The Prachakorn

งาน - เงิน - ความสุข - ครอบครัว (และลูก)


เฉลิมพล แจ่มจันทร์

07 พฤษภาคม 2561
546



ในยุคที่ประเทศไทยหันกลับมาส่งเสริมการมีบุตร ผ่านโครงการสาวไทยแก้มแดงหรือมีลูกเพื่อชาติ ผู้เขียนมีคำถามในใจเล็กๆ ที่อยากรู้ว่า ในช่วงวัยที่เหมาะกับการมีลูก (และต้องเลี้ยงลูกด้วย) ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับการเริ่มก่อร่างสร้างตัว สร้างความก้าวหน้าในอาชีพการงานของแต่ละคนนั้น คนมีลูกกับคนไม่มีลูก ชีวิตในภาพรวมนั้น มีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร ด้วยทรัพยากรที่ทุกคนมีเท่ากันและมีอย่างจำกัด โดยเฉพาะ “เวลา” การมีครอบครัว มีลูกน้อยที่ต้องเลี้ยงดู ไม่มากก็น้อย น่าจะมีผลกระทบต่อเงื่อนไขในชีวิตด้านต่างๆ โดยเฉพาะชีวิตการทำงาน

เพื่อให้ได้คำตอบ (เบื้องต้น) ผู้เขียนได้นำ.ข้อมูลจากการสำรวจความสุขคนทำงานในระดับประเทศโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยเครื่องมือ HAPPINOMETER (ในปี 2560 ไตรมาสที่ 1) มาลองวิเคราะห์ดูว่า ระดับความสุขของคนทำงาน มีความแตกต่างตามสถานภาพการมีคู่และการมีลูกหรือไม่อย่างไร ในที่นี้ ความสุขแยกพิจารณาได้ใน 9 มิติ และในภาพรวม ตามแนวคิด Happy 8+ ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ประกอบด้วย สุขภาพกายดี ผ่อนคลายดี จิตวิญญาณดี น้ำใจดี ครอบครัวดี สังคมดี ใฝ่รู้ดี การเงินดี และการงานดี เพื่อควบคุมปัจจัยเรื่องช่วงวัยและระดับการศึกษาที่อาจจะมีผลต่อระดับความสุขของคนทำงาน จึงดึงข้อมูลมาเฉพาะคนในช่วงอายุ 35-44 ปี (ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มที่ผ่านการตัดสินใจมีลูกแล้วและกำลังอยู่ในช่วงของการรับผิดชอบเลี้ยงดูลูกน้อย) และมีระดับการศึกษาตั้งแต่ระดับอุดมศึกษาขึ้นไป ซึ่งได้กลุ่มตัวอย่างประมาณ 2,800 คน

เมื่อจำแนกคนทำงานเป็น 4 กลุ่ม คือ โสด (ไม่มีคู่) มีคู่แต่ไม่มีลูก มีลูก 1 คน และมีลูก 2 คนขึ้นไป แล้วทดสอบความแตกต่างของคะแนนความสุขในแต่ละมิติ แยกตามเพศ พบว่า ในกลุ่มผู้ชาย ความสุขที่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ มี 2 มิติ คือ ครอบครัวดี และการเงินดี ขณะที่ในกลุ่มผู้หญิง มีความแตกต่างกันใน 4 มิติ คือ ครอบครัวดี การเงินดี ผ่อนคลายดี และสังคมดี จากผลการวิเคราะห์ (ดูรูป) จะเห็นว่า การมีคู่และการมีลูกไม่มีผลต่อความสุขในภาพรวมของคนทำงานในวัยนี้ กล่าวคือ จะมีหรือไม่มีคู่/ลูก ความสุขรวมของคนก็ไม่ต่างกัน ซึ่งน่าจะอธิบายได้ว่าเป็นเพราะการจะมีคู่หรือมีลูกนั้น เป็นเรื่องของ “ทางเลือก” หรือ choices ที่แต่ละคนเลือกเอง คนมีคู่หรือมีลูก ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีความสุขมากกว่าหรือความสุขน้อยกว่าคนที่ไม่มีคู่หรือไม่มีลูก 

คะแนนความสุขที่แตกต่างกันตามการมีคู่/มีลูก

หมายเหตุ 1) คนทำ.งานอายุ 35-44 ปี การศึกษาระดับอุดมศึกษาขึ้นไปจำนวน 2,786 คน; 2) นำ.เสนอเฉพาะมิติความสุขที่มีค่าคะแนนต่างกันแตกต่างกันตามการมีคู่/มีลูกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

ที่มา: ข้อมูลจากการสำรวจความสุขคนทำ.งาน (ในองค์กร) ระดับประเทศ พ.ศ. 2560 (ไตรมาส 1) โดย ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต และคณะ (2560) 

อย่างไรก็ตาม ความน่าสนใจอยู่ที่ความแตกต่างของความสุขที่พบในบางมิติ โดยในทั้งสองเพศ ความสุขในมิติครอบครัว พบว่า สูงขึ้นตามการมีคู่และการมีลูก ขณะที่ความสุขในมิติการเงิน กลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม กล่าวคือ คนโสดมีความสุขด้านครอบครัวต่ำสุดแต่มีความสุขด้านการเงินสูงสุด (*ผู้ชายโสด มีความสุขต่ำ.กว่าคนมีคู่แต่ไม่มีลูกเพียงเล็กน้อย) ขณะที่คนที่มีลูก 2 คนขึ้นไปแม้จะมีความสุขด้านครอบครัวสูงสุดแต่กลับมีความสุขในด้านการเงินต่ำสุด ซึ่งทำให้เห็นว่า “ผลจากการเลือกของบุคคล (ที่จะมีคู่หรือมีลูก)” แม้ไม่ส่งผลกระทบต่อความสุขในภาพรวม แต่ก็มีผลต่อส่วนประกอบหรือ combinations ความสุขที่ทำให้คนมีคู่หรือมีลูก แตกต่างจากคนไม่มีคู่หรือไม่มีลูก เมื่อเทียบระหว่างเพศ ก็จะเห็นว่า วงของผลกระทบนั้นกว้างกว่าในกลุ่มผู้หญิง (น่าจะเพราะบทบาทภาระการเลี้ยงดูลูกในบริบทของไทย ยังอยู่ที่ผู้หญิงมากกว่า) โดยมีผลต่อความสุขในด้านการผ่อนคลายและด้านสังคมด้วย

“ผ่อนคลายดี” สูงที่สุดในหญิงโสด แต่ต่ำที่สุดในหญิงมีคู่แต่ไม่มีลูก ขณะที่ “สังคมดี” แปรผันตามการมีคู่และจำนวนลูกที่ผู้หญิงมี ข้อค้นพบนี้ ทำให้ผู้เขียนพอจะให้คำแนะนำกับผู้อ่านที่เป็นหญิงในวัยนี้ได้ว่า

“สำหรับคุณที่มีคู่แล้ว การมีลูกอย่างน้อย 1 คน น่าจะเป็นความคิดที่ดี คุณจะผ่อนคลายเพิ่มขึ้นและมีสังคมดีขึ้น และถ้าคิดจะมี 2 คน การผ่อนคลายของคุณอาจจะลดลงเล็กน้อยแต่ในด้านสังคมคุณก็ยังจะยิ่งดีขึ้น สำหรับคุณผู้หญิงที่ยังโสด การคิดจะมีคู่อาจจะเป็นการตัดสินใจที่หนักหน่อย เพราะคุณอาจจะต้องเครียดเพิ่มขึ้น (ผ่อนคลายน้อยลง) แต่ความสุขสังคมดีของคุณจะดีขึ้น (นิดนึง) นะครับ....”

 

 

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th