The Prachakorn

ช่องว่างระหว่างวัย: แนวทางจัดการความขัดแย้งคนต่างรุ่น


มนสิการ กาญจนะจิตรา

14 พฤศจิกายน 2567
195



เชื่อว่าเพื่อนร่วมงานของคนส่วนใหญ่ในยุคนี้ ประกอบด้วยคนจากมากมายหลายรุ่นเพราะคนในวัยทำงานปัจจุบันมีตั้งแต่รุ่นเบบี้บูมเมอร์ที่เกิดในช่วงก่อนปี 2507 เจนเอกซ์ที่เกิดช่วงปี 2508–2522 เจนวายที่เกิดช่วงปี 2523–2540 และน้องใหม่อย่างเจนซีที่เกิดหลังปี 2540 ที่เริ่มทยอยเข้าสู่วัยทำงานกันแล้ว 

การมีคนหลากหลายรุ่นในองค์กร ถือว่าเป็นสินทรัพย์สำคัญหากบริหารจัดการให้เป็น เพราะสามารถเป็นจุดแข็งให้แก่องค์กรในการแข่งขันได้ถ้าดึงจุดเด่นของคนแต่ละรุ่นออกมาได้ ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์และภูมิปัญญาของคนรุ่นเก๋า หรือมุมมองที่แตกต่างของคนรุ่นใหม่ มีงานวิจัยพบว่า บริษัทที่พนักงานมีความแตกต่างของวัยสูง มีแนวโน้มที่จะมีผลิตภาพสูงกว่า สร้างนวัตกรรมที่สูงกว่า และมีกำไรสูงกว่า ถ้าหากองค์กรนั้นบริหารจัดการสภาพแวดล้อมให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างรุ่นอายุ 

ทำไมคนต่างวัยจึงขัดแย้งกัน?

เป็นธรรมดาที่คนเราจะมีแนวโน้มขัดแย้งกับคนที่ต่างกับตนซึ่งนอกจากความแตกต่างของช่วงวัยแล้ว คนต่างรุ่นยังเติบโตมาด้วยบริบทของชีวิตที่ต่างกัน คนรุ่นเบเบี้บูมเมอร์ เจนเอกซ์ เจนวายและเจนซี เติบโตมาในสภาพสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง หล่อหลอมเป็นความคิด ความเชื่อและค่านิยมที่แตกต่างกัน จึงทำให้คนต่างรุ่นไม่ลงรอยกันได้

นอกจากความแตกต่างที่ได้กล่าวไปแล้ว เราทุกคนมักมีความเชื่อความรู้สึกอะไรบางอย่างเกี่ยวกับคนต่างรุ่น ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เช่น คนที่อายุมากกว่า อาจรู้สึกว่าคนรุ่นใหม่ไม่มีความอดทนชอบเปลี่ยนงานไปเรื่อย ในขณะที่คนรุ่นใหม่อาจมองว่า คนรุ่นก่อนไม่ยืดหยุ่น ยึดติดแต่กับแนวทางเดิมๆ ซึ่งความเชื่อเหล่านี้อาจก่อเกิดขึ้นจากประสบการณ์ส่วนตัว หรือสิ่งที่เราเห็นตามสื่อต่างๆ ซึ่งเป็นต้นเหตุของการขัดแย้งได้ 

องค์กรจะเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างวัยในที่ทำงานได้อย่างไรบ้าง?

หนึ่งในแนวทางจัดการความขัดแย้ง คือ การส่งเสริมให้คนแต่ละรุ่นเข้าใจและเปิดใจยอมรับความแตกต่างของคนต่างรุ่น ซึ่งจะเกิดได้ยาก หากเราไม่เคยได้มีโอกาสคลุกคลีกับคนที่ต่างกับเราอย่างเพียงพอทฤษฎีการติดต่อระหว่างกลุ่ม (Intergroup contact theory) ที่ถูกพัฒนามาในช่วงปี 1950 ได้กล่าวไว้ว่า เราสามารถส่งเสริมให้คนต่างกลุ่มมีทัศนคติที่ดีต่อกันมากขึ้นได้ จากการให้คนต่างกลุ่มได้มีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้นภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม 

การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ตามทฤษฎีนี้ ประกอบด้วยองค์ประกอบ 5 ประการ ดังนี้

  1. การให้คนต่างกลุ่มได้มีปฏิสัมพันธ์กันแบบใกล้ชิด เช่น การมีปฏิสัมพันธ์แบบตัวต่อตัว
  2. การให้คนต่างกลุ่มได้มีปฏิสัมพันธ์ด้วยสถานะที่เท่าเทียม โดยไม่ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีสถานะทางสังคมสูงกว่า
  3. การให้คนต่างกลุ่มได้ทำงานหรือทำภารกิจที่นำไปสู่เป้าหมายเดียวกัน
  4. การเปิดโอกาสให้คนต่างกลุ่มได้แลกเปลี่ยนเรื่องราวและประสบการณ์ซึ่งกันและกัน 
  5. การได้รับการสนับสนุนในกิจกรรมนั้น เช่น กิจกรรมได้รับการสนับสนุนโดยผู้บริหารขององค์กร

งานวิจัยจำนวนมากได้ทดลองประยุกต์ใช้แนวทางดังกล่าวในการสร้างสภาพแวดล้อมการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนต่างรุ่นเพื่อลดช่องว่างระหว่างวัย และพบว่าแนวทางนี้สามารถเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างวัยได้ ถึงแม้จะดำเนินการไม่ครบถ้วนทั้ง 5 องค์ประกอบก็ตาม

ไอเดียกิจกรรมสร้างสภาพแวดล้อม เพื่อสานสัมพันธ์คนต่างวัย

องค์กรต่างๆ สามารถจัดกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อสานสัมพันธ์คนต่างวัย โดยดูตัวอย่างจากองค์กรหลากหลายแห่งทั่วโลกที่นำมาใช้ เช่น การจัดให้คนต่างรุ่นได้ร่วมทำภารกิจสำคัญขององค์กรด้วยกัน การใช้ระบบพี่เลี้ยง ให้ผู้มีอายุงานมากกว่าถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ให้กับผู้ที่มีอายุงานน้อยกว่า และในทางกลับกัน ให้คนรุ่นใหม่ช่วยแนะนำทักษะใหม่ๆ อย่างการใช้ AI ให้กับคนอายุมากกว่า เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายมีการปฏิสัมพันธ์กันด้วยสถานะที่เท่าเทียมมากขึ้น หรือการจัดกิจกรรมในรูปแบบสบายๆ ผ่านกิจกรรมสันทนาการที่ดึงการมีส่วนร่วมของพนักงานทุกวัย หรือการจัดพื้นที่ให้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตในช่วงพักกลางวัน ซึ่งจะช่วยสร้างเสริมความเข้าอกเข้าใจกันมากยิ่งขึ้น

โดยสรุปแล้ว ความขัดแย้งระหว่างวัยในที่ทำงานเป็นสิ่งที่องค์กรสามารถบริหารจัดการได้ โดยการสร้างสภาพแวดล้อมให้คนต่างรุ่นมีโอกาสได้มีปฏิสัมพันธ์กัน ตามหลักการของทฤษฎีการติดต่อระหว่างกลุ่ม เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างรุ่นอายุ ให้องค์กรเดินหน้าต่อไปในสังคมสูงวัยอย่างมั่นคง

 
รูป: กิจกรรมสร้างความสัมพันธ์
รูปโดย: วรัญญา อาศัยศาสน์


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th