The Prachakorn

สูงวัย ทำไมยังต้องไปโรงเรียน


นิธิพัฒน์ ประสาทกุล

08 พฤศจิกายน 2567
203



การจัดสรรพื้นที่หรือสถานที่ให้แก่ผู้สูงอายุถือเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากจะช่วยในเรื่องจิตใจ ยังสามารถทำให้ผู้สูงอายุกลับเข้ามามีบทบาทในสังคมได้อีกครั้ง เพื่อป้องกันการอยู่แบบโดดเดี่ยว อีกทั้งยังสนับสนุนแนวคิด Ageing in Place ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

โรงเรียนวัยเก๋างิ้วราย เป็นชื่อที่ผมได้ยินและเห็นผ่านตามาสักพัก และทราบรายละเอียดเบื้องต้นว่าเป็นโรงเรียนสำหรับผู้สูงอายุ แต่ก็ยังนึกภาพไม่ออกว่าโรงเรียนผู้สูงอายุนั้นเป็นอย่างไร

พื้นที่อบต. เขตงิ้วราย เป็นพื้นที่ที่จัดว่าเป็นสังคมผู้สูงอายุแบบสุดยอดไปเรียบร้อยแล้ว ข้อมูลการสำรวจของระบบเฝ้าระวังผู้สูงอายุตำบลงิ้วราย ดำเนินงานโดยโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุไทยอย่างรอบด้านโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พบว่ามีสัดส่วนของผู้สูงอายุมากเกินกว่าร้อยละ 28 ซึ่งมีจำนวนมากถึง 827 คนจากประชากรในพื้นที่ทั้งหมด 2,907 คน และมีจำนวนเด็กเพียงแค่ 353 คน หรือน้อยกว่าครึ่งของจำนวนผู้สูงอายุในพื้นที่1

บรรยากาศภายในห้องเรียนโรงเรียนวัยเก๋างิ้วราย
ภาพโดย นิธิพัฒน์ ประสาทกุล (ผู้เขียน)

ในวันที่ 23 สิงหาคม   พ.ศ. 2567 ผมได้มีโอกาสลงพื้นที่ไปยัง โรงเรียนวัยเก๋างิ้วราย เพื่อศึกษาดูงาน จึงได้เห็นภาพที่น่าประทับใจตั้งแต่เริ่ม โรงเรียนวัยเก๋างิ้วราย เป็นโรงเรียนขนาดเล็กสำหรับผู้สูงอายุ บรรยากาศโดยรวมนั้น เหมือนกับโรงเรียนทั่วไป แต่นักเรียนอาจจะต่างวัยกัน ผู้สูงอายุที่เป็นนักเรียนต่างแต่งตัวกันอย่างน่ารัก มีระเบียบและเรียบร้อย ซึ่งถือว่าเป็นภาพประทับใจของผมมาก ๆ นักเรียน (ผู้สูงอายุ) มีกิจกรรมทุกอย่างเช่นเดียวกับโรงเรียนปกติ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าแถวเคารพธงชาติยามเช้า การเรียนในห้อง การสวดมนต์กันก่อนเริ่มเรียนหลังเคารพธงชาติ หากสังเกตจากสีหน้าและท่าทางของนักเรียนวัยเก๋า ก็จะสามารถบอกได้เลยว่านักเรียนเหล่านี้กำลังมีความสุขและเพลิดเพลินกับการกลับมาเรียนอีกครั้งในวัยเกษียณ และดูจะยิ่งมีความสุขมากขึ้นไปอีกเมื่อมีคนมาเยี่ยมชมโรงเรียนของพวกเขา

รูปนักเรียนประจำชั้นที่ถูกประดับในห้องเรียนเช่นเดียวกับโรงเรียนทั่วไป
ภาพโดย นิธิพัฒน์ ประสาทกุล (ผู้เขียน)

สำหรับการเรียนในห้องเรียน บรรยากาศอาจจะไม่ได้เหมือนกับห้องเรียนของนักเรียนปกติมากนัก เนื่องจากบรรยากาศนั้นมีความผ่อนคลายมากกว่า ในวันที่ผมได้ไปลงพื้นที่ได้มีการสอนทำอุปกรณ์ในการยืดเหยียดร่างกาย นั่นคือ ยางยืดออกกำลังกาย นอกจากผู้สูงอายุจะได้ร่วมด้วยช่วยกันทำยางยืดแล้ว ภายหลังจากทำเสร็จแล้ว ยังมีการสอนแนวทางการใช้ยางยืดออกกำลังกาย เพื่อให้ผู้สูงอายุนำอุปกรณ์ดังกล่าวไปออกกำลังกายในภายหลังได้อีกด้วย

นอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียนแล้ว ผู้สูงอายุที่เป็นนักเรียนยังมีผลิตภัณฑ์มากมายมาวางขายเพื่อหารายได้ให้แก่โรงเรียนอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น ขนมต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งอุปกรณ์การละเล่นไทย ซึ่งทุกอย่างล้วนทำจากมือของผู้สูงอายุทั้งหมด ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการหารายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ  เพื่อสนับสนุนโรงเรียนแห่งนี้ให้ดำเนินต่อไปได้


การแสดงโดยนักเรียนผู้สูงอายุจากโรงเรียนวัยเก๋างิ้วราย
ภาพโดย นิธิพัฒน์ ประสาทกุล (ผู้เขียน)

ในช่วงพักกลางวัน ในวันดังกล่าวมีการศึกษาดูงานจากอบต.พื้นที่ใกล้เคียง โรงเรียนวัยเก๋างิ้วรายเลยจัดการแสดงจากนักเรียนวัยเก๋า สำหรับการแสดงจะเป็นการแสดงจากผู้สูงอายุทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นบรรยากาศที่สนุกสนานสำหรับนักแสดงและผู้เข้าร่วมทุกท่าน และยังคงมั่นใจว่าผู้สูงอายุกำลังสนุกกับสิ่งที่ทำอยู่

หากมาดูที่จุดประสงค์หลักของการจัดตั้งโรงเรียนดังกล่าวขึ้นมา คงจะเป็นการให้ผู้สูงอายุนั้นมีสังคมที่สามารถพบปะกันได้บ่อยครั้งมากขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุนั้นยังมีการปฏิสัมพันธ์ร่วมกับผู้สูงอายุท่านอื่น ๆ ผู้สูงอายุบางคนที่ไม่ได้อยู่กับครอบครัวหรือห่างลูกห่างหลาน ก็ยังสามารถมีเพื่อนหรือคนใกล้ตัวในพื้นที่ที่สามารถพูดคุยได้ แสดงให้เห็นถึงการสูงวัยในถิ่นที่อยู่ หรือ Ageing in Place ได้อย่างชัดเจน หากไม่มีโรงเรียนแห่งนี้ขึ้นมา ผู้สูงอายุบางคนในพื้นที่ก็คงอาศัยอยู่เพียงแต่ในบ้านของตนเอง

โรงเรียนวัยเก๋างิ้วราย นับว่าเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจอย่างยิ่งให้แก่พื้นที่อื่น ๆ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีผู้สูงอายุอยู่เป็นสัดส่วนที่สูง ระบบการติดตามประชากรในพื้นที่ทำให้เกิดการปรับตัวขึ้น และได้ก่อตั้งโรงเรียนดังกล่าวขึ้นมา ให้เป็น Safe Zone หรือ พื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุให้มามีกิจกรรมร่วมกัน ดีกว่าให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตในบ้านอย่างลำพัง เพียงแค่ได้ซึมซับบรรยากาศเพียงครึ่งวัน ก็สามารถบอกได้อย่างเต็มปากว่าผู้สูงอายุนั้นมีความสุขกับสิ่งเหล่านี้อย่างเห็นได้ชัด หากพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การจัดทำโรงเรียนหรือพื้นที่แห่งหนึ่งเพื่อให้ผู้สูงอายุนั้นมีกิจกรรม พบปะพูดคุยกันและกัน ถือว่าเป็นหนึ่งในแนวทางการปรับตัวที่มีประสิทธิภาพ หากดูตัวอย่างจากโรงเรียนวัยเก๋างิ้วราย ในอนาคตอันใกล้นี้ ผมคิดว่าคงมีโรงเรียนผู้สูงอายุทเพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับสังคมสูงวัยในไม่ช้า แต่การจัดตั้งโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพได้อย่างโรงเรียนวัยเก๋างิ้วรายนั้น อาจจะต้องอาศัยความร่วมมือของคนในพื้นที่ โดยโรงเรียนดังกล่าวนั้นได้ถูกผลักดันให้สำเร็จจากการดำเนินงานของ อบต.งิ้วราย ที่ให้ความสำคัญและเห็นถึงปัญหาของผู้สูงอายุในพื้นที่ จึงเป็นที่มาของโรงเรียนผู้สูงอายุแห่งนี้


อ้างอิง

  1. คู่มือการจัดทำระบบเฝ้าระวังผู้สูงอายุอย่างรอบด้านในพื้นที่. (2567). โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุไทยอย่างรอบด้านโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันวิจัยประชากรและสังคม.

 

 

 

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th