The Prachakorn

Paralympic Games Paris 2024 ศักยภาพแห่งมนุษยชาติ


อมรา สุนทรธาดา

19 พฤศจิกายน 2567
118



ประเทศ 3 อันดับแรกที่ครองเหรียญทอง ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน 94 เหรียญ อังกฤษ 49 เหรียญ และสหรัฐอเมริกา 36 เหรียญ
ประเทศไทยครองอันดับที่ 21 สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยสถิติ 30 เหรียญ ได้แก่ เหรียญทอง 6 เหรียญ เหรียญเงิน 11 เหรียญ และเหรียญทองแดง 13 เหรียญ

ย้อนเวลาไป 100 ปี การก่อตั้งสมาคมผู้พิการทางการได้ยิน ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เมื่อปี 1888 เริ่มเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายอีกครั้งหลังช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดย นายแพทย์สาขาประสาทวิทยา โรงพยาบาล Stoke Mandeville เมือง Aylesbury ประเทศอังกฤษ เป็นแพทย์ดูแลทหารผ่านศึกและพลเรือน จากสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้คัดเลือกผู้ป่วยที่อยู่ในความดูแลจากอาการเจ็บที่ปลายประสาทบริเวณกระดูกสันหลัง โดยการใช้วิธีรักษาแบบผสมผสานด้านการแพทย์และการเล่นกีฬา วิธีการรักษาแบบผสมผสานดังกล่าวมีผลดีเกินคาด เพราะผู้ป่วยอาการดีขึ้นและบางรายกลายเป็นนักกีฬาพิการที่มีความสามารถไม่น้อยกว่านักกีฬาอาชีพ ผู้ป่วยดังกล่าวมีทั้งพลเรือนและทหารผ่านศึก ทั้งชายและหญิงจำนวน 16 คน เป็นนักกีฬาพิการเข้าแข่งขันกีฬาประเภทยิงธนูล้อเลื่อนในกีฬาโอลิมปิก ปี 1948 โดยใช้ชื่อการแข่งขัน the Stoke Mandeville Games ซึ่งเป็นที่มาของพาราลิมปิกเกมส์ (Paralympic Games) ในปัจจุบัน

อิตาลีเป็นประเทศแรกที่เป็นเจ้าภาพพาราลิมปิกเกมส์ เมื่อปี 1960 มีนักกีฬา 400 คน จาก 23 ประเทศ และทุก 4 ปี จะมีการแข่งขัน โดยมีประเทศสมาชิกหมุนเวียนเป็นเจ้าภาพ

พาราลิมปิก 2024 มีประเทศฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพ (เป็นเจ้าภาพครั้งแรกเมื่อปี 1992) มีนักกีฬาจำนวน 4,463 คน จาก 23 ประเทศ มีกีฬา รวม 22 ประเภท นักกีฬาที่เข้าข่ายเป็นผู้พิการ 10 ประเภทดังนี้ กล้ามเนื้ออ่อนแรง การเคลื่อนไหวร่างกายไม่ปกติ แขนขาลีบ ความยาวช่วงขาไม่เท่ากัน แคระแกร็น และสมองพิการตั้งแต่กำเนิดเนื่องจากหลายสาเหตุ เช่น ความผิดพลาดขณะคลอด ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการของอวัยวะบางส่วน เช่น แขนหรือขาเคลื่อนไหวไม่ปกติ พูดช้า ไม่เติบโตตามวัยเท่าที่ควร สายตาสั้น บกพร่องทางสติปัญญา

บทความนี้ขอชวนผู้อ่านแลกเปลี่ยนความเห็นสำหรับกีฬาผู้พิการ 2024 สำหรับประเภทกีฬา 2 ประเภท คือ วอลเลย์บอลนั่ง (sitting volleyball) มีกติกาให้ผู้แข่งขันนั่งกับพื้นตลอดเวลาขณะการแข่งขันและตบลูกบอลผ่านตาข่ายสู้กับคู่ต่อสู้ สำหรับกีฬาฟันดาบบนล้อเลื่อนต้องนำเสนอเพราะนักกีฬาไทยคว้า 3 เหรียญทอง

วอลเลย์บอลนั่งอยู่ในรายการกีฬาผู้พิการครั้งแรกเมื่อปี 1956 กติกาเหมือนกับวอลเลย์บอลปกติ มีเพียงปรับสนามให้เหมาะสมกับนักกีฬา เช่น สนามมีพื้นที่เล็กกว่าวอลเลย์บอลปกติ ลดความสูงของตาข่าย นักกีฬาทุกคนต้องนั่งติดพื้นตลอดการแข่งขัน จำนวนผู้เล่นฝ่ายละ 6 คน ผู้เล่นจะต้องมีความพิการทางร่างกายประเภทใดประเภทหนึ่ง โดยกำหนดกติกาให้ง่ายต่อการเลือกผู้เข้าแข็งขัน เช่น พิการเล็กน้อยเรียงลำดับถึงพิการในระดับมาก


รูป 1: การแข่งขันวอลเลย์บอลนั่ง พาราลิมปิก 2024
ที่มา: https://olympics.com/en/paris-2024/paralympic-games/sports/sitting-volleyball

ก่อนที่จะบรรจุกีฬาฟันดาบบนล้อเลื่อนเป็นประเภทกีฬาในการแข่งขันโอลิมปิกสมัยแรกเมื่อปี 1896 นั้น กีฬาฟันดาบเริ่มเปลี่ยนแปลงจากรูปแบบการฝึกของกองทัพมาเป็นกีฬาพลเรือนในช่วงศตวรรษที่ 14-15 โดยเยอรมนีและอิตาลีต่างก็อ้างว่าเป็นต้นกำเนิดกีฬาฟันดาบ

ในช่วงศตวรรษที่ 17-18 กีฬาฟันดาบได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นจากนวัตกรรมสำคัญ 3 อย่างคือ การคิดค้น “ฟอยล์” ดาบที่มีปลายเรียบแบน การออกแบบเครื่องแต่งกายนักกีฬาให้ปลอดภัยมากขึ้น เช่น สวมหน้ากากลวดตาข่าย รวมทั้งการกำหนดกติกาพื้นที่เป้าหมายขณะต่อสู้


รูป 2: การแข่งขันฟันดาบบนล้อเลื่อน พาราลิมปิก 2024
ที่มา: https://www.facebook.com/photo/?fbid=936281365208848&set=a.562559499247705

สายสุนีย์ จ๊ะนะ นักกีฬาฟันดาบบนล้อเลื่อนทำสถิติคว้า 3 เหรียญทองในรายการเดียวคนแรกของโลกให้ทีมชาติไทยในพาราลิมปิก 2024 ที่ประเทศฝรั่งเศส นับเป็นเหรียญที่ 7 ของนักกีฬาหญิงวัย 50 ปี ผู้อุทิศตนยืนหยัดความมุ่งมั่นเพื่อชื่อเสียงให้ประเทศจากผลงานพาราลิมปิก 6 สมัย ตั้งแต่ปี 2004 จนถึงปีล่าสุด

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th