The Prachakorn

พลิกเกมธุรกิจ น้ำเต้าหู้: ท้าชนตลาดโปรตีนพืชแห่งอนาคตด้วยกลยุทธ์เศรษฐศาสตร์


ปรียา พลอยระย้า

30 ตุลาคม 2567
721



ในยุคที่ตลาดโปรตีนจากพืชกำลังบูมไปทั่วโลก “น้ำเต้าหู้” หรือผลิตภัณฑ์นมจากถั่วเหลืองเป็นหนึ่งในสินค้าที่โดดเด่นและน่าจับตามอง เพราะปี 2567 สามารถสร้างมูลค่าทางการตลาดพุ่งทะยานสูงถึง 2 หมื่นล้านบาท (17,633 ล้านบาท) (สถาบันอาหาร, 2567) ซึ่งเติบโตอย่างต่อเนื่องราว 8-9% ต่อปี แซงหน้าอัตราการเติบโตของ ‘นมวัว’ ที่โตเพียง 6% (Workpoint TODAY, 2567) สะท้อนให้เห็นถึงการแข่งขันอย่างดุเดือดของตลาดนมในประเทศไทย เพราะน้ำเต้าหู้ไม่เพียงแค่ตอบสนองความต้องการทางโภชนาการ แต่ยังสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจสีเขียวและการบริโภคอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจในศตวรรษที่ 21 ผู้ประกอบการที่ต้องการสร้างความสำเร็จในตลาดจะต้องปรับตัวให้เข้ากับความต้องการต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ความนิยมของสังคม และกระแสของแต่ละพื้นที่ ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคโดยตรง ที่หันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพควบคู่ไปกับการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ เพราะฉะนั้นการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพและการเจาะตลาดใหม่ ๆ ให้ประสบความสำเร็จ จำเป็นที่จะต้องดำเนินธุรกิจโดยใช้กลยุทธ์ทางเศรษฐศาสตร์...

เมื่ออุปสงค์เปลี่ยนไปเพราะกลุ่มลูกค้าใหม่ ไม่ใช่แค่คนเดินตลาด

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ธุรกิจน้ำเต้าหู้ ซึ่งเคยถูกมองว่าเป็นเครื่องดื่มพื้นบ้านราคาย่อมเยา และมักพบได้ในตลาดสด กลับได้รับความสนใจอย่างมากจากกลุ่มลูกค้าใหม่ ไม่ใช่แค่กลุ่มคนเดินตลาดที่เคยเป็นลูกค้าหลักอีกต่อไป ในวันนี้ น้ำเต้าหู้กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพ คนแพ้นมวัว คนรักสิ่งแวดล้อม และกลุ่มคนที่มองหาผลิตภัณฑ์ทดแทนจากธรรมชาติ จะเห็นได้ว่า ผู้บริโภคมีความต้องการในตัวเลือกของผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและมีกำลังซื้อสูงจึงทำให้อุปสงค์เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ธุรกิจน้ำเต้าหู้จึงต้องปรับกลยุทธ์ใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดย คุณเบนซ์ ผ่องพิศ สิริเวชชะพันธ์ ผู้บริหารร้าน “Sip a Soy” เจ้าของธุรกิจ Start Up คาเฟ่น้ำเต้าหู้ ย่าน ม.รังสิต ให้ข้อมูลที่น่าสนใจกับเราว่า เพราะเห็นเทรนด์การบริโภคที่เปลี่ยนไปจึงเริ่มต้นทำธุรกิจน้ำเต้าหู้จาก Food Truck ในตลาดสด ในราคาที่จับต้องได้ ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในทุกกลุ่มอายุ แต่หลังจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ก็ได้ปรับรูปแบบการขายและที่ตั้ง จาก Food Truck  มาเป็นร้านสไตล์คาเฟ่ จับกระแสรักสุขภาพในกลุ่มนิสิต-นักศึกษา และคนทำงาน ด้วยการนำเสนอรูปแบบใหม่ทั้งบรรจุภัณฑ์ เมนู การบริการ ความหลากหลายของวัตถุดิบ ที่ยังคงคุณภาพไว้เต็มเปี่ยม เพื่อเปลี่ยนจากเครื่องดื่มตลาดสด สู่สินค้าที่ตอบโจทย์สุขภาพและไลฟ์สไตล์

“เราสำรวจตลาดและดูที่พฤติกรรมของผู้บริโภคเป็นหลัก จึงมีการปรับรูปแบบการขายรวมถึงเวลาเปิด-ปิดร้านใหม่ทั้งหมด แต่ยังคงเมนูหลักและคุณภาพของวัตถุดิบไว้เหมือนเดิม เพราะกลุ่มลูกค้าหลักของเราคือ “คนรักสุขภาพ” และ “นักศึกษา”  ที่เน้นใช้ชีวิตช่วงบ่ายถึงกลางคืน เมนูในร้านจึงผสมผสานระหว่างความดั้งเดิม และมีความสดใหม่ในเวลาเดียวกัน”


ภาพจาก Facebook page: Sip a Soy

ต้นทุนและการสร้างมูลค่าเพิ่ม: กลยุทธ์แห่งความได้เปรียบเชิงเศรษฐศาสตร์

ธุรกิจน้ำเต้าหู้ที่มีการแข่งขันที่ดุเดือด ผู้ประกอบการต้องพิจารณาถึงการลดต้นทุนการผลิตและการสร้างความได้เปรียบเชิง ต้นทุนต่อหน่วย หนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญคือการ ประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) ควบคู่กับการสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความได้เปรียบเชิงเศรษฐศาสตร์ในตลาดที่เต็มไปด้วยคู่แข่ง

ซึ่งคุณเบนซ์มองว่า การลงทุนกับวัตถุดิบอย่าง เฉาก๊วย เป็น 1 ในตัวชูโรงของร้านที่สามารถผลิตเอง เพื่อควบคุมต้นทุนและคุณภาพ และนอกจากการบริหารต้นทุนแล้ว การสร้างมูลค่า (Value) ให้กับผลิตภัณฑ์ยังเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความแตกต่าง (Differentiation Point) และดึงดูดลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ อาทิ

  • การสร้างสรรค์เมนูใหม่ ๆ ให้ทันกับกระแสและความนิยมของสังคม
  • ราคาจับต้องได้ ในปริมาณและคุณภาพที่สุดคุ้ม
  • นำเสนอรสชาติใหม่และเมนูที่หลากหลาย เหมาะกับทุกเพศ ทุกวัย เช่น Value Set 1 อิ่มสุดคุ้ม/ Kiss Kids เมนูสำหรับเด็ก/ DIY By You ที่เน้นสร้างความสนุกในการเลือก Topping
  • ใส่ใจใช้วัตถุดิบที่ผ่านการเลือกสรรจากเจ้าของร้านเป็นอย่างดี
  • ร่วมสนุกทุกเทศกาล พร้อมโปรโมชั่นเด็ดมัดใจทุกกลุ่มเป้าหมาย
  • ช่องทางการขายที่เข้าถึงทุกแพลตฟอร์มทั้ง ออฟไลน์ (หน้าร้าน/ ตั้งบูธ) และออนไลน์ (Lineman, GrabFood)

กลยุทธ์เหล่านี้ จะช่วยให้ธุรกิจสามารถดึงดูดลูกค้าที่มีกำลังซื้อตามความสนใจ สร้างส่วนต่างกำไร และเพิ่มเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจเติบโตในระยะยาว

เพราะทุกอย่างคือ Content

น้ำเต้าหู้ ไม่ได้สร้างมาเพื่อการมีคุณภาพที่ดีเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป เพราะฉะนั้น การปรับตัวทางการตลาดจากตลาดสดสู่การตลาดออนไลน์จึงเป็นหัวใจสำคัญ การสร้างสตอรี่ในยุคใหม่ที่ Content ทุกอย่างล้วนขายได้ ถือเป็นความท้าทายที่ผู้ประกอบการต้องหากลยุทธ์ในการทำการตลาดให้โดนใจและไปถึงกลุ่มเป้าหมายแบบย่อยง่ายที่สุด เน้นเป็นกระแส มีจุดขาย สร้างความวาไรตี้ในแต่ละเมนู คงคุณภาพ และราคาเข้าถึงง่าย ซึ่งยังคงเป็นโจทย์หินสำหรับการทำธุรกิจ

การประชาสัมพันธ์ที่มากกว่าแค่หน้าร้าน เพราะการขยายช่องทางเพื่อสร้างการรับรู้ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย จะช่วยทำให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น คุณเบนซ์เล่าว่า ผู้บริโภคสมัยใหม่ไม่ได้สนใจแค่สินค้าเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับเรื่องราวเบื้องหลังวัตถุดิบและการผลิตด้วย และ “เฉาก๊วย” ของ Sip a Soy ถูกเล่าเรื่องราวผ่าน สื่อสังคมออนไลน์ของทางร้าน ไม่ว่าจะเป็น Facebook/ TikTok/ IG ด้วยการทำเนื้อหาวิธีการทำในแต่ละเมนู ที่มาของวัตถุดิบ รีวิวเมนูต่าง ๆ หรือแม้แต่เนื้อหาที่ให้ความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของน้ำเต้าหู้ ที่สามารถสื่อสารถึงคุณค่าด้านสุขภาพ สร้างการรับรู้ถึงมาตรฐานและความเชื่อมั่นของวัตถุดิบ เข้าถึงไลฟ์สไตล์ที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง วิธีการนี้ช่วยให้แบรนด์น้ำเต้าหู้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่ไม่เคยสนใจน้ำเต้าหู้มาก่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บทสรุป

การพลิกเกมธุรกิจน้ำเต้าหู้เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดโปรตีนพืชแห่งอนาคต จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์เศรษฐศาสตร์ที่ครอบคลุมทั้งด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การสร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาด การปรับกลยุทธ์ทางการตลาดให้เหมาะสมกับพฤติกรรมของผู้บริโภคและยุคสมัยของโลก การเข้าถึงและขยายฐานกลุ่มเป้าหมายด้วยการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโซเชยลมีเดีย วิธีการเหล่านี้ จะช่วยให้ธุรกิจน้ำเต้าหู้ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับเทรนด์และความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน จะมีศักยภาพในการเติบโตและแข็งแกร่งในการแข่งขันในตลาดโปรตีนพืชที่กำลังมาแรง


ขอขอบคุณข้อมูล
คุณผ่องพิศ สิริเวชชะพันธ์ (เบนซ์) ผู้บริหารร้าน “Sip a Soy” เจ้าของธุรกิจ Start Up คาเฟ่น้ำเต้าหู้

ภาพประกอบบทความ

  • https://www.facebook.com/sipasoy89    
  • https://www.tiktok.com/@sip_a_soy

อ้างอิง

  • อารียา เอื้อการณ์ และชิณโสณ์ วิสิฐนิธิกิจา. (2565). ปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดในการบริโภคน้ำเต้าหู้เพื่อสุขภาพ. วารสารวิชาการเซาธ์อีสท์บางกอก (สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์) ปีที่ 8 ฉบับที่ 2 (2022): กรกฎาคม - ธันวาคม 2565
  • สถาบันอาหาร. (2567). ตลาดผลิตภัณฑ์นมจากพืชในประเทศไทย. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2567 จาก https://fic.nfi.or.th/market-intelligence-detail.php?smid=410
  • Workpoint Today. Prakaiporn. (2567). เทรนด์สุขภาพมาแรง! คนหันมาบริโภค ‘นมจากพืช’ มากขึ้น จนการเติบโตแซงหน้า ‘นมวัว’ สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2567 จาก https://workpointtoday .com/plant-based-milk-corn-milk-2-thai-brands/

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th