The Prachakorn

จะเป็นโจทย์ใหญ่ไหม????...... ถ้าผู้สูงวัยอาศัยในถิ่นเดิม (Ageing in place)


กมลชนก ขำสุวรรณ

06 พฤศจิกายน 2567
232



การสูงวัยในถิ่นเดิม  เป็นคำที่ผู้เขียนต้องการสื่อมายังผู้อ่านให้เข้าใจอย่างง่ายๆ โดยศัพทานุกรมการวิจัยทางประชากรและสังคม ใช้คำว่า การสูงวัยในถิ่นที่อยู่  (Ageing in place) ซึ่งทั้งสองคำนี้ มีความหมายเหมือนกันคือ แนวคิดที่มุ่งเน้นการอยู่อาศัยในบ้านและชุมชนเดิม ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาวะทางด้านร่างกายและทางจิตใจ รวมทั้งเน้นความสำคัญของการจัดสวัสดิการสังคมของภาคส่วนต่างๆ ไปสู่บ้านและชุมชนอย่างเป็นองค์รวม เพื่อเพิ่มความสะดวกในการดำรงชีพของผู้สูงวัยตลอดเส้นทางชีวิต โดยมีองค์ประกอบ 3 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) สถานที่ เทคโนโลยี และสภาพแวดล้อม 2) บริการสุขภาพและการดูแลระยะยาว และ 3) บริการดูแลทางสังคม

ภาพขนาดและแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของจำนวนและสัดส่วนผู้สูงวัย (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ที่เกิดขึ้นควบคู่กับปรากฎการณ์ความต้องการบริการทางสังคมที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง ผนวกรวมกับผลการศึกษาด้านความเป็นอยู่และความต้องการด้านบ ริการกับผู้สูงวัยที่มีรายได้น้อยในช่วงโควิด-19 และผลการศึกษาด้านความคาดหวัง การวางแผน และรูปแบบการอยู่อาศัยต่อชีวิตในวัยสูงอายุ (ณปภัช สัจนวกุล et al., 2564;  จงจิตต์  ฤทธิรงค์ et al., 2565) อัพเดตข้อมูลว่า ผู้สูงวัยส่วนมากต้องการอาศัยในถิ่นเดิม สะท้อนให้เห็นถึงนโยบายการดูแลผู้สูงวัยที่มุ่งไปยังการสูงวัยในถิ่นเดิม  และการเตรียมการรับมือของหลายๆ ภาคส่วน ในการจัดบริการทางสังคม เพื่อดูแลผู้สูงวัยกลุ่มเปราะบางที่เพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว จึงเป็นโจทย์ท้าทายที่ต้องไปให้ถึง

ข้อมูลจากโครงการ “การสูงวัยในถิ่นที่อยู่ด้วยบริการด้านสุขภาพและนวตกรรมทางสังคมของหลายภาคส่วน” ดำเนินการโดย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี  2567 มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูลการให้บริการทางสังคมที่เอื้อต่อการสูงวัยในถิ่นเดิม 3 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) สถานที่ สภาพแวดล้อม และเทคโนโลยี 2) บริการสุขภาพและการดูแลระยะยาว และ 3) บริการการดูแลทางสังคม  เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับบริการด้านสุขภาพและสังคมที่เอื้อต่อการสูงวัยในถิ่นเดิม ให้ข้อมูลที่ควรรู้แก่ผู้กำหนดนโยบายสังคม และผู้นำนโยบายสังคมไปปฏิบัติ ดังนี้

องค์ประกอบที่ 1 บริการดูแลด้านที่อยู่อาศัย อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) สภากาชาดไทย โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ฯลฯ  มีโครงการจำนวนมากที่นำไปดำเนินการ ทั้งแบบถ้วนหน้าและเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย เช่น โครงการช่วยเหลือทางการเงิน สำหรับผู้ที่เลี้ยงดูบิดามารดาทั้งของตนเองและคู่สมรส สำหรับประชาชนทั่วไปที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเพื่อเลี้ยงดูบิดามารดาและอยู่อาศัยร่วมกันเป็นครอบครัว สำหรับผู้สูงวัยที่มีรายได้น้อย รวมทั้งการปรับปรุงซ่อมแซมหรือจัดที่อยู่อาศัย ตลอดจนการปรับสภาพแวดล้อมของที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมสำหรับผู้สูงวัยกลุ่มเปราะบาง นอกจากนี้ยังรวมถึงนวตกรรมอุปกรณ์และเทคโนโลยีต่างๆ ในการช่วยให้ผู้สูงวัยใช้ชีวิตได้อย่างอิสระด้วยตนเองได้นานขึ้น

องค์ประกอบที่ 2 บริการการดูแลด้านสุขภาพและการดูแลระยะยาว อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงพม. กระทรวงมท. กระทรวงแรงงาน (รง.) ฯลฯ มีโครงการจำนวนมากและหลากหลาย สำหรับผู้สูงวัยทั่วไปและผู้สูงวัยกลุ่มเปราะบาง ครอบคลุมการดูแลด้านร่างกาย จิตใจ และการดูแลระยะยาวควบคู่กับการผลิตและการพัฒนาบุคลากรทางด้านการแพทย์ในทุกระดับ  ซึ่งส่วนใหญ่จะผนวกบริการดูแลทางด้านสังคมเข้าไปด้วย เช่น โครงการทีมหมอครอบครัวเป็นโครงการที่ดำเนินการร่วมกันระหว่างสหวิชาชีพทั้งทางด้านการแพทย์และการสาธารณสุขในหน่วยบริการใกล้บ้าน มีเป้าหมายเพื่อให้การดูแลผู้สูงวัยที่บ้านที่เป็นผู้ป่วยติดบ้านและติดเตียง

องค์ประกอบที่ 3 บริการดูแลทางสังคม อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงพม. กระทรวงมท. กระทรวงรง. กระทรวงสธ. กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุดมศึกษา และกระทรวงดิจิตัล  มีโครงการจำนวนมากที่ดำเนินการ ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของการจัดสวัสดิการ ได้แก่ การสนับสนุนเบี้ยยังชีพ การสงเคราะห์จัดงานศพ และบริการช่วยเหลือทางสังคม ได้แก่ การดูแลช่วยเหลือผู้สูงวัยกลุ่มเปราะบาง รวมทั้งการส่งเสริมการมีส่วนร่วม ได้แก่ การจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ อาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุตามบ้าน โดยที่ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการเป็นส่วนน้อย แต่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างแพง เช่น โครงการบ้านผู้สูงวัย โครงการสถานบริการดูแลผู้สูงวัย  

ซึ่งผลการศึกษานี้ ได้เปิดเผย 2 ข้อเท็จจริงในการจัดบริการทางสังคมที่เอื้อต่อการสูงวัยในถิ่นเดิม คือ

  1. นโยบายการจัดบริการทางสังคมที่เอื้อต่อการสูงวัยในถิ่นเดิม พบว่า มีหลายหน่วยงานรับผิดชอบ ซึ่งมีลักษณะกระจัดกระจายตามบทบาทภารกิจของแต่ละกระทรวง โดยเน้นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ขณะที่ภาคเอกชน จะเน้นทำโครงการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมหรือ CSR ในรูปของการบริจาคเพื่อบรรเทาปัญหาชั่วครั้งชั่วคราวเป็นหลัก จึงเป็นความท้าทายว่าจะทำอย่างไรให้การจัดบริการทางสังคมนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังมีความแตกต่างกันตามโครงการที่ลงไปดำเนินการ บางโครงการมีการจัดบริการครบทั้ง 3 องค์ประกอบ บางโครงการมีการจัดบริการ 2 องค์ประกอบ เป็นต้น ชี้ชัดว่านโยบายดี แต่ยังไม่มีความชัดเจนในการนำไปปฏิบัติ จึงทำให้การดำเนินงานไม่เป็นระบบและวัดผลสำเร็จเชิงผลลัพธ์ในภาพรวมได้ยาก
  2. การสร้างความร่วมมือของหลายภาคส่วนในการจัดบริการทางสังคม ข้อมูลเปิดเผยว่า หลายๆ ภาคส่วน มีการจัดบริการทางสังคมที่เอื้อต่อการสูงวัยในถิ่นเดิมอย่างหลากหลาย แต่ยังอยู่ในความรับผิดชอบของภาครัฐเป็นหลักและมีภาคส่วนอื่นๆ เข้ามาร่วม โดยให้ความช่วยเหลือกับกลุ่มเปราะบางก่อน เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานได้เท่าเทียมกับประชากรกลุ่มอื่น โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าภาครัฐมีงบประมาณจำกัด แต่ในอนาคตกลับมีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณอย่างไม่จำกัด ดังนั้นจำเป็นต้องผลักดันให้เกิดความร่วมมือรูปแบบใหม่ๆ เพื่อเชื่อมโยงภาคส่วนต่างๆ เข้ามาจัดบริการทางสังคมร่วมกันอย่างเป็นระบบ โดยนำศักยภาพของแต่ละภาคส่วนที่หลากหลาย เข้ามาร่วมกำหนดรูปแบบการจัดบริการทางสังคมที่สามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้สูงวัยที่อาศัยในถิ่นเดิม เพื่อการบรรลุเป้าหมายเดียวกันคือ “ผู้สูงวัยสามารถใช้ชีวิตอยู่ในบ้านตัวเอง อยู่ในชุมชนของตัวเอง และดูแลตัวเองได้อย่างอยู่ดีมีสุข และยาวนาน ไม่ต้องย้ายไปอาศัยในโรงพยาบาล หรือสถานสงเคราะห์คนชรา”

และ...ถ้าผู้เกี่ยวข้องในการจัดบริการทางสังคมทุกภาคส่วน สามารถบริหารจัดการนโยบายการจัดบริการทางสังคมที่เอื้อต่อการสูงวัยในถิ่นเดิม และภาคส่วนต่างๆ ที่นำนโยบายไปปฏิบัติได้อย่างชัดเจนและมีทิศทางเดียวกัน คำถามที่ว่าจะเป็นโจทย์ใหญ่ไหม????...... ถ้าผู้สูงวัยอาศัยในถิ่นเดิม ก็จะไม่ใช่คำถามอีกต่อไป


เอกสารอ้างอิง

  • ณปภัช สัจนวกุล, ณัฐนี อมรประดับกุล, นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์, วิภาพร จารุเรืองไพศาล, & ประทีป นัยนา. (2564). การสำรวจความเป็นอยู่และความต้องการด้านบริการและการดูแลสำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ในช่วงระหว่างและหลังการใช้มาตรการปิดเมืองอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทย. สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.
  • จงจิตต์  ฤทธิรงค์, เฉลิมพล แจ่มจันทร์, พิมลพรรณ นิตย์นรา, ณัฐณิชา ลอยฟ้า, & (2565). ความคาดหวัง การวางแผน และ การเตรียมตัวของประชากรวัยทำงานต่างรุ่นอายุ และรูปแบบการอยู่อาศัยต่อชีวิตในวัยสูงอายุ. สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.

 

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th