The Prachakorn

สันติภาพโลก


อมรา สุนทรธาดา

07 พฤษภาคม 2561
271



การติดตามความเคลื่อนไหววิกฤตการณ์โลกที่มีผลต่อสันติภาพโลกเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังชนิดวันต่อวัน เนื่องจากสาเหตุและรูปแบบของความรุนแรงมีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นขบวนการก่อการร้ายในกลุ่มติดกำลังอาวุธ หรือปฏิบัติการ ‘บุกเดี่ยว’ (lone wolf) ที่กลายเป็นยุทธวิธีใหม่สำหรับการก่อเหตุร้ายในที่สาธารณะที่ยากต่อการป้องกันและเป้าหมายที่สำคัญคือ ยุโรปและอเมริกา

จุดปะทุความขัดแย้งหรือการยั่วยุที่ดูเหมือนว่าการเจรจาเพื่อสันติภาพยังไม่คืบหน้า คือการขัดแย้งทางการเมืองในคาบสมุทรเกาหลี การทดลองขีปนาวุธพิสัยไกลและอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือที่อวดอ้างว่ามีศักยภาพการทำลายสูง มีการทดลองรวม 6 ครั้งแล้ว ตั้งแต่ปี 2006 และครั้งล่าสุดเมื่อเดือนเมษายนปี 2017 หลักฐานที่ประเมินจากการวัดแรงสั่นสะเทือนคาดว่ามีอานุภาพเหนือกว่าระเบิดนิวเคลียร์ที่อเมริกาใช้ถล่มเมืองฮิโรชิมาเมื่อสงครามโลกครั้งที่สอง ถึง 1,000 เท่า เหตุผลที่เกาหลีเหนือต้องการทดลองขีปนาวุธเพราะอ้างว่าเป็นประเทศเล็กจำเป็นต้องป้องกันอธิปไตย ความดื้อรั้นของผู้นำเกาหลีเหนือส่งผลให้เกาหลีใต้และญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านผวา เนื่องจากมีมหันตภัยจ่ออยู่แค่ประตูบ้าน มีความพยายามจากสหประชาชาติรวมทั้งประเทศมหาอำนาจ ร่วมมือหามาตรการทั้งวิธีการเจรจาทางการทูตและการติดต่อเป็นการส่วนตัวสายด่วนเพื่อหยุดยั้งการกระทำที่ยั่วยุและเป็นอันตรายต่อสันติภาพโลก ซึ่งยังไม่มีหลักประกันที่จะทำให้ผู้นำเกาหลีเหนือยินดีรับฟังหรือส่งสัญญาณเปลี่ยนท่าทีแต่อย่างใด

อีกจุดปะทุหนึ่งของความขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนาในเมียนมาที่มีผลต่อการสู้รบเผาทำลายบ้านเมืองและทรัพย์สิน อื่นๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์โรฮีนจาในรัฐยะไข่ ที่มีหลักฐานว่าเป็นการกระทำของรัฐบาล ด้วยข้ออ้างว่าต้องการปราบปรามกองกำลังติดอาวุธ จนเกิดการอพยพลี้ภัยผู้เป็นเหยื่อของความรุนแรง จากสถิติล่าสุด ในเดือนกันยายน 2017 รวบรวมโดยองค์กรนานาชาติเช่น สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ องค์กรหมอไร้พรมแดน และองค์กรการย้ายถิ่นนานาชาติ รายงานว่าบังกลาเทศแบกรับภาระผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจามากที่สุดราว 890,000 คน อันดับรองคือปากีสถานมีประมาณ 350,000 คน

ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์โรฮีนจาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยในดินแดนที่เรียกว่าเมียนมาในปัจจุบันตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 ความยุ่งยากเกิดขึ้นเมื่ออังกฤษคืนอิสรภาพให้อินเดียหลังจากปกครองมายาวนานกว่า 100 ปี (1824-1948) ซึ่งมีผลต่อสถานะของโรฮีนจาทันทีตามเงื่อนไขของกฎหมายใหม่ เพราะในช่วงที่เป็นดินแดนในอารักขาของอังกฤษนั้นใช้หลักการปกครองให้พม่าเป็นจังหวัดหนึ่งของอินเดีย และเนื่องจากในอดีตมีการเคลื่อนย้ายแรงงานจากรัฐเบงกอลซึ่งต่อมาแยกตัวเป็นประเทศบังกลาเทศเข้ามาตั้งถิ่นฐานทางตอนเหนือของพม่าการพิสูจน์สถานะความเป็นพลเมืองตามกฎหมายใหม่ของรัฐบาลพม่าระหว่างกลุ่มชนดั้งเดิมและ

แรงงานย้ายถิ่นที่มาตั้งถิ่นฐานนานหลายทศวรรษกลายเป็นชนวนของความขัดแย้งและการต่อต้านกลุ่มชาติพันธุ์โรฮีนจาที่ถูกเรียกว่า เบงกาลีและตั้งข้อรังเกียจว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกันทั้งเชื้อชาติเผ่าพันธุ์และศาสนา

ผู้ลี้ภัยโรฮิงยาข้ามชายแดนไปบังคลาเทศ 
ภาพโดย: http://www.aljazeera.com/indepth/features/2017/08

สำหรับกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกกลางที่ตลอดช่วงเวลาของความขัดแย้งทางศาสนาและการเมือง ซีเรียเป็นกรณีศึกษาที่สะท้อนปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศและการแทรกแซงจากภายนอกที่มีผลทำให้แผนสันติภาพซับซ้อน รัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีอัลอัสซาดปราบปรามผู้ต่อต้านอย่างรุนแรงนานต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2011-ปัจจุบัน มีพลเมืองเสียชีวิตและบาดเจ็บร้อยละ 5 ของประชากรทั้งประเทศ จากรายงานของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ ระบุว่าจำนวนผู้ลี้ภัยจากซีเรียตั้งแต่ปี 2011-ปัจจุบัน มีมากถึง 120,600 คนกระจายอยู่ในที่พักชั่วคราว ในยุโรป รวม 25 ประเทศ ซึ่งตุรกีกรีซ และอิตาลี เป็นปลายทางที่แบกรับผู้ลี้ภัยจากซีเรียมากกว่าประเทศอื่นๆ

ความขัดแย้งครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อประธานาธิบดีทรัมพ์ประกาศย้ายที่ตั้งสถานทูตสหรัฐอเมริกาจากกรุงเทลอาวีฟไปที่นครเยรูซาเล็มเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม2017 ซึ่งเป็นการสนับสนุนการยอมรับเมืองหลวงใหม่ของอิสราเอล ทั้งๆ ที่ยังเป็นดินแดนกรณีพิพาทระหว่างปาเลสไตน์และอิสราเอล ผลสืบเนื่องจากการประกาศดังกล่าวทำให้ผู้นำกลุ่มชาติอาหรับเรียกประชุมประเทศสมาชิกเพื่อแสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อผู้นำอเมริกา รวมทั้งการประท้วงที่ลุกลามไปอีกหลายประเทศ

 

 

การประท้วงของพลเมืองปาเลสไตน์ที่เมืองกาซ่า 
ภาพโดย: http://www.truth.out.org 15/12/17

แสงสว่างเพื่อสันติภาพโลกดูจะลดน้อยลงทุกขณะ

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th