่า การบำบัดกับผู้ป่วยสุขภาพจิตเป็นตัวช่วยที่สำคัญหลายประการ ดังนี้
    1. ลดความวิตกกังวลและความเครียด
    2. ลดการรับรู้ถึงความเจ็บปวด
    3. ลดความรู้สึกกลัวหรือกังวล
    4. เพิ่มความรู้สึกสนับสนุนทางสังคม
    5. เพิ่มแรงบันดาลใจ แรงกระตุ้น และความมุ่งมั่น

2. สุขภาพกาย: โรคที่การบำบัดด้วยสัตว์บางรูปแบบอาจช่วยสภาวะทางกายได้ เช่น
    1. โรคลมบ้าหมู
    2. โรคหัวใจล้มเหลว
    3. ความเจ็บปวดจากการรักษามะเร็ง
    4. การฟื้นตัวหลังการผ่าตัด
    5. การฟื้นตัวหลังจากโรคหลอดเลือดสมองแตก
    6. ภาวะที่ทำให้สูญเสียทักษะการเคลื่อนไหว
    
การทำงานร่วมกับสัตว์ในกรณีเหล่านี้อาจช่วยกระตุ้นให้ผู้ป่วยทำการบำบัดต่อไป ช่วยให้มีอารมณ์ดีขึ้น และลดอาการเจ็บปวด สำหรับสภาพร่างกายอาจช่วยให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวได้อย่างถูกต้องและออกกำลังกายบ่อยครั้ง


ที่มา freepik.com

ข้อควรระวัง7

  1. การเลือกสัตว์บำบัด โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นการเลี้ยงสัตว์ครั้งแรก ควรเลือกสัตว์ที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของผู้ผู้รับการบำบัด
  2. ถ้าผู้รับการบำบัดหรือสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้ จึงควรเลือกสัตว์เลี้ยงให้เหมาะสม
  3. ก่อนจะพิจารณาใช้วิธีการบำบัดด้วยสัตว์เลี้ยง ต้องแน่ใจว่าผู้รับการบำบัดสามารถดูแลมันได้

หากใครก็ตามที่กำลังพิจารณาใช้สัตว์เลี้ยงช่วยบำบัด ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวหรือผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับขั้นตอนการบำบัดและประโยชน์ที่ตนเองจะได้รับก่อน เพราะแต่ละคนอาจมีข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป


อ้างอิง

  1. Chandler, C. K. (2022). Animal-assisted therapy. In Encyclopedia of gerontology and population aging (pp.453-459). Cham: Springer International Publishing.
  2. Levinson, B. M. (1978). Pets and personality development. Psychological reports, 42(3_suppl), 1031-1038.
  3. Koukourikos, K., Georgopoulou, A., Kourkouta, L., & Tsaloglidou, A. (2019). Benefits of animal assisted therapy in mental health. International journal of caring sciences, 12(3), 1898-1905.
  4. Maujean, A., Pepping, C. A., & Kendall, E. (2015). A systematic review of randomized controlled trials of animal-assisted therapy on psychosocial outcomes. Anthrozoös, 28(1), 23-36.
  5. What to know about animal therapy สืบค้นจาก https://www.medicalnewstoday.com/articles/animal-therapy#benefits สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน 2567
  6. https://volunteer.petpartners.org/ สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน 2567
  7. ศรียา นิยมธรรม. (2558). การบำบัดด้วยสัตว์. สารานุกรมศึกษาศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 29 (2546), 20 – 21.

 
ที่มา https://www.happyhomeclinic.com/alt11-animaltherapy.htm
 
ที่มา https://aviaryrecoverycenter.com/blog/animal-assisted-therapy/

 

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th