The Prachakorn

ฝุ่นละอองในกรุงเทพมหานคร: อันตรายที่ต้องกังวลหรือปัญหาที่ต้องแก้ไข


ธีระพงศ์ สันติภพ

07 พฤษภาคม 2561
267



ในช่วงสองสัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาอากาศในกรุงเทพมหานครมีฝุ่นละอองละเอียดขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน1 เพิ่มจำนวนสูงขึ้น

ฝุ่นละอองเป็นอนุภาคของแข็งและหยดละอองของเหลวที่แขวนลอยกระจายในอากาศ บางชนิดมีขนาดใหญ่และสีดำ จนมองเห็นเป็นเขม่าและควัน แต่บางชนิดมีขนาดเล็กมากจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น

โดยทั่วไปแล้วฝุ่นละอองที่แขวนลอยในบรรยากาศ มีขนาดตั้งแต่ 100 ไมครอนลงมา มีทั้งฝุ่นละอองขนาดใหญ่หรือฝุ่นละอองรวม2 ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน และฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน กรมควบคุมมลพิษได้ให้คำแนะนำวิธีการสังเกตฝุ่นละอองเอาไว้ว่า หากเป็นหมอกจะมีสีขาว แต่หากมีฝุ่นละอองปนมาด้วยจะมีสีขาวปนน้ำตาล

แล้วเจ้าฝุ่นละอองละเอียดขนาดเล็กมากๆ มันมีนัยสำคัญอย่างไร

ฝุ่นละอองก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของมนุษย์ ก่อผลกระทบต่อสัตว์และพืช เกิดความเสียหายต่ออาคารบ้านเรือน ทำให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ บดบังทัศนวิสัย โดยเฉพาะประชาชนในเขตเมืองเกิดอุปสรรคต่อการคมนาคม

สภาพอากาศในกรุงเทพมหานคร  7  กุมภาพันธ์  2561

ภาพจาก https://www.thairath.co.th/content/1197653

ที่สำคัญ ถ้าฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจมันจะเกาะตัวในส่วนต่างๆ ของระบบทางเดินหายใจ ก่อให้เกิดการระคายเคืองและทำลายเนื้อเยื่อของอวัยวะนั้นๆ เช่น เนื้อเยื่อปอดซึ่งหากได้รับในปริมาณมากหรือเป็นเวลานาน จะสะสมในเนื้อเยื่อปอดเกิดเป็นแผลขึ้นได้ และอาจทำให้การทำงานของปอดเสื่อมประสิทธิภาพลง ทำให้หลอดลมอักเสบ เกิดหอบหืด ถุงลมโป่งพอง และโอกาสเกิดโรคระบบทางเดินหายใจเนื่องจากติดเชื้อเพิ่มขึ้น

เพราะอันตรายขนาดนี้ จึงมีการกำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองในบรรยากาศ ในประเทศสหรัฐอเมริกา หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานคือ United State Environmental Protection Agency (USEPA) สำ.หรับประเทศไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองในบรรยากาศเอาไว้คือ ฝุ่นละอองรวม ต้องไม่เกิน 330 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน ต้องไม่เกิน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ต้องไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

แล้วบ้านเรามีปริมาณฝุ่นละอองละเอียดขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนมากแค่ไหนกัน

เห็นตัวเลขจากกรมควบคุมมลพิษในตารางแล้วชวนตกใจไม่น้อย เพราะช่วงระหว่างวันที่ 5-7 กุมภาพันธ์ และ วันที่ 13-15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมานั้น ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน สูงกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ (50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ในเกือบทุกพื้นที่ ยกเว้นบริเวณริมถนนพญาไท เขตราชเทวี ที่มีปริมาณฝุ่นละอองไม่ถึง 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ก็มีเฉพาะวันที่ 13 กุมภาพันธ์เท่านั้นที่ดูเหมือนจะปลอดภัย

ที่มา: กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

แต่ก็น่าดีใจที่พอหลังจากปลายเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมาสถานการณ์ฝุ่นละอองในกรุงเทพมหานครได้เริ่มปรับเข้าสู่ภาวะปกติ เนื่องจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงมีการถ่ายเทดีขึ้น จนกระทั่งต้นเดือนมีนาคม ผลการตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอนในพื้นที่กรุงเทพมหานครพบว่าเหลือเพียงเท่ากับ20-27 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทุกสถานี

ความจริงแล้วนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการเพิ่มขึ้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กประเภทนี้ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร แต่เคยเกิดติดต่อกันมาแล้วในปี 2554-2559 เพียงแต่เป็นฝุ่นละอองในช่วงสั้นๆ แค่วันเดียวเท่านั้น ปกติแล้วฝุ่นละอองมักเกิดในช่วงของการเปลี่ยนฤดูกาลโดยเฉพาะปลายปีและต้นปี แต่การเพิ่มขึ้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กครั้งนี้เกิดขึ้นเร็ว และนานหลายวันกว่าปีที่ผ่านๆ มา เนื่องจากสภาพอากาศปิด มีหมอก ทำ.ให้แสงอาทิตย์ส่องไม่ถึงพื้นผิวดิน ฝุ่นละอองจึงสะสมเพราะไม่มีแรงผลักให้ลอยตัว

ช่วงที่มีปัญหาฝุ่นละออง ใครที่มีปัญหาโรคระบบทางเดินหายใจ หรือโรคหัวใจและหลอดเลือด กรมควบคุมมลพิษแนะนำ.ให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง และหากมีอาการผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์ ส่วนเราๆ ทั่วไปที่หลีกเลี่ยงการสัญจรไปมาไม่ได้ หรือต้องใช้รถประจำ.ทาง ก็ควรป้องกันตนเองโดยการใช้หน้ากากอนามัยปิดจมูกปาก เพื่อป้องกันฝุ่นละอองในบรรยากาศ

ฝุ่นละอองเป็นปัญหามลพิษทางอากาศอับดับหนึ่งของกรุงเทพมหานคร สาเหตุสำคัญมาจากการใช้รถใช้ถนนจำนวนมากในกรุงเทพมหานคร มากถึงวันละ 8 ล้านคัน ตามที่สำ.นักการโยธา กรุงเทพมหานครประมาณไว้ นอกจากรถยนต์จำนวนมหาศาลแล้ว กรุงเทพมหานครยังมีโรงงานและการผลิตทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรมอยู่รายรอบ

ณ ตอนนี้เราอาจนิ่งนอนใจ เพราะสถานการณ์ฝุ่นละอองดีขึ้นแล้ว แต่เมื่อมีการเปลี่ยนฤดูกาลโดยเฉพาะปลายปีและต้นปี เราก็คงต้องรณรงค์ให้ประชาชนเตรียมพร้อมป้องกันตนเองจากภยันตรายของฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้กันอีก เป็นเช่นนี้เรื่อยไป ตราบใดที่ต้นเหตุของปัญหามลพิษฝุ่นละอองนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข

นี่ต่างหากที่เป็นเรื่องใหญ่ให้ยังต้องขบคิดกันต่อ


1หรือเรียกว่า PM 2.5 โดย PM ย่อมาจาก Particulate Measure และ 10,000 ไมครอน เท่ากับ 1 เซนติเมตร

2Total Suspended Particulate (TSP)


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th